 |
คุณ sky-hook-damper เห็นว่า "ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นมิจฉาทิฏฐิ...คือ ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ เป็นแค่ทิฏฐิ"
ทิฏฐิ เฉยๆ ดังว่านี้ ที่จริงก็เป็นมิจฉาทิฏฐินั่นแหละครับ ประเภทที่เรียกว่า ทิฏฐิธรรมดา หรือ "ทิฏฐิสามัญ" จากบรรดามิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย
เห็นว่า อาจมีความเข้าใจไปสับสนกับเรื่องกุศล-อกุศลได้ ความเป็นมิจฉา-สัมมา นั้นไม่เหมือนกันครับ ขอให้ละกระบวนทัศน์แบบ ดี-เฉย-ชั่ว / มีบน มีล่าง ก็ต้องมีตรงกลาง ออกไปก่อนนะครับ แล้วไปดูกัน
หลักก็คือ สัมมาทิฏฐิ ก็คือความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด คือ ความเห็นทั้งหลายที่ยังผิดไปจากสภาวะตามเป็นจริง (เน้นย้ำว่า ผิด ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่ดี เป็นความผิด เพียงแต่ผิดไปจากความเป็นจริง)
เมื่อยังไม่เห็นเป็นสัมมาได้ ก็เท่ากับยังละมิจฉาไม่ได้ มีเพียงใช่-ไม่ใช่ แค่นี้
เราอาจจะมีความเคยชินกันว่า"มิจฉาทิฏฐิ"คือหมายถึง ๑๐ ประการ หรือต้องคือความเห็นที่เป็นความผิดความไม่ดี เป็นเหตุให้ไปอบาย ทุคติ... แต่อย่าเพิ่งตีความไปเช่นนั้นครับ เพราะที่จริงอันนั้นเป็นชนิดของมิจฉาทิฏฐิที่แรงขึ้นไปอีก(นัตถิกทิฏฐิ) ในระดับหยาบขึ้นไปอีก นั่นคือในระดับโลกียะในแง่ที่สอดคล้องกับหลักกรรม(กัมมัสสกตา) ในแง่ความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม(เรียกได้ว่าในแบบโลกๆยังไงก็ขอให้มีดังนี้ตรงกันเป็นพื้นฐานก่อน ถ้าแค่ระดับนี้ยังไม่มีก็แย่แล้ว) อันนี้ทำให้ไปอบายแน่นอนครับ และจึงเน้นกันเป็นที่คุ้นเคย - ควรดู นส พุทธธรรม หน้า 738 ประกอบ)
มิเช่นนั้น เมื่ออ่านไปเจอ เช่นว่า สักกายทิฏฐิจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ...ฯลฯ อาจจะงงได้(โดนมาแล้วครับ)
ทีนี้เพื่อความมั่นใจจะว่ากันไปตามนิยาม หลักฐาน พระธรรม พระสูตร ต่อไปนะครับ
มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรมเขียน มิจฉาทิฐิ); (ข้อ ๑ ในมิจฉัตตะ ๑๐) http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มิจฉาทิฏฐิ (โปรดสังเกตว่านัยแรกคือความหมายแท้, นัยที่สองคือมิจฉาทิฏฐิแบบโลกียะที่มักคุ้นเคยเข้าใจกัน)
ควรสังเกตด้วยว่าในหลายๆแห่งแม้ท่านใช้คำเรียกเพียง ทิฏฐิ ก็ไม่ได้แปลว่านั่นไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ เพราะก็ยังเป็นความเห็นผิด อยู่นั่นเอง(เพียงแต่ไม่เน้นว่าเป็น"มิจฉาทิฏฐิ"ที่ก่อโทษ ในระดับเป็นความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม นำอบาย)
อนุสัย กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ คือ... ๓. ทิฏฐิ ความเห็นผิด http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อนุสัย_๗
สังโยชน์ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์... ในพระอภิธรรมท่านแสดงสังโยชน์อีกหมวดหนึ่ง คือ... ๔. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สังโยชน์_๑๐
นิยาม มิจฉาทิฏฐิ จากพระอภิธรรม [๒๙๑] มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อ สัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น. เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ บรรทัดที่ ๒๖๔๒ - ๒๗๙๕. หน้าที่ ๑๐๘ - ๑๑๓. http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=34&A=2642&Z=2795&pagebreak=0 (จะเห็นได้ว่ามีตั้งแต่ระดับทางชั่ว บ่อเกิดความพินาศ(อกุศล) ไปจนถึง ความยึดมั่นถือมั่น และสังโยชน์ข้อทิฏฐิ อันเป็นกิเลสพื้นฐานของปุถุชน)
-------------------------------------------------------- มิจฉาทิฏฐิ จาก พระอภิธรรมออนไลน์ ตามที่ท่านประมวลมาจำแนกไว้ดีแล้ว http://www.abhidhamonline.org/aphi/p5/070.htm
มิจฺฉา ปสฺสตีติ มิจฺฉาทิฏฺฐิฯ ธรรมชาติใดที่มีความเห็นวิปริตอันผิดไปจาก ความเป็นจริง นั่นแหละชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก
มิจฉาทิฏฐิ มีอยู่หลายประเภท เช่น
สักกายทิฏฐิ ๒๐ มีความยึดมั่นในขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเขา เป็นเรา
มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ที่แสดงไว้ในพรหมชาลสูตรแห่งสีลขันธวัคค
นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่แสดงไว้ใน สามัญญผลสูตร แห่งสีลขันธวัคค
สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ที่กล่าวในมโนทุจริตกรรมนี้ มุ่งหมายเฉพาะนิยตมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ ที่สำเร็จเป็นกรรมบถ (ป.ล. หมายถึง 2 ประเภทแรกถือเป็น ทิฏฐิสามัญ เท่านั้น ไม่มีโทษรุนแรงถึงขนาดนำไปสู่อบายเป็นอกุศลกรรมบถเหมือนข้อ 3)
นิยตมิจฉาทิฏฐิ มีชื่อเรียกอีกนัยหนึ่งว่า มิจฉัตตนิยตะนั้น มี ๓ คือ
๑. อเหตุกทิฏฐิ มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นั้น ไม่ได้อาศัย เนื่องมาจากเหตุแต่อย่างใด (ไม่เชื่อเหตุ อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒)
๒. นัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่า การทำอะไร ๆ ก็ตาม ผลที่จะได้รับนั้นย่อม ไม่มี (ไม่เชื่อผล อุจเฉททิฏฐิ ๗)
๓. อกริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การที่สัตว์ทั้งหลายกระทำกิจการต่าง ๆ นั้น ไม่ สำเร็จเป็นบุญ หรือเป็นบาปแต่อย่างใดเลย (ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล สัสสตทิฏฐิ ๔)
มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ จำแนกเป็นสาขาใหญ่ ๒ สาขา คือ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑ และ อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๑
ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อเหตุในอดีต มี ๑๘ คือ
๑. สัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง (อกริยทิฏฐิ)
๒. เอกัจจสัสสตเอกัจจอสัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่า อัตตา และโลกบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
๓. อันตานันติกทิฏฐิ ๔ เห็นว่าโลกมีที่สุด และไม่มีที่สุด
๔. อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔ ความเห็นซัดส่าย ไม่ตายตัว จะว่าใช่ก็ไม่เชิง จะว่าไม่ใช่ก็ไม่เชิง
๕. อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒ เห็นว่า อัตตา และโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ไม่มีเหตุ (อเหตุกทิฏฐิ)
อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อผลในอนาคต มี ๔๔ คือ
๑. สัญญีวาททิฏฐิ ๑๖ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วมีสัญญา
๒. อสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วไม่มีสัญญา
๓. เนวสัญญีนาสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย เมื่อตายแล้ว มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่เชิง
๔. อุจเฉททิฏฐิ ๗ เห็นว่า ตายแล้วสูญ (นัตถิกทิฏฐิ)
๕. ทิฏฐธัมมนิพพานวาททิฏฐิ ๕ เห็นว่า พระนิพพานมีในปัจจุบัน (คือ ๑.ว่ากามคุณ ๕ เป็นพระนิพพาน, ๒.ว่าปฐมฌาน, ๓.ว่าทุติยฌาน, ๔.ว่าตติยฌาน, ๕.ว่าจตุตถฌาน เป็นพระนิพพาน)
**โปรดสังเกตว่าไม่จำเป็นเลยว่าต้องเป็นอกุศล หรือต้องนำไปสู่อบาย ยิ่งโดยเฉพาะจำพวกทิฏฐิสามัญที่ปุถุชนย่อมมีทุกผู้นาม และอีกประการคือ แม้เป็นฌาน(กุศลจิต)ก็เป็นมิจฉาได้ นำไปสู่ความหลงยึดติดในภพ ดังที่เน้นในข้อสุดท้าย ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นกุศลจิต นำไปสู่สุคติภูมิแล้วจะกลายเป็นสัมมา แต่อย่างใด**
การจำแนกต่างๆดังนี้ล้วนย่อมมีปรากฏในพระสูตรอยู่ด้วย ซึ่งมีจำนวนมาก มีท่านที่รวบรวมไว้บ้างพอสมควร จะไม่ขอยกมาในที่นี้ ดูได้ที่ลิ้งค์ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aragorn&month=01-2006&date=11&group=4&gblog=77
จากคุณ |
:
EvaAngelion
|
เขียนเมื่อ |
:
8 พ.ค. 54 01:39:33
|
|
|
|
 |