ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
(ความเดิมตอนที่แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และอานิสงส์ในการออกบวช แก่พราหมณ์โปกขรสาติซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่สมควร เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์โปกขรสาติมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์โปกขรสาติบนที่นั่งนั่นเองว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา )
พราหมณ์โปกขรสาติประกาศตนเป็นอุบาสก
[๒๙๙] ลำดับนั้น พราหมณ์โปกขรสาติเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในหลักคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้
ข้าพระองค์นี้พร้อมด้วยบุตรภรรยา บริวาร และมิตรสหาย ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ขอท่านพระโคดมจงเสด็จเข้าไปสู่โปกขรสาติตระกูล เหมือนดังที่เสด็จเข้าไปสู่ตระกูลอุบาสกอื่น ๆ ในเมืองอุกกัฏฐะ เหล่ามาณพหรือมาณวิกาในโปกขรสาติตระกูลจักไหว้ ลุกรับ ถวายอาสนะและน้ำ จักทำจิตให้เลื่อมใส ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเขาตลอดกาลนาน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พราหมณ์ ท่านกล่าวดีแล้ว
อัมพัฏฐสูตรที่ ๓ จบ
ข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่ม 9 หน้า 109 ข้อ 294
ขออานิสงส์ธรรมทานแผ่ไปยังสรรพสัตว์ทุกๆชีวิต
ครั้งถัดไป ศึกษา "โสณทัณฑสูตร"
เพิ่มเติมคำศัพท์บางข้อ
1.อนุปุพพิกถา เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ
เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก
เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจจ์
มี ๕ คือ
๑. ทานกถา พรรณนาทาน
๒. สีลกถา พรรณนาศีล
๓. สัคคกถา พรรณนาสวรรค์ คือ ความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม
๔. กามาทีนวกถา พรรณนาโทษของกาม
๕. เนกขัมมานิสังสกถา พรรณาอานิสงส์แห่งการออกจากกาม
อนุปุพพีกถา ก็มีใช้
ข้อมูลจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ [ในเว็บ 84000.org]
2.อริยสัจ ๔ นี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การแสดงอริยสัจ ๔ นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามุกกังสิกา ธรรมเทศนา (เช่น องฺ.อฏฺก.๒๓/๑๐๒/๑๙๐) แปลตามอรรถกถาว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกขึ้นถือเอาไว้ด้วยพระองค์เอง คือ ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ (= ตรัสรู้เอง) ไม่สาธารณะแก่ผู้อื่น (แต่ตามที่อธิบายกันมา มักแปลว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่ต้องปรารภคำถามหรือการทูลขอร้องของผู้ฟัง อย่างการแสดงธรรมเรื่องอื่นๆ; ความจริง จะแปลว่า พระธรรมเทศนาขั้นสุดยอดก็ได้ ซึ่งสมกับเป็นเรื่องที่ทรงแสดงท้ายสุดต่อจาก อนุปุพพิกถา ๕ คำแปลอย่างหลังนี้ พึงเทียบ องฺ.ทสก.๒๔/๙๕/๒๐๘)
ข้อน่าสังเกตและบทเรียนที่น่าจะได้รับจากพระสูตรนี้
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการแสดงธรรมจากเรื่องง่ายไปเรื่องยาก คือ ตรัสถึงเรื่องทาน เรื่องศีล แล้วไปสู่อานิสงส์จากทานและศีลคือเรื่องสวรรค์ จากนั้นจึงกล่าวถึงโทษของกาม และอานิสงส์จากการออกจากกาม เมื่อจิตผู้ฟังพร้อม พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจ4 ซึ่งเป็นธรรมที่ลึกซึ้งต่อไป จนผู้ฟังบรรลุธรรม
วิธีนี้เป็น ตัวอย่าง ที่จะนำมาใช้ในการแสดงธรรมในยุคปัจจุบัน หรือนำมาจัดเป็นระบบการศึกษาใน โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย
แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 11:06:22
แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 10:22:13
แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 10:21:44
แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 10:13:29
แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 10:11:45
แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 10:09:59