ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร
ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับ มหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า
ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย
ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้
เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค (ส่วนเสี้ยว)
ภิกษุ ท. ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น :
สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย สัตว์ที่เกิดกลับมาเป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่
อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ
อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
ทุกข์เป็นอย่างนี้
เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ดังนี้
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.
ภิกษุ ท. ! ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด
บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอก(ไม้ไผ่ ?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น
ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก, ลมตะวันตกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก,
ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไปทางทิศใต้, ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ, อยู่ดังนี้
ในน้ำนั้น มีเต่าตัวหนึ่ง ตาบอด ล่วงไปร้อย ๆ ปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ๆ
ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร
จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้นสักครั้งหนึ่ง
จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?
ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปี
ผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น
ภิกษุ ท. ! ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน
ที่ใคร ๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์
ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้นในโลก
ที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองไปทั่วโลก
ภิกษุ ท. ! แต่ว่า บัดนี้ ความเป็นมนุษย์ ก็ได้แล้ว;
ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว;
และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำโยคกรรม เพื่อให้รู้ว่า
นี้ ทุกข์
นี้ เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ ความดับแห่งทุกข์
นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้ เถิด
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘/๑๗๔๔
นำทั้ง ๒ พระสูตรนี้มาฝาก ท่าน ท. พึงเป็นผู้มีความไม่ประมาทในการใช้ชีวิตอยู่เถิด...