++++++นำบุญมาฝากค่ะ...ไปร่วมลงมือบูรณะโบสถ์ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร (วัดสระปทุม) รัชกาลที่ 4วัดปทุมวนารามราชวรวิ++++++++
|
|
บูรณะโบสถ์ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร (วัดสระปทุม) รัชกาลที่ 4วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร (วัดสระปทุม)
"วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร" (วัดสระปทุม) ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 1 เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2400
เดิมวัดปทุมวนารามแห่งนี้ มีภูมิสถาปัตยกรรมที่งดงาม เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางสระบัวขนาดใหญ่ คู่กับพระราชอุทยานสำหรับพักผ่อนพระราชอิริยบถนอกพระนคร ที่เรียกกันว่า "สระปทุม"
วัดนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงนิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจากวัดบวรนิเวศวิหารมาครองวัด
วัดปทุมวนาราม หันไปทางทิศตะวันออก แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นเขตพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ 46x127 เมตร ทำแนวกำแพงล้อมโดยตลอด ภายในประกอบด้วยพระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร และต้นพระศรีมหาโพธิ์ องค์ประกอบทั้งหมดถูกจัดให้วางเรียงอยู่บนแนวแกนเดียวกันทั้งหมดตามลำดับ
พระอุโบสถ เป็นอาคารขนาดย่อมกว่าพระวิหาร กว้าง ยาวประมาณ 10.20x17.20 เมตร แบ่งเป็น 5 ห้อง รูปทรงอาคารทำหลังคาลดหน้า-หลังอย่างละชั้น แต่มีตับหลังคาเพียง 2 ซ้อน หน้าบัน ใช้เครื่องไม้แกะสลักเป็นกระบวนลายกอบัวมีแนวคลื่นเหมือนน้ำ ตอนกลางสลักรูปพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานบนพานมีกรอบรูปดอกบัวล้อม ด้านนอกสลักลายกระหนกเปลวโดยรอบ เครื่องประกอบหน้าเป็นเครื่องลำยอง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พระอุโบสถและพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในเวียงจันทน์เมื่อใน อดีต คือ พระเสริม พระแสน พระสายน์ พระพุทธรูป 3 พี่น้องแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต หล่อขึ้นจากทองสีสุก (โลหะสัมริดที่มีทองคำเป็นส่วนผสมหลัก) เมื่อราวปี พ.ศ.2109 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง พร้อมด้วยพระธิดา 3 พระองค์ ทรงพระนามว่า พระธิดาเสริม พระธิดาสุก และพระธิดาสายน์ โปรดให้ช่างลาวล้านช้างหล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคลมีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ว่า พระเสริม พระแสน พระสายน์ เป็นพระพุทธรูปลาวล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ และทรงสันนิษฐานเรื่องการสร้างเป็น 2 ประการ คือ อาจจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากเมืองหนึ่งเมืองใดทางตะวันออกของอาณาจักร ล้านช้างและต่อมาตกอยู่ในเขตล้านช้าง หรืออาจสร้างขึ้นในเขตล้านช้างโดยฝีมือช่างลาวพุงขาวในยุคนั้น
พระพุทธรูป ในพระอุโบสถพระสายน์ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดปทุมวนาราม เป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน โดยพระสายน์นั้น มีความศักดิ์สิทธิ์ ตรงที่เมื่อใดเกิดฝนแล้ง จะอัญเชิญท่านออกมาบูชากลางแจ้งและบูชาขอฝนจากท่านได้ ทั้งนี้ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้สนับสนุนโครงการบูรณะพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
การบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดปทุมฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2553 และจะมีงานสมโภชฉลองในปี พ.ศ.2554
พระราชบัณฑิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม และเลขานุการวัด ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน โครงการพัฒนาวัด กล่าวเพิ่มเติมถึงประวัติวัด ว่า วัดปทุมวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2400 พร้อมกับการสร้างพระราชวังปทุมวัน หรือวังสระปทุม เพื่อให้เป็นรมณียสถานยามเสด็จประพาสนอกพระนคร และเพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
"พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระและปลูกบัวโดยรอบ เพื่อให้พระสงฆ์พายเรือมารับบิณฑบาตในเขตพระราชฐาน แต่ปัจจุบันสระดังกล่าวถูกถมให้เป็นที่ราบไปเสียส่วนใหญ่ ยังคงไว้เพียงพระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทั้งนี้ เรายังคงรักษารูปแบบเดิมให้มากที่สุด และยังเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาไหว้พระ สักการะพระบรมสารีริกธาตุได้ รวมถึงยังมีสถานที่สอนนั่งสมาธิอีกด้วย"
จากนั้น แขกรับเชิญที่มาร่วมงาน รวมทั้ง ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล และเบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา ผู้ซึ่งมีความผูกพันและความประทับใจในวัดนี้ ได้นำแขกที่มาร่วมงานถวายอาหารเพลสำรับโบราณจากกาพย์เห่เรือชมเครื่อง คาว-หวาน ในต้นรัตนโกสินทร์ ถวายแด่พระสงฆ์
กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้สนับสนุนโครงการบูรณะพระอุโบสถนาย เขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการบูรณะยังได้พาชมบริเวณอุโบสถซึ่งขณะอยู่ในระหว่าง การบูรณะ โดยได้อธิบายถึงวิธีการ ตำปูนและฟันช่อฟ้าใบระกา
ตำปูน คือ การใช้ปูนขาวหมัก ผสมกับเยื่อกระดาษสาอิ่มน้ำ นำมาบวกกับกาวหนังสัตว์ตำให้เข้ากันจนเหนียว
ฟันช่อฟ้าใบระกา คือ การแกะไม้สักอายุกว่า 50 ปีขึ้นไปมาแกะสลักลวดลายให้เหมือนของเดิมมากที่สุด
วิธีการเตรียมวัสดุก่อสร้างแบบโบราณ ซึ่งการบูรณะครั้งนี้ยังคงรักษาวิธีการแบบโบราณทุกขั้นตอน และภาพจิตรกรรมต่างๆ ในพระอุโบสถ
วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร นอกจากให้คุณค่าอย่างหามิได้ทางประวัติศาสตร์ อันบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอารยธรรมของสยามประเทศแล้ว ยังเป็นที่ซึ่งบ่มเพาะคนให้มีคุณค่าทางจิตใจและจริยธรรมอันดีงาม
ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมให้อยู่สืบทอดกันตลอดไป
จากคุณ |
:
กล้วยไม้สีเงิน
|
เขียนเมื่อ |
:
8 ก.พ. 53 17:59:08
|
|
|
|