ขอตอบคุณ 5tik คำว่า "อภิธรรม" ที่คุณถามมา เราต้องแยกออกให้ชัด เข้าใจให้ตรงกัน ซึ่งอ่านจากคำถามข้างต้นของคุณ คิดว่าคงหมายถึงอภิธรรมปิฎก เพราะอภิธรรมรุ่นอื่นๆ คุณคงจะทราบอยู่แล้วว่ามาจากหลังพุทธกาลอยู่นอกพระไตรปิฎกเป็นแน่ ดังนั้นจึงขอตอบเฉพาะอภิธรรมปิฎกเท่านั้น 1. ที่ว่าสมัยพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีพระอภิธรรมที่ว่าใช่ไหม ตอบ : ถ้าตรวจสอบจากหลักฐานจะพบว่ามีพระอภิธรรมปรากฏมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลอยู่หลายที่ครับ อย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่น ในพระวินัยปิฎก เรื่องพระทัพพมัลลบุตร ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ได้รับยกย่อจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในทางผู้จัดเสนาสนะ โดยท่านจัดอาสนะแยกตามเหล่าผู้ทรงวินัย, ผู้ทรงพระสูตร, ผู้ทรงอภิธรรมเอาไว้ให้นั่งใกล้กันจะได้สนทนากันได้ ดังนี้ "ท่านพระทัพพมัลลบุตร อันสงฆ์สมมติแล้วย่อมแต่งตั้งเสนาสนะรวมไว้เป็นพวกๆ สำหรับหมู่ภิกษุผู้สม่ำเสมอกัน คือ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ทรงพระสูตร ท่านก็แต่งตั้ง เสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่าพวกเธอจักซักซ้อมพระสูตรกัน ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ทรงวินัย ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่าพวกเธอจักวินิจฉัยพระวินัยกัน ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ทรงพระอภิธรรม ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า พวกเธอจักสนทนาพระอภิธรรมกัน" ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=17310&Z=17340&pagebreak=0 ที่กล่าวไปเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล และหากผู้ใดปฏิเสธว่าพระอภิธรรมไม่ได้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ย่อมชื่อว่าปฏิเสธพระวินัยส่วนนี้ ปฏิเสธพระสงฆ์ผู้ชำนาญอภิธรรมเหล่านี้ 2. และพุทธวจน เป็นอภิธรรมในส่วนไหน ตอบ : พุทธพจน์ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าด้านปริยัติจะมีอยู่ด้วยกัน 9 ประเภท ดังนี้ "คำสั่งสอนทางปริยัติเป็นไฉน? คำสั่งสอนใด คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ อันบุคคลนั้นศึกษาแล้ว นี้ชื่อว่าคำสั่งสอนทางปริยัติ." ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=3084&Z=3567 ซึ่งจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 9 ประเภทข้างต้น เรียกว่า "นวังคสัตถุศาสน์" พระอภิธรรมจะอยู่ในส่วนที่เรียกว่า "เวยยากรณะ" ดูความหมายดังนี้ นวังคสัตถุศาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ 9, พุทธพจน์มีองค์ประกอบ 9 อย่าง, ส่วนประกอบ 9 อย่างที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ 1) สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส) 2) เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด) 3) เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น) 4) คาถา (ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น) 5) อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน 82 สูตร) 6) อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ 110 สูตร) 7) ชาตกะ (ชาดก 550 เรื่อง) 8) อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือพระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ) 9) เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้ว ซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น) เขียนอย่างบาลีเป็น นวังคสัตถุสาสน์ ที่มา : พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 96. ดังนั้นผู้ที่ปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎกชื่อว่าปฏิเสธคำสอนส่วน "เวยยากรณะ" ทั้งหมด 3. และที่พระพุทธเจ้าโปรดพระมารดา คือพุทธวจน หรือ พระอภิธรรมอะไร ตอบ : หากตรวจสอบในพระไตรปิฎกจะพบว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จขึ้นไปแสดงอภิธรรมในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จริงมีหลักฐานอยู่ในพระสุตตันตปิฎกให้เห็นว่าทรงตรัสถึงอุเทศและวิภังค์ดังต่อไปนี้ "ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่ นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสีย ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่า ความผลัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เรา ทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติเป็นอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้อย่างนี้แล ขอท่านจงร่ำเรียน และทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุรุษผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ จันทนเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ" ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=7494&Z=7622&pagebreak=0 แต่ถ้ายังไม่ชัดขอให้ดูพระสูตรนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระอภิธรรมมีการตรัสเอาไว้แม้แต่ในพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ดังนี้ ว่าด้วยพระประวัติพระโกนาคมนพุทธเจ้า ... สมัยต่อมาจากพระกุกกุสันธพุทธเจ้า พระสัมพุทธนราสภชินเจ้าผู้ อุดมกว่าสัตว์ เชษฐบุรุษของโลก พระนามว่าโกนาคมนะ ทรง บำเพ็ญธรรม ๑๐ ประการบริบูรณ์ ข้ามทางกันดารได้แล้ว ทรงลอย มลทินทั้งปวงแล้ว ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม เมื่อพระองค์ผู้ เป็นนายกชั้นพิเศษของโลก ทรงประกาศพระธรรมจักร ธรรมาภิสมัย ครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์สามหมื่นโกฏิ และในคราวเมื่อพระองค์ ทรงทำปฏิหาริย์ย่ำยีวาทะของผู้อื่น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่ สัตว์สองหมื่นโกฏิ ต่อแต่นั้น พระมุนีสัมพุทธชินเจ้าทรงแผลงฤทธิ์ ต่างๆ เสด็จไปยังดาวดึงส์เทวโลก ประทับเหนือบัณฑุกัมพลศิลา- อาสน์ ทรงจำพรรษาอยู่ ณ ดาวดึงส์นั้น ทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่ทวยเทพหมื่นโกฏิ แม้ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ทรงมีการประชุมพระภิกษุขีณาสพผู้ ปราศจากมลทิน ผู้มีจิตสงบระงับ คงที่..." ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=8395&Z=8445&pagebreak=0 4. พระอภิธรรม ที่เราศึกษาในปัจุบัน เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าหรือของใครครับ ตอบ : พระอภิธรรมที่เราศึกษากันในปัจจุบันนี้ เช่นตามโรงเรียนส่วนใหญ่จะเรียนคัมภีร์ "อภิธัมมัตถสังคหะ" เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นมาประมาณ พ.ศ. จากพระอนุรุทธาจารย์ เพื่อย่อและอธิบายอภิธรรมปิฎกให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้ "ต่อมาประมาณปี พ.ศ ๙๐๐ มีพระเถระผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎก ท่านหนึ่งมีนามว่า พระอนุรุทธเถระ (พระอนุรุทธาจารย์) ท่านเป็นชาวกาวิลกัญจิ แขวงเมืองมัทราช ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่สำนักวัดตุมูลโสมาราม เมืองอนุราชบุรี ประเทศลังกา จนมีความแตกฉานและได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระอภิธรรมท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับอารธนาจากนัมพะอุบาสกผู้เป็นทายกให้ช่วยเรียบเรียงพระอภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ละเอียดลึกซึ้งมากนั้น ให้สั้นและง่ายเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและจดจำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลายในอนาคต พระอนุรุทธาจารย์จึงได้อาศัยพระบาลี อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา มาเป็นหลักในการเรียบเรียงพระอภิธรรมฉบับย่อและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ" ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/dhamma/abidhamma-06.htm แต่ถ้าเราอ่านพระอภิธรรมปิฎกในพระไตรปิฎกตั้งแต่เล่ม 34 - 45 เป็นต้นไป (ฉบับสยามรัฐ) จะเป็นคำพูดของพระอานนท์ที่ถูกบันทึกเอาไว้จากการสังคายนาครั้งที่ 1 โดยพระอรหันต์ 500 องค์ ที่พระอานนท์ทรงจำมาจากพระพุทธเจ้าอีกทีหนึ่ง และผ่านการตรวจสอบจากพระอรหันต์ 499 รูปแล้ว พระอานนท์ทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ทั้งหมด 82,000 พระธรรมขันธ์ และจากพระเถระอื่น 2,000 พระธรรมขันธ์ ดังนั้น พระอภิธรรมมีมาในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน เนื่องจาก หากไม่มีพระอภิธรรมมาด้วยแล้ว จำนวนของธรรมขันธ์จะไม่ครบ จะมีอยู่เพียง 42,000 ธรรมขันธ์เท่านั้น คือ พระวินัย 21,000 ธรรมขันธ์ และพระสุตตันตปิฏก 21,000 พระธรรมขันธ์ ที่เหลือที่พระอานนท์ที่ทรงจำไว้อีกหายไปไหน? หากไม่ใช่พระอยู่ในพระอภิธรรมปิฎก ดังนี้ พระอานนทเถระผู้โคตมะ ชื่อว่าย่อมตั้งอยู่ ในมรรคเป็นทางไปสู่นิพพาน พระอานนทเถระได้เรียนธรรมจาก พระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ได้เรียนมาจากสำนักภิกษุมีพระธรรม เสนาบดีเป็นต้น ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงรวมเป็นที่คล่องปากขึ้นใจ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ คนที่เป็นชายมีการศึกษาเล่าเรียนมาน้อย ย่อม แก่เปล่า เหมือนกับโคที่กำลังแต่เขาไม่ได้ใช้งาน ฉะนั้น เนื้อย่อม เจริญแก่เขา ปัญญาไม่เจริญแก่เขา ผู้ใดเล่าเรียนมามาก ดูหมิ่นผู้ที่ ศึกษาเล่าเรียนมาน้อยด้วยการสดับ แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามที่เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไป ฉะนั้น บุคคลควร เข้าไปนั่งใกล้ผู้ที่ศึกษามามาก แต่ไม่ควรทำสุตะที่ตนได้มาให้พินาศ เพราะสุตะที่ตนได้มานั้น เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม บุคคลผู้รู้อักษรทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย รู้อรรถ แห่งภาษิต ฉลาดในนิรุติและบท ย่อมเล่าเรียนธรรมให้เป็นการเล่าเรียนดี และพิจารณาเนื้อความ เป็นผู้กระทำความพอใจ ด้วยความอดทน พยายามพิจารณา ตั้งความเพียรในเวลาพยายาม มีจิตตั้งมั่นด้วยดี ในภายใน บุคคลควรคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปัญญา เป็น สาวกของพระพุทธเจ้า หวังการรู้แจ้ง ธรรมเช่นนั้นเถิด บุคคลผู้เป็น พหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ทรง แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของโลกทั่วไป ผู้ที่เป็นพหูสูตนั้น เป็นผู้อันมหาชนควรบูชา ภิกษุมีธรรมเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในธรรม ค้นคว้าธรรม ระลึกถึงธรรม ย่อมไม่เสื่อมไปจากสัทธรรม ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=8134&Z=8214&pagebreak=0 ดังนั้น ผู้ที่ปฏิเสธอภิธรรมชื่อว่าปฏิเสธสิ่งที่พระอานนท์ทรงจำเอาไว้ด้วย ที่ตอบไปทั้งหมดคงทำให้เห็นแล้วว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นมาอย่างไร คงช่วยให้คุณหายสงสัยไม่มากก็น้อย ขอให้ใช้โยนิโสมนสิการ และหลักกาลามสูตรให้มากครับไม่ว่ากับคำสอนของใคร อาจารย์ใด นักปราชญ์ไหนได้สอนกันมาเดี๋ยวนี้ตรวจสอบได้ไม่ยากครับ หากค้านกับพระไตรปิฎก หรือพุทธพจน์ของให้ทิ้งเสีย ขอให้เจริญในธรรม
จากคุณ |
:
ศิรัสพล
|
เขียนเมื่อ |
:
11 พ.ย. 53 15:32:48
|
|
|
|