Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
[อิสลาม] - นบี และ รอซู้ล ...  

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่านครับ


ในศาสนาอิสลามนั้น  มีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องคำว่า ศาสดา ที่สำคัญอยู่ 2 คำ คือ  คำว่า  นบี และ รอซู้ล

ตามความหมาย นบี นั้น มาจากคำว่า อัน -นะ-บะห์ หมายถึง การประกาศข่าว
ส่วนคำว่า รอซู้ล หมายถึง ผู้ถูกส่งไป หรือ คนกลาง

ตามความหมายที่บรรดานักวิชาการได้สรุปไว้ก็คือ
นบี และ รอซู้นนั้น มีความเหมือนกัน ในหลายๆ  ด้าน  แตกต่างกันเพียง

1.นบีนั้น ไม่ได้มีหน้าที่จำเป็น  ที่จะต้องเผยแพร่หลักธรรมกับประชาชน  ...แต่ รอซู้ลนั้น มีหน้าที่ต้องเผยแพร่
2.นบีนั้น จะปฏิบัติตามข้อบัญญัติที่ รอซู้ลคนก่อนได้รับมา ... แต่ รอซู้ลนั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามรอซู้ลคนก่อนก็ได้   อาจ ยกเลิก หรือ เพิ่มเติมข้อบัญญัติใดก็ได้ ตามแต่ที่จะได้รับคำบัญชามาจากอัลเลาะห์ ( ซ.บ.)

ตัวอย่างของ "นบี" ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็น "รอซู้ล" เช่น "นบียูซุฟ(โยเซฟ)" "นบีอิสมาอีล(อิชมาแอล)"
ตัวอย่างของนบีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นร้อซูลด้วย  เช่น "นบีมูซา"(โมเสส) "นบีมุฮัมมัด"
                       
ทีนี้ การระบุว่า "ท่านไหนเป็นนบี หรือ ร้อซูล" จะพิจารณาจากสำนวนในกุรอาน  เช่น

"และยังประชาชาติอ๊าดนั้น เราได้ส่ง"ฮูด(ศาสนทูตท่านหนึ่ง)" ซึ่งเป็นพี่น้องของพวกเขาไปเขากล่าวว่า "โอ้ประชาชาติของฉัน! จงเคารพสักการะอัลลอฮ์เถิด"(กุรอ่าน7:65)

"และยังประชาชาติซะมูตนั้น เราได้ส่ง"ซอและฮ์(ศาสนทูตท่านหนึ่ง)" ซึ่งเป็นพี่น้องของพวกเขาไป เขากล่าวว่า"โอ้ประชาชาติของฉัน! จงเคารพสักการะอัลลอฮ์เถิด"(กุรอ่าน7:73)

สังเกตคำว่า "เราได้ส่ง" หมายถึง อัลลอฮ์ได้ส่ง  ในภาษาอาหรับคือ "อัรซัลนา" ผู้ถูกส่ง เรียกว่า "รอซู้ล" ครับ




-----------------------

ทีนี้   มีพวกทำตัวหัวหมอ "บางคน"  ที่พยายามปฏิเสธการยอมรับหะดิษ  โดยกล่าวไว้ว่า...

รอซูลแปลว่าผู้ส่งสาร นบีแปลว่าศาสดา  มูฮัมมัดในขณะที่กำลังกล่าว วะฮีย์ ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบนั้นเป็นในฐานะรอซูล เพราะกำลังส่งสารของพระเจ้า .... แต่ในเวลาอื่นเป็นในฐานะนบี นั่นคือเป็นศาสดา ซึ่งอัลลอฮไม่ได้รักษาคำพูดของนบี แต่อัลลอฮรักษาคำกล่าวของรอซูล นั่นคือกุรอานเท่านั้น ถ้ารอซูลกล่าวอย่างอื่นนอกจากกุรอาน อัลลอฮจะตัดเส้นชีพเขา .......... หลายที่เราจะเจอว่า “จงเชื่อฟังอัลลอฮ์และรอซูล” ในกุรอาน ผมถามว่าเคยเจอคำว่า “จงเชื่อฟังอัลลอฮ์และนบี” สักครั้งในกุรอานหรือไม่ โดยพิจารณาจากตัวบทคำในภาษาอาหรับ (ไม่มี)....หน้าที่ของรอซูลคืออะไร ในกุรอานกล่าวไว้ในหลายที่ว่าหน้าที่ของรอซูลคือเพื่อส่งสาร(กุรอาน)เท่านั้น



ในเมื่อ "บุคคลนั้น" ยืนกรานวาจะใช้หลักฐานจากกุรอานอย่างเดียว  เราก็จะใช้ด้วย   ...ดังนั้น  เราจึงขออธิบายดังนี้


ประการที่ 1 - กุรอานนั้นเรียกท่านศาสดา มูฮัมมัดว่า รอซู้ล และ นบี  ในเวลาเดียวกัน

"มุฮัมมัดมิได้เป็นบิดาผู้ใดในหมู่บุรุษของพวกเจ้า แต่เป็นร่อซูลของอัลลอฮฺและคนสุดท้ายแห่งบรรดานะบี"( ภาษาอาหรับอ่านว่า...รอซู้ลั้ลลอฮฺ ฮีวาคอตะมันนะบียีน )(กุรอาน 33:40)

"โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าอย่าได้ยกเสียงของพวกเจ้าเหนือเสียงของ[/u]อัลนะบี[/u] ....  แท้จริงบรรดาผู้ที่ลดเสียงของพวกเขา ณ ที่ร่อซูลุลลอฮฺนั้น ...."(กุรอาน 49:2-3)



ประการที่ 2 - กุรอาน บอกหน้าที่ของท่านศาสดา ในตำแหน่ง นบี ไว้ว่า

"โอ้ นะบีเอ๋ย! แท้จริง เราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นพยาน  และผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน" ( กุรอานใช้คำว่า  ยาฮฺไอยูฮัน นะบี... )(กุรอาน 33:45)

...ในกรณีนี้เห็นได้ชัดว่า  นบี มีหน้าที่ตักเตือนด้วย ...ดังนั้น ด้วยตรรกะนี้ เราควรเชื่อฟัง นบี ด้วยหรือไม่ ??? ลองคิดดู



ประการที่ 3 - กุรอาน บัญญัติหลักการทางศาสนา (ฟิกหฺ) บางส่วน  โดยเรียกท่านศาสดา ในตำแหน่ง นบี ด้วยในขณะที่ประทานข้อบัญญัตินั้น ๆ ลงมา

ดู กุรอาน 33:50 , 33.59 ,65:1 ( ข้อความในโองการทั้งหมดนี้  ขึ้นต้นด้วยคำว่า  ยาฮฺไอยูฮัน นะบี...ทั้งสิ้น )



ประการที่ 4 - กุรอาน กล่าวว่า บรรดารอซู้ลนั้น ถูกส่งมาพร้อมกับบางสิ่งนอกเหนือไปจากกุรอาน

"ดังที่เราได้ส่งร่อ ซูลผู้หนึ่ง  จากพวกเจ้าเองมาในหมู่พวกเจ้า ซึ่งเขาจะอ่านบรรดาโองการของเราให้พวกเจ้าฟัง และจะทำให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ และจะสอนคัมภีร์ และความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติให้แก่พวกเจ้า และจะสอนพวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าไม่เคยรู้มาก่อน" (กุรอาน 2:151)

"โดยที่พระองค์ได้ทรง ส่งร่อซูลคนหนึ่งจากพวกเขาเองมาในหมู่พวกเขาโดยที่เขาจะได้อ่านบรรดาโองการ ของพระองค์ให้พวกเขาฟัง และจะทำให้พวกเขาสะอาดและจะสอนคัมภีร์ และความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในบัญญัติศาสนาแก่พวกเขาด้วย และแท้จริงเมื่อก่อนนั้นพวกเขาเคยอยู่ในความหลงผิดอันชัดแจ้ง" (กุรอาน 3:164)


คำว่า คัมภีร์ ในภาษาใช้คำว่า กิตาบ  แน่นอน มันก็คือ กุรอาน
ส่วนคำว่า ข้อปฏิบัติในบัญญัติศาสนา ในภาษาอาหรับของโองการนี้ ใช้คำว่า "ฮิกมะตา" หรือ ฮิกมะห์  ซึ่งหมายถึง วิทยปัญญา หรือ กฎ ระเบียบ

โองการนี้ จึงชัดเจนว่า  รอซู้ลนั้น ไม่ได้เป็นแค่ "คนส่งสาร" เท่านั้น  แต่เป็นแบบอย่าง และ แหล่งที่มาของความรู้ทางศาสนาด้วย   หรือ อีกโองการ

"โดยแน่นอน ในร่อซูลของอัลลอฮฺมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว.."(กุรอาน 33:21)

จึงเห็นได้ว่า   รอซู้ลนั้นไม่ใช่แค่คนบอกข่าว  แต่เป็น  ผู้นำสาส์น , เป็นผู้ตักเตือน , เป็นแหล่งความรู้  และ เป็น แบบฉบับ  ในการปฏิบัติตนของบรรดามุสลิมทั้งหลาย



ประการที่ 5 - กุรอานได้กล่าวว่า อัลเลาะห์  (ซบ.) ได้ทำสัญญากับ "นบี"


"และจงรำลึกถึงขณะที่เราได้เอาคำมั่นสัญญาของพวกเขาจากบรรดานะบี..." (กุรอาน 33:7)

ถ้าหากว่า อัลเลาะห์  (ซบ.) ไม่ได้รักษา คำพูด ของ "นบี" แล้ว ... เหตุใดพระองค์ต้องสัญญากับบรรดา "นบี" ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า  เชื่อถือในคำพูดได้หรือไม่ ???


ประการที่ 6 - กุรอานได้กล่าวว่า "นบี" นั้น คือ ผู้ที่ใกล้ชิดกับบรรดาผู้ศรัทธา

"นะบีนั้นเป็นผู้ใกล้ชิดกับบรรดาผู้ศรัทธายิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง.." (กุรอาน 33:6)

คำว่า ใกล้ชิด  ในทีนี้ ภาษาอาหรับใช้คำว่า    "เอาว์ลา" และคำว่าผู้ศรัทธา ใช้คำว่า "มุมีนีน" ... 2 คำนี้ สำคัญอย่างไร

คำว่า "เอาว์ลา" นั้น มีความหมายถึงการสนิทสนมในแบบที่   "เป็นตัวตายตัวแทน" หรือ  สืบทอด รับมอบอำนาจ กันได้

และคำว่า "มุมีนีน" นั้น ในกุรอาน  จะใช้คำนี้ แสดงถึง บรรดาผู้ที่ศรัทธา ที่ยอมจำนนต่ออัลเลาะห์ อย่างบริสุทธิ์ใจ  เป็นบรรดาผู้ที่อัลเลาะห์ ทรงรัก ( 5:54)

เป็นไปได้หรือ ... ที่  กุรอานจะกล่าวว่า  นบี  ( ที่ถูกโจมตีว่า  อัลเลาะห์ไม่ได้รักษาคำพูดตอลดเวลา ) นั้นใกล้ชิดและสนิทสนมอย่างยิ่ง กับ บรรดาผู้ที่อัลเลาะห์ทรงรัก  ????



ประการที่ 7 - กุรอานสั่งให้ ปฏิบัติตาม นบี  เช่น

"แท้ จริงผู้คนที่สมควรยิ่งต่ออิบรอฮีมนั้น ย่อมได้แก่บรรดาผู้ปฏิบัติตามเขา และปฏิบัติตามนะบีนี้  และบรรดาผู้ที่ศรัทธาด้วย และอัลลอฮ์นั้นทรงคุ้มครองผู้ศรัทธาทั้งหลาย" (กุรอาน 3:68 )


ในกุรอาน ใช้คำว่า "อัลนะบี" .... ซึ่งหมายถึง ท่าน ศาสดามูฮัมมัด
หากนบี ไม่ได้รับการคุ้มครองจากอัลเลาะห์ ... กุรอานสั่งให้ปฏิบัติตามทำไม ???


ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า  ไม่ว่า กุรอานจะเรียก ท่านศาสดามูฮัมมัดว่า นบี หรือ รอซู้ล ก็ตาม  เราไม่อาจจำแนก หรือ นึกคิดเอาเองว่า  ข้อบัญญัตินี้ ใช้ในขณะเป็นนบี ข้อบัญญัตินี้ ใช้ในขณะเป็นรอซู้ล


คำว่า รอซู้ลนั้น ปรากฎในกุรอาน 241 ครั้ง  ซึ่งมีจำนวนเท่ากับคำว่า อันนาส ที่แปลว่า มนุษย์  .... ในขณะที่คำว่า กุรอาน มีจำนวนเท่ากับ 70 ครั้ง เท่ากันกับคำว่า  วะห์ยู ที่แปลว่าการวิวรณ์

ข้อสังเกตก็คือ  ทั้งนบี และ รอซู้ล ต่างได้รับการวะห์ยู เหมือนกัน ... แต่ รอซู้ล คือ บุคคลที่มีหน้าที่ ต่อ มนุษย์โดยตรง ....

อัลเลาะห์ ( ซบ.) ต้องการบอกอะไร ??


ลองพิจารณาดูให้ดี....




นอกจากนี้ "บุคคลหัวหมอ" คนเดียวกันนี้ ได้ยกกุรอานมาอ้างว่า

 หน้าที่ของรอซูลคืออะไร ในกุรอานกล่าวไว้ในหลายที่ว่าหน้าที่ของรอซูลคือเพื่อส่งสาร(กุรอาน)เท่านั้น
5:92,16:81-82,29:18,64:12,24:54.(คุณจะปฏิเสธอายะห์เหล่านี้แล้วบอกว่า ไม่ใช่ มีมากกว่านั้นหรือ)



เป็นที่น่าแปลก ที่เขายกโองการเหล่านี้มา  แต่ไม่ยอมยก กุรอาน 3:164 ...ทั้งๆ  ที่ บทนี้ก็กล่าวถึงหน้าที่ของ รอซู้ล ในแง่มุมอื่นด้วย ???

เหตุที่บุคคลนี้ยกมา 5 โองการ ข้างต้นนั้น เพราะว่า  โองการเหล่านั้น  มีประโยคที่ว่า

"หน้าที่ของร่อซูลของเรานั้น คือ การประกาศอันชัดเจนเท่านั้น"


ด้วยความตื่นเต้น จึงรีบยกมาอ้าง  โดยไม่ทันสังเกต  (.. หรือ สังเกตแล้ว แต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ? ) ว่า  ทั้ง 5 โองการนั้น  มีบริบท ของโองการเกี่ยวเนี่องกับประโยคนี้ด้วย


"... แต่ถ้าพวกเจ้าผินหลัง ..."

ตัวอย่างเช่น
(กุรอาน 5:92)"และพวกเจ้าจงเชื่อฟัง อัลลอฮ์ และจงเชื่อฟังร่อซูลเถิด และพึงระมัดระวังไว้ด้วย แต่ถ้าพวกเจ้าผินหลังได้ ก็พึงรู้เถิดว่าที่จริงหน้าที่ของร่อซูลของเรานั้น คือ การประกาศอันชัดเจนเท่านั้น"

(กุรอาน 16:81-82)"...พระองค์ทรงให้ความโปรดปรานของพระองค์อย่างครบถ้วนแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้นอบน้อม  ดังนั้นหากพวกเขาผินหลังกลับ แท้จริงหน้าที่ของเจ้าคือการแจ้งข่าวอย่างชัดแจ้งเท่านั้น"

(กุรอาน 29:18)"และหากพวกท่านปฏิเสธ แน่นอนประชาชาติทั้งหลายก่อนพวกท่านก็ได้ปฏิเสธมาแล้ว  หน้าที่ของร่อซูล นั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการเผยแพร่อันชัดแจ้ง"

(กุรอาน 64:12)"และจงเชื่อฟังปฏิบัติ ตามอัลลอฮฺและจงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลร่อซูล หากพวกเจ้าผินหลังกลับ ดังนั้นหน้าที่ของร่อซูลของเราก็คือการเผยแผ่อันชัดแจ้ง"

(กุรอาน 24:54)"จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด  พวกเจ้าจงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลร่อซูล  หากพวกเขาผินหลังให้ แท้จริงหน้าที่ของเขา (ร่อซูล) คือสิ่งที่ได้ถูกมอบหมาย"


คำว่า ผินหลังให้ ในทีนี้  อ่านดูก็จะรู้ว่า เป็นสำนวนที่ หมายถึง  การถูกปฏิเสธ ...
ทั้ง 5 โองการที่ยกมานั้น  มีความหมายง่ายๆ  ก็คือ  ถ้าท่านรอซู้ลได้เผยแพร่สิ่งใดไปแล้ว  และพวกเขายังปฏิเสธ ...ก็ไม่ต้องทำอะไร  เพราะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาคือ การเผยแพร่

... หรือ ก็คือ  รอซู้ลไม่ได้มีหน้าที่ไป  บังคับ ขู่เข็ญ หรือ กระทำการอื่นใด นอกไปจากการเผยแพร่ เท่านั้น..... หากว่า ได้เผยแพร่ไปแล้ว แต่ถูกปฏิเสธกลับมา

เห็นได้ชัดว่า โองการข้างต้น ชี้ให้เห้นหน้าที่ประการหนึ่งของรอซู้ลที่ว่า  ตัวรอซู้ลนั้น ไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะไปทำอะไรอย่างอื่นเกินกว่านี้    หากว่า   ได้ทำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายไปแล้ว  โดยมีเงื่อนไขว่า  ถูกปฏิเสธกลับมา ....

โองการทั้ง 5 โองการ จึงเป็นโองการที่กล่าวถึงภาระหน้าที่ของ รอซู้ล ในภาวะ ที่มีเงื่อนไขกำหนด  คือ การถูกปฏิเสธ


ดังนั้นการนำ 5 โองการนี้ไปอ้าง  โดยสรุปว่า  หน้าที่ของรอซู้ลคือ ส่งสาส์นเท่านั้น  จึงไม่ถูกต้อง   เพราะเป็นการสรุปและตีความกุรอาน โดยไม่คำนึงถึงบริบทในโองการนั้น ๆ


สำหรับ นบี และรอซู้ลนั้น ...อัลเลาะห์ได้ทรงคุ้มครองให้ทั้ง 2 ตำแหน่ง ปลอดภัยจากการแทรกแซง หรือ หระซิบกระซาบจากซัยตอน (มารร้าย)  เพราะทั้ง 2 ตำแหน่งนั้น ต่างได้รับ วะฮีย์ (การวิวรณ์) จากพระเจ้าเหมือนกัน


ด้วยจิตคารวะครับ


แก้ไขเมื่อ 27 ม.ค. 53 11:22:26

จากคุณ : kheedes
เขียนเมื่อ : 27 ม.ค. 53 11:20:18




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com