Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อริยสัจ 4 คือแก่นแห่งสัจธรรมของทุกสรรพสิ่งแล้ว...กระนั้นหรือ? ติดต่อทีมงาน

อ้างจากกระทู้ http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y10227199/Y10227199.html

++++++++++++++++++++++

 

ศาสนาพุทธมีแนวคิดว่าวัฏจักรชีวิตดำเนินไปด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิด สุข และทุกข์  “อารมณ์”เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนทุกชีวิต และจิตวิญญาณ ให้ดำเนินไปตามวัฎจักรที่ไม่มีใครควบคุม ด้วยเป็นระบบที่หาใช่ความตั้งใจของผู้ใด ไม่มีผู้เจตนาสร้างขึ้นมา ไม่มีผู้มีอำนาจใดกำลังบริหารจัดการ จึงไม่จำเป็นต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญหาผู้สร้าง และผู้บริหารวัฏจักรสูงสุดแต่อย่างใด กลับมีเพียงผู้สร้างรายย่อยๆ หลายรายที่แบ่งงานกันดูแล เป็นเจ้าที่มีชื่อเรียกต่างๆกันมากมาย ไม่มีคำอธิบาย อำนาจ ลำดับชั้น หรือคุณลักษณะชัดเจน แต่หากจะนับเรื่องเหล่านี้เป็นความจริงก็จะกลายเป็น “เทวนิยม”ไป ในปัจจุบันจึงต้องจัด และคัดแยกความเชื่อกันใหม่ว่าเรื่องใดเป็นความจริง เรื่องใดเป็นนิทานที่ถูกนำมาเป็นความเชื่อ ไม่ถูกนับรวมเป็นแก่นแท้ของศาสนา หรือเรื่องจริงแต่อย่างใด  เป็นเพียงการ “โกหก” ให้คนเกรง กลัว และศรัทธา เพื่อทำความดีตามที่ตนเองคิด หรือที่ตนเรียกว่า “กุศโลบาย” เท่านั้นเอง

ในเมื่อมนุษย์ต่างมองเห็นว่า “ความทุกข์” เป็นสภาวะที่ไม่มีใครต้องการ และพระพุทธเจ้าเองมองว่าทั้งหมดเกิดจากอารมณ์ที่มีของสิ่งมีชีวิต การพุ่งเป้าสนใจตนไปที่การพ้นจากความทุกข์ จึงเป็นเป้าหมายที่เพียงพอแล้วกับการเกิดมาชีวิตหนึ่ง และการตัดอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิงน่าจะเป็นวิธีการเดียวที่จะดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง น่าจะทำให้สิ่งมีชีวิตหลุดพ้นจากวงจร “เวียน ว่าย ตาย เกิด” ที่ตนเองเชื่อว่ามีอยู่จริงได้ จึงทำให้ความสนใจ กิจกรรมในชีวิตที่เหลืออยู่ทั้งหมดไปจัดการที่ “เหตุแห่งทุกข์” หรือ การดับอารมณ์ของตนเอง เป็นอันดับแรก และเป็นเป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิต จึงลองผิดลองถูก จนตนเองได้ข้อสรุป ตกผลึกทางความคิด วางมาตรการการดับทุกข์ ที่มองว่าน่าจะได้ผลจริง  ด้วยการตัดอารมณ์ทุกอย่างที่มีให้หมดสิ้นไปเท่านั้น จึงจะนำพาตัวเองไปสู่สภาวะ “สุขนิรันดร์” ที่ไม่ต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีก หรือที่เรียกว่า “นิพพาน” นั่นเอง

นอกจาก “อารมณ์” เป็นตัวแปรขับเคลื่อนวัฎจักรการเวียน ว่าย ตาย เกิดของชีวิตแล้ว ตัวแปรขับเคลื่อนชนิดหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีบทบาทไม่แพ้กัน และน่าพิจารณาว่าขัดแย้งกันเองกับสัจธรรมของตนเองหรือไม่? ก็คือ  “กรรม”

กรรม ก็คือผลของการกระทำที่มีทั้ง “กรรมดี” และ “กรรมชั่ว” ในเมื่อมนุษย์ และสัตว์ที่เกิดมา มีชีวิต มีการกระทำ ย่อมเกิดกรรมขึ้นมาเป็นธรรมดา และกรรมนี้เองที่จะขับเคลื่อนการดำเนินไปของชีวิต และสรรพสิ่ง และจะส่งผลให้ชีวิตในโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป อันที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มนุษย์ส่วนใหญ่รับรู้กันอยู่แล้ว ไม่ได้แปลกใหม่อะไร เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ทุกสิ่งล้วนมีเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงกันไปเป็นทอดๆ ” หรือพูดง่ายๆว่ามีคนมีสติปัญญาย่อมคิดได้ถึง “เหตุผล” เพราะผู้ใช้สติปัญญาย่อมรู้ดีว่า เหตุหนึ่งย่อมสามารถส่งผลไปสู่อีกเหตุหนึ่งได้ อาทิ คนขยันย่อมมีโอกาสร่ำรวยมากกว่า คนออกกำลังกายย่อมมีโอกาสแข็งแรงมากกว่า คนคิดร้ายกับคนอื่นย่อมมีโอกาสถูกคิดร้ายมากกว่า คนฉลาดย่อมได้เปรียบกว่าคนโง่ ...เป็นธรรมดาโลก

แต่กรรมที่เป็นจุดต่างของแต่ละศาสนาคือคำตอบของกรรมที่ส่งผลในโลกหน้า หรือตกทอดมาถึงตนเองในโลกนี้ อันที่จริงแล้วความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตในโลกที่แล้ว โลกหน้า และอีกหลายภพภูมิของศาสนาพุทธ นอกจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลที่ไม่ขัดแย้งกันเองแล้ว ยังขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎ  หากจะนับรวมความเชื่อเหล่านี้ไว้เป็นความจริงด้วยก็จะทำให้ศาสนาพุทธทั้งหมดขาดความน่าเชื่อถือไป ในเมื่อไม่สามารถแยกเนื้อหาออกจากเล่มเดียวกันได้ หลายคนจึงใช้วิธีการไม่นับรวมว่าเป็น “แก่น” ของศาสนาพุทธ แต่สิ่งเหนือตรรกะเหล่านี้เป็นเพียง “เปลือก” ที่เป็น “นิทาน”  เท่านั้นให้พิสูจน์ดูที่ “แก่น”ที่เป็นนามธรรม และเป็นหลักปรัชญาก็เพียงพอ  ก็อาจจะสรุปกันเอาเองว่า สุข หรือทุกข์ จากผลกรรม ก็จะเกิดเพียงโลกนี้เท่านั้น เกิดที่ใจเท่านั้น ตายไปทุกอย่างก็จบไม่มีอะไร ไม่มีสถานที่ที่เรียกว่านรก สวรรค์ ไม่มี ยมบาล เทวดา เปรต เทพองค์นั้นองค์นี้ตามที่พระพุทธเจ้า “เล่า”ให้ฟัง ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาตอนต้นแล้วนั่นเอง ทุกสรรพสิ่งกลับสู่ความว่างเปล่าเหมือนเช่นก่อนทุกสรรพสิ่งกำเนิดมา โดยถือหลักที่เรียกว่า “อนัตตา” ที่ยังมองแตกต่างกันออกไปอีกมากมาย

ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นทันทีหากมองว่าการตายก็คือการหมดเวรหมดกรรมเดิม ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ “นิพพาน” ที่สามารถหลุดจากวัฎจักรการเกิดใหม่ได้เช่นกัน เพราะหมดกรรมก็ไม่ต้องไปเกิดใหม่ในชาติภพใดอีก คำอธิบายจึงต้องเป็นว่าเป็นการหมดโอกาสก่อเวรก่อกรรมต่างหากแต่ยังต้องชดใช้ในโลกหน้า หรือภพภูมิต่างๆอยู่จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อในเรื่องพ้นญานวิสัยต่างๆมากมาย หลายคนก็ตั้งคำถามว่า หากมีกรรมที่ยังต้องได้รับการตอบแทนเหลืออยู่ แม้เป็น “กรรมดี” จะไม่ได้รับการตอบแทนหรือ? แล้วผู้ที่ทำกรรมดี มีกรรมร่วมกันกับผู้อื่นมากมาย กระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต กระทั่งสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ที่ “นิพพาน” ไม่ต้องเข้าสู่การตอบแทนที่ดีในสังสารวัตรร่วมกับผู้ที่ทำกรรมร่วมกันมาอีกกระนั้นหรือ?  หลายคนก็ตอบว่า “ไม่หรอก” เพราะการบรรลุระดับนั้นสามารถตัดอารมณ์ได้หมดสิ้นจึงอยู่ “เหนือกฎแห่งกรรม” ได้และหลุดพ้นไปแล้วนั่นเอง ด้วยเหตุที่ไม่มีความชัดเจนถูกระบุไว้เป็นแนวทางหนึ่งเดียวที่สามารถยุติข้อสงสัยได้นี้ ก็จะมีความคิดที่แตกแขนงออกไปอีกมากมาย ตามจินตนาการของแต่ละคน และคำกล่าวอ้างจากประสบการณ์ตรงของบรรดา “ผู้รู้แจ้ง”  ที่อ้างว่าอยู่ระหว่างทางไปยังจุดหมาย ก็จะเกิดขึ้นเนืองๆ แม้ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้พูดคนใดได้ไปถึงจุดหมายนั้นเลยในช่วงที่มีชีวิตอยู่แม้เพียงคนเดียว

จากคุณ : laliklalee
เขียนเมื่อ : 21 ก.พ. 54 17:14:56




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com