 |
ความคิดเห็นที่ 62 |
กระทู้นี้คงจะขาดความสมบูรณ์ไป หากไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มชนที่สร้างพระเจดีย์กลางน้ำ กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่าเป็นเชลยชาวลาว
การกล่าวถึงมิได้ต้องการจะสร้างความแตกแยกหรือสร้างความโกรธแค้นชิงชังให้แก่ผู้ใด เป็นเพียงหมายเหตุเพื่อให้กระทู้นี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น
พระเจดีย์กลางน้ำ(พระสมุทรเจดีย์) แรงงานที่ก่อสร้าง มาจากเชลยชาวลาวขนซุงมาทำฐานเตาหม้อ ชาวลาวกลุ่มนี้คือลาวพวน หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าไทพวน
กลุ่มไทพวนอพยพมาอยู่ทีเมืองสุพรรณบุรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367)
เนื่องจากกรุงเทพฯ ต้องการจะสร้างพระเจดีย์กลางน้ำ ที่เมืองปากน้ำสมุทรปราการจึงมีรับสั่งให้เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ซึ่งสวามิภักดิ์กับประเทศไทย เกณฑ์คนลาวเวียง เพื่อใช้ให้ไปตัดโค่น และลากจูงต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรีลงไปเมืองสมุทรปราการ
การเกณฑ์คนลาวเวียงลงมาในครั้งนั้น เจ้าอนุวงศ์ได้มอบหมายให้เจ้าราชวงศ์ ซึ่งเป็นอนุชา คุมกำลังลงมา แต่ปรากฏว่าคนที่ถูกเกณฑ์มาไม่ใช่ลาวเวียง กลับกลายเป็น “ไทพวน” ที่ถูกกวาดต้อนจากเมืองเชียงขวางมาอยู่ตามชายแดนปริมณฑลกรุงเวียงจันทน์ทั้งหมด
คนไทพวนที่ถูกเกณฑ์มาครั้งนี้ล้วนเป็นชายฉกรรจ์ กำลังหนุ่มแน่น สามารถตรากตรำทำงานหนักขนาดขึ้นไปตัดต้นตาล ลาก ขนต้นตาล จำนวนมากล่องตามลำน้ำท่าจีน ไปจนถึงเมืองสมุทรปราการได้ จะเห็นได้ว่าชาวไทพวนกลุ่มนี้มีพละกำลังแข็งแรง สุขภาพดีเยี่ยม
แต่ปัญหาการสร้างพระสมุทรเจดีย์ ที่อยู่บนหาดทรายกลางน้ำต้องใช้ดิน ใช้เสาเข็มที่เป็นฐานรากมากมาย สิ่งที่สามารถนำมาใช้ทำเสาเข็ม หรือเป็นคาน ได้ดีที่สุดในขณะนั้นคือ ต้นตาล
มีตัวอย่างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเคยใช้ต้นตาลทำฐานกำแพงเมือง แต่ต่อมามีคนไทยขายชาติไปบอกพม่าให้รู้ จึงขุดเจาะจนกำแพงทรุดลงมา ทัพพม่าจึงตีกรุงศรีอยุธยาแตกมาแล้ว
มีตำนานเรื่องต้นตาลเล่ากันว่าเมืองที่มีต้นตาลมากที่สุดคือเมืองสุพรรณบุรี กับเมืองเพชรบุรี ขนาดนับแล้วแพ้ชนะกันต้นเดียว คือต้นที่ยอดด้วนเท่านั้น
เมื่อได้แหล่งต้นตาลแล้ว ก็มองหาผู้คนที่จะตัดโค่นต้นตาล คนไทยมีไม่มากนัก ขณะนั้น เจ้าอนุวงศ์ซึ่งเป็นเจ้าลาว ได้เข้ามาสวามิภักดิ์กับไทย อาสากลับไปเกณฑ์ชาวลาวมาตัดต้นตาลให้
ชาวลาวที่เกณฑ์มาครั้งนี้เป็นคนพวน จากเมือง “คูณ” แขวง “เชียงขวาง” ทั้งหมด จะมีลาวอื่นปนมาก็เป็นส่วนน้อย คนพวนที่ยกมาคราวนี้ มากันแบบยกครัว ลูกเล็กเด็กแดงมาหมด ยกหมู่บ้าน ยกเมืองกันมาเลย จึงเรียกว่า “ครัวชาวพวน”
เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสุพรรณบุรี ที่อำเภอวังมะขาม หรือบางปลาม้าในปัจจุบันนี้ ก็ลงมือตัดต้นตาลปล่อยลอยน้ำไปทำฐานพระสมุทรเจดีย์ จนต้นตาลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากถูกตัดโค่นไปเกือบหมด ส่วนที่เหลืออยู่บ้างถูกหักร้างถางพงจนกลายเป็นผืนนา ผืนไร่ ไม่เหลืออดีตของเมืองที่มีต้นตาลคู่แข่งเมืองเพชร
ทุกวันนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับต้นตาลเหลืออยู่บ้างเช่นที่วัดดงตาล อำเภอสองพี่น้อง บ้านตาลสามต้น ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า เป็นต้น
เมื่อตัดต้นตาลส่งไปจนพอแล้ว รัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม อนุญาตให้ สร้างบ้านเรือน และเลือกที่ทำมาหากินได้ตามความสมัครใจ
เมื่อได้ทำงานให้กับประเทศไทย คือ ตัดโค่นต้นตาลจนเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว จึงมีคนไทพวนระดับหัวหน้ากลุ่มหนึ่ง ถามคนไทพวนด้วยกันว่า
“เราจะกลับบ้านดีหรือจะขออยู่ที่เมืองไทย”
ปรากฏว่าเสียงส่วนมากขออยู่ ขอมีเมีย ขอตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีนี้ต่อไป เพราะถ้ากลับไปประเทศลาว ก็จะต้องไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนาของแขวงเมืองเวียงจันทน์ และต้องเป็นกรรมกรรับใช้คนลาวเวียงจันทน์อีกต่อไป
มองไม่เห็นแสงสว่างในอนาคตเลย สู้ขออยู่ที่เมืองนี้มีเมีย และลูกอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีจะดีกว่า เพราะมีสภาพบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อม ว่างเปล่าน่าอยู่น่าอาศัย จับจอบทำมาหากินต่อไปภายหน้า
ความยากลำบากของชาวลาวมีมากแค่ไหน พิศดูได้จากเพลง "ลาว แพน" ที่มีเนื้อร้องส่วนหนึ่งว่า
ฝ่ายพวกลาวเป่าแคนแสนเสนาะ มาสอเพาะเข้ากับแคนแสนขยัน
เป็นใจความยามยากจากเวียงจันทน์ ตกมาอยู่เขตขัณฑ์อยุธยา
อีแม่คุณเอ๋ยข้อยบ่เคยตกยาก ตกระกำลำบากแสนยากนี่หนักหนา
พลัดทั้งที่ดินถิ่นฐาน พลัดทั้งบ้านเมืองมา
พลัดทั้งปู่ทั้งย่า พลัดทั้งตาทั้งยาย
พลัดทั้งแม่ทั้งเมีย พลัดทั้งเสียลูกเต้า
พลัดทั้งพงศ์ทั้งเผ่า ทั้งลูกเต้าก็หนีหาย
บักไทยมันเฆี่ยน บักไทยมันขัง
จนไหล่หลังของข้อยนี่ลาย
จะตายเสียแล้วหนา ที่ในป่าดงแดน
ผ้าทอก็บ่มีนุ่ง ผ้าถุงก็บ่มีห่ม
คาดแต่เตี่ยวเกลียวกลม หนาวลมนี่เหลือแสน
ระเหินระหกตกยาก ต้องเป็นคนกากคนแกน
มีแต่แคนอันเดียว ก็พอได้เที่ยวขอทานเขากิน
ตกมาอยู่ในเมือง ต้องถีบกระเดื่องกระด้อย
สีซ้อมต่ำต้อย ตะบิดตะบอยบ่ฮู้สิ้น
ถือแต่เคียวเกี่ยวหญ้า เอาไปให้ม้าของเพื่อนมันกิน
เที่ยวซมซมซานซาน ไปทุกบ้านทุกถิ่น
จะได้กินก็แต่เดน
แสนอึดแสนจนเหมือนอย่างคนตกนาฮก
มืดมนฝนตก เที่ยวหยกหยกถกเขมร
ถือข้อส่องคบ ไปไล่จับกบทุ่งพระเมรุ
เปื้อนเลนเปื้อนตม เหม็นขมเหม็นคาว
จับทั้งอ่างท้องขึง จับทั้งอึ่งท้องเขียว
จับกบขาเหยียดเหยียด จับเขียดขายาวยาว
จับเอามาให้สิ้น มาต้มกินกับเหล้า
มันเป็นกรรมของเรา
เพราะเจ้าเวียงจันทน์ อ้ายเพื่อนเอย ฯ
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เคยได้รับฟังเพลงนี้เต็มๆ ตามต้นฉบับ และยังได้บันทึกด้วยความประทับใจไว้ด้วย
เขาได้หยิบยกเพลงนี้ขึ้นมาวิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่แฝงอยู่ในบทเพลงภายใต้นาม ปากกา “สมชาย ปรีชาเจริญ” มีบางตอนดังนี้
“ข้อความของเพลงในตอนต้นทั้งหมด ได้แสดงถึงความเคียดแค้น และความทุกข์ยากของเชลยลาวไว้อย่างแจ่มชัดและตรงไปตรงมา ถ้าหากจะหวนนึกไปถึงการบรรเลงเพลงลาวแพนด้วยจะเข้ จะมีการกระแทกจังหวะโดยการดีดสายทบพร้อมกันทั้งสามสายดังกระหึ่ม
เราก็จะมองเห็นอารมณ์อันอึดอัดและเคียดแค้นของผู้ประสบความทุกข์ยากและถูกกดขี่ได้อย่างดี ลีลาของลาวแพนบางตอนที่อ่อนพริ้วโหยหวนและมีการกลบเสียงเปลี่ยนระดับเสียง ได้แสดงให้เห็นความปวดร้าวในดวงใจของผู้ถูกกดขี่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
สิ่งที่น่าสังเกตในเพลงนี้ก็คือ ในตอนสุดท้ายที่พวกเชลยยึดเอาการด่าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นทางออกลักษณะป้ายโทษเช่นนี้เป็บลักษณะของแนวคิดศักดินาที่ไม่ยอมนำตนเองเข้าเผชิญ หน้ากับสภาพความจริง ความทุกข์ยากของเชลยลาวมาขจากการทรมานของศักดินาไทยมีได้มาจากเจ้าอนุวงศ์
ตรงข้าม เจ้าอนุวงศ์เสียอีกที่ได้กระทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ ได้ต่อสู้เพื่อปลดแอกประชาชนลาวจากการกดขี่ของศักดินาไทย แต่การปราศจากการนำอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนลาวมองไม่เห็นชัดเจนว่าใครคือมิตรและใครคือศัตรู …
เท่าที่พิจารณาแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเพลงลาวแพนแต่ดั้งเดิมเป็นเพลงที่สะท้อนถ่ายวิญญาณแห่งการ ต่อสู้ของประชาชนลาว ซึ่งแม้จะไขว้เขวอยู่บ้างก็ยังอยู่ในขั้นที่ดีกว่าเพลงต่างๆ อีกหลายเพลง ที่มิได้สะท้อนถ่ายวิญญาณเช่นนี้เลยแม้แต่น้อย …
สาเหตุที่เพลงลาวแพนจะกลายมาเป็นเพลงอ่อนหวาน เพลงร่าเริง เพลงรักนั้น ดูเหมือนจะอยู่ที่นักดนตรีไทยของศักดินา ที่ได้บิดเบือนเอาเพลงนี้มาเน้นหนักตรงช่วงอ่อนหวาน แล้วบรรเลงเสียด้วยลีลาใหม่ตามความนิยมของตนซึ่งมองไม่เห็นพลังแห่งการต่อสู้ของประชาชนในทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ เพลงลาวแพนจึงได้ถูกแปลงโฉมจากเพลงของประชาชนมาเป็นเพลงของศักดินา และจนกระทั่งกลายมาเป็นเพลงกระเง้ากระงอดของชนชั้นกลางในที่สุด”
ขอขอบคุณและอ้างอิงข้อมูลจาก: แวง พลังวรรณ, ลูกทุ่งอีสาน, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
http://www.vcharkarn.com/vcafe/4650
--------------------------------------------------------------------------------
บุญธรรม อาจหาญ
http://www.wiszanu.com/index.php?option=com_content&task=view&id=211&Itemid=56
---------------------------------------------------------------------------------
ครูพงษ์ / พงษ์ พันธุ์ศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์ศรี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
http://www.konpuan.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=6
จากคุณ |
:
Good Old Days (ปริญญาบ้าเกมส์)
|
เขียนเมื่อ |
:
25 เม.ย. 53 12:10:56
|
|
|
|
 |