 |
ความคิดเห็นที่ 53 |
นอกจากป้อมที่ปากแม่น้ำอ้อมแล้ว เข้าใจว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะได้มีการสร้างป้อมไม้เอาไว้ที่บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบันนี้ด้วย เพราะปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ซัวซีย์ (Labbé de Choisy) ผู้ซึ่งเดินทางร่วมมากับคณะราชฑูตของพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ ที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ ว่า
.เช้าวันนี้เราผ่านป้อมที่ทำด้วยไม้ ๒ ป้อม ป้อมหนึ่ง ยิงปืนเป็นการคำนับ ๑๐ นัด อีกป้อมหนึ่ง ๘ นัด ที่นี่มีแต่ปืนครกเท่านั้น ดินปืนดีมากทีเดียว ป้อมทางขวามือเรียกป้อมแก้ว (Hale de Cristal) และป้อมทางซ้ายมือเรียกป้อมทับทิม (Hale de Rubis) ณ ที่นี้เจ้าเมืองบางกอกก็กล่าวคำอำลาและอ้างเหตุว่าได้ควบคุมเรือขบวนมาส่งจนสุดแดนที่อยู่ในความปกครอง ของเมืองบางกอกแล้ว แล้วก็ลาท่านราชฑูตกลับไป
(๑)
และใน ปี พ.ศ. ๒๒๓๐ เมื่อลาลูแบร์เป็นราชฑูตเข้ามากรุงศรีอยุธยาก็ได้กล่าวถึงป้อมไม้แห่งนี้ไว้ด้วย โดยเขียนเป็นแผนที่เอาไว้อย่างชัดเจน (โปรดดูแผนที่) ตามหลักฐานดังกล่าว จึงเข้าใจว่าป้อมแก้ว คงตั้งอยู่ ณ บริเวณตลาดแก้ว ส่วนป้อมทับทิมเข้าใจว่าคงตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าวัดเฉลิม พระเกียรติ ปัจจุบันนี้
พ.ศ. ๒๒๖๔ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้ทรงโปรดให้ขุดคลองลัดเกร็ด ที่อำเภอปากเกร็ด ดังปรากฏในหลักฐานในพงศาวดารว่า ในปีขาล จัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์พลนิกายคนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองนั้นคดอ้อมหนัก ขุดลัดตัดให้ตรงพระธนบุรีรับสั่งแล้วกราบบังคมลามาให้เกณฑ์พลนิกายในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก กว้าง ๖ วา ยาวทางไกลได้ ๓๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว
..(๒)
พ.ศ. ๒๓๐๗ ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ได้มีเหตุการณ์สงครามเกี่ยวข้องกับจังหวัดนนทบุรี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเพียงเล็กน้อยคือเมื่อมังมหานรธาเป็นแม่ทัพพม่ายกทัพเข้าตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรีได้แล้วยกติดตามตีพวกมอญมาจนถึงเมืองชุมพรได้โดยสะดวก จึงมีความกำเริบคิดยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในพงศาวดารว่า
.ครั้น ณ เดือน ๗ มังมหานรธาให้แยงตะยุกลับขึ้นไปแจ้งราชการ ณ กรุงอังวะ แล้วจึงปรึกษากันว่า เรามาตีเมืองทวายได้ บัดนี้หามีผู้ใดจะต้านต่อฝีมือทแกล้วทหารเราไม่ ควรเราจะยกเข้าไปชิงเอาซึ่งเศวตฉัตร ณ กรุงเทพมหานคร
..... แล้วมังมหานรธาก็เดินทัพมุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยาโดยลำดับ จนถึงเมืองนนทบุรี ซึ่งก็ถูกมังมหานรธาตีแตกเช่นเดียวกับเมืองรายทางอื่นๆ ดังพงศาวดารกล่าวว่า "
..ครั้ง ณ เดือน ๑๐ พม่ายกทัพเรือลงมาตีค่าย (บาง) บำรุแตก แล้วยกมาตีเมืองนนทบุรีได้.........(๓)
เมื่อพม่าตีได้เมืองนนทบุรีแล้ว ขณะนั้นมีเรือกำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขายที่ธนบุรีจึงรับอาสาช่วยรบพม่า พม่าเอาปืนใหญ่ตั้งบนป้อมวิชาเยนทร์ ยิงโต้ตอบกับกำปั่นในที่สุดกำปั่นถอนสมอหนีไปอยู่ที่เมืองนนท์ เมืองนนทบุรีจึงเป็นยุทธภูมิระหว่างเรือกำปั่นอังกฤษกับพม่า ดังปรากฏในพงศาวดารว่า
..ฝ่ายทัพพระยายมราช ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนนท์นั้น ก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย พม่าตั้ง (อยู่) เมืองธนบุรีแล้ว จึงแบ่งกันขึ้นมาตั้งค่าย ณ วัดเขมา ตำบลตลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่น จึงขอเรือกราบมาชักสลุบล่องลงไป ไม่ให้มีปากเสียงครั้นตรงค่ายพม่า ณ วัดเขมาแล้ว ก็จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง ฝ่ายพม่าต้องปืนล้มตายเจ็บลำบาก แตกวิ่งออกจากค่าย ครั้นน้ำขึ้นเพลาเช้า สลุบถอยมาหากำปั่น ซึ่งทอดอยู่ ณ ตลาดขวัญ ฝ่ายพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนทบุรี......."(๔)
-------------------------------------------- (๑) สันต์ ท. โกมลบุตร จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยาม, หน้า ๓๕๐ (๒) พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม, (สำนักพิมพ์ก้าวหน้า), หน้า ๕๘๐ (๓), (๔) พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม, (สำนักพิมพ์ก้าวหน้า), หน้า ๖๒๙-๖๓๒
แก้ไขเมื่อ 05 ก.พ. 53 15:22:47
จากคุณ |
:
ไข่หวานน้อย
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ก.พ. 53 15:21:51
|
|
|
|
 |