 |
ความคิดเห็นที่ 14 |
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการคือ ย่อมหลับเป็นสุข, ย่อมตื่นเป็นสุข, ย่อมไม่ฝันลามก, ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย, ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย, เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ หรือศาตราย่อมไม่กล้ำกรายได้, จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว, สีหน้าย่อมผ่องใส, เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ, เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
สำหรับงานภาวนาในสติปัฏฐาน 4 คงหวังผลเด่นประการหนึ่งจากบรรดาอานิสงส์ทั้ง 11 ข้อข้างต้นนี้ นั่นคือ "จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว" ซึ่งสำหรับอานิสงส์ดังกล่าวย่อมรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เสียก่อน ใช้เหตุผลตามจริงที่ว่าเมื่อจิตสงบ อ่อนโยน มีความสุข ปราศจากการคุมแค้นอาฆาตใคร ไม่คิดจองเวรใคร ก็ย่อมปราศจากคลื่นความฟุ้งในหัว และพร้อมพอใจะเข้าสู่ความตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ต้องการได้ง่ายๆ แน่นอน
การเจริญเมตตาภาวนานั้นแบ่งออกได้ เป็นสองลักษณะใหญ่ๆตามวิธีดำเนินจิต แบบแรกคือใช้จิตที่ยังคิดนึกส่งความปรารถนาดี ปรารถนาให้บุคคล สัตว์ หรือสิ่งของอันเป็นเป้าหมายมีความสุข แบบที่สองคือกำหนดจิตอันตั้งมั่นแล้ว แผ่กระแสเมตตาออกตามรัศมีจิต เริ่มต้นอาจจะเพียงในระยะสั้นเพียงสองสามเมตร ต่อมาเมื่อล็อกไว้ได้นาน ก็อาศัยกำลังอันคงตัวนั้น ยืดขยายระยะ หรือตั้งขอบเขตออกไปไกลๆ กระทั่งถึงความไม่มีประมาณ ทิศเดียวบ้าง หลายทิศพร้อมกันบ้าง ตลอดจนครอบโลกโดยปราศจากทิศคั่นแบ่งบ้าง เป็นผลพิสดารในภายในอันรู้ได้ด้วยตนเองเมื่อสามารถทำสำเร็จ
เมื่อ ทราบว่าการเจริญเมตตาภาวนาแบ่งออกเป็นสองวิถีทางอย่าง นี้ ก็พึงทราบว่าการเจริญเมตตาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจริตนิสัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมีปัจจัยใดๆหนุนหลังหรือถ่วงรั้งเอาไว้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสมควรฝึก สมควรทำให้เกิดขึ้นในตน เพื่อขจัดวัชพืชออกไปจากพื้นที่เพาะพันธุ์มรรคผลในจิตเรา
จากคุณ |
:
ไข่หวานน้อย
|
เขียนเมื่อ |
:
11 ก.พ. 53 23:40:18
|
|
|
|
 |