 |
ความคิดเห็นที่ 13 |
ประเทศไทยเราก็มีประวัติศาสตร์ชัดเจน ในเรื่องที่ว่า การมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คือการที่ประเทศชาติมีเสรีภาพทางศาสนาและความสามัคคีระหว่างศาสนา ดังที่ชนชาติตะวันตก แม้แต่นักบวชต่างศาสนาที่เดินทางเข้ามา ต่างพากันประทับใจและได้บันทึกไว้ ขอยกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา บาทหลวง ฌอง เดอ บูรซ์ ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลก ที่มีศาสนาอยู่มากมาย และแต่ละศาสนาสามารถปฏิบัติพิธีการของตนได้อย่างเสรีเท่ากับประเทศสยาม”
เชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารฝรั่งเศสคนหนึ่ง ได้เข้ารับราชการในเมืองไทยสมัยอยุธยา จนได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลเรือ ต่อมากลับไปรับราชการในฝรั่งเศส และครั้งหนึ่งท่านผู้นี้ได้กราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ว่า
“ผู้สั่งสอนศาสนา(คริสต์) ชักชวนคนไทยเข้ารีตไม่ได้สักคนเดียว”
ต่อมา ฟอร์บัง ได้เล่าเพิ่มเติมแก่บาทหลวงแปร์ เดอะ ลาเชส ว่า
“ที่ทำให้คริสต์ศาสนาแผ่ไพศาลไปไม่ได้เร็วนั้น ต้องโทษจรรยาวัตรของพระภิกษุสงฆ์ ซี่งมีความอดทนและเคร่งครัดมาก พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ไม่เสพสุราเมรัย ฉันแต่ของที่คนใจบุญถวายเป็นวันๆ ไปเท่านั้น ของที่ได้มากเกินความจำเป็นก็บริจาคแก่คนจน ไม่เก็บไว้สำหรับวันรุ่งขึ้นเลย . . . “. . . ธรรมจรรยาของเขาเลิศกว่าของเรามาก เขาหานับถือผู้สั่งสอนศาสนาของเราไม่ เพราะว่าผู้สั่งสอนศาสนาไม่เคร่งครัดเท่าพระภิกษุสงฆ์ “เมื่อผู้สั่งสอนศาสนาของเราแสดงคริสต์ธรรม คนไทยซึ่งเป็นคนว่านอนสอนง่าย นั่งฟังธรรมปริยาย นั้น เหมือนฟังคนเล่านิทานให้เด็กฟัง . . .”
มองซิเออร์ ลาลูแบร์ ก็ได้เขียนไว้ในยุคเดียวกันนี้ว่า
“. . . เหตุใดเราจึงอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลตั้ง ๖,๐๐๐ ไมล์ สำหรับจะไปชักชวนประเทศอินเดีย ประเทศสยาม ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่นให้ถือศาสนาคริสเตียนเล่า . . . บางทีพวกไทยก็ฟังคำสั่งสอนพวกบาทหลวงก็มีเป็นบางครั้งบางคราว และอนุญาตให้พวกบาทหลวงสร้างวัดและสอนศาสนาตามหน้าที่ของเขาได้ ความจริงจะว่าใครใจดี เขาหรือเรา”
นี้เป็นตัวอย่างของการที่คนต่างชาติต่างศาสนาได้พูดแสดงความรู้สึกชื่นชมยกย่องเสรีภาพและน้ำใจไมตรีทางศาสนาของคนไทยไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเราไม่ได้พูดเอาเอง ขณะที่ชาวตะวันตก ยังดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักหนาเพื่อให้พ้นจากการกดขี่พิฆาตทางศาสนา เพียงเพื่อจะได้ตราเรื่องเสรีภาพทางศาสนาไว้เป็นกติกาในรัฐธรรมนูญ ชาวพุทธไทยได้มีไมตรีและสามัคคีทางศาสนา อันเป็นเรื่องสร้างสรรค์เหนือกว่าเสรีภาพนั้น มาก่อนนานแล้ว และเป็นเช่นนั้นโดยน้ำธรรมน้ำใจ ไม่ต้องมีกฎหมายบังคับกันเลย เรื่องอย่างนี้ อาตมาได้เขียนไว้มากมาย ในหนังสือ “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ” ที่เคยเอ่ยชื่อมาก่อนแล้ว ถ้าใครต้องการทราบรายละเอียด ก็หาอ่านเองได้ นี่แหละ จึงได้อธิบายให้เห็นว่า ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจริง หลักธรรมในพระพุทธศาสนาจะช่วยให้คนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างดี นอกจากพระพุทธศาสนาจะไม่กดขี่บีบคั้นหรือเบียดเบียนใครแล้ว ก็กลับจะช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ศาสนาอื่นๆ ทั้งหมดด้วย อาตมาได้พูดตอนหนึ่งว่า
“ควรพูดย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า สำหรับพระพุทธศาสนานั้น การพิจารณาว่าควรบัญญัติให้เป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุผลอย่างอื่น ไม่ใช่เหตุผลเกี่ยวกับการกลัวความแตกแยก หรือกลัวชาวพุทธจะไปบีบคั้นข่มเหงผู้อื่น เพราะในแง่นี้ผลจะกลับตรงข้าม กลายเป็นว่า ถ้าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะกลับเป็นการช่วยสร้างความอยู่รอดปลอดภัยให้แก่ลัทธิศาสนาอื่นด้วยซ้ำ ถ้ายังจะยกเหตุผลเกี่ยวกับการกลัวความแตกแยกบีบคั้นทางศาสนามาเป็นข้อถกเถียงในกรณีนี้ จะกลายเป็นการแสดงถึงการขาดความรู้ในเรื่องศาสนา และความไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านหลักการ และในด้านประวัติศาสตร์ ความกลัวแง่นี้ควรตัดไปได้เลย ควรจะพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์”
อย่างไรก็ตาม ที่พูดนี้เป็นเพียงลักษณะอย่างหนึ่งของการที่พระพุทธศาสนาจะเป็นอุดมธรรมของประเทศชาติ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า การมีพระพุทธศาสนาเป็นอุดมธรรมของชาติไทย จะทำให้เรามีหลักการอันประเสริฐในการที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมไทย ตรงนี้แหละที่เป็นความหมายของการมีพระพุทธศาสนาเป็นอุดมธรรมของชาติไทย
จากคุณ |
:
ระนาดเอก
|
เขียนเมื่อ |
:
19 พ.ค. 53 04:18:01
|
|
|
|
 |