Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คนฝึกกสิน เขาขึ้นวิปัสสนากันยังไง ??? ติดต่อทีมงาน

เพื่อนถามมาหลังบ้าน ขอตอบหน้าบ้านเพราะเขียนได้เยอะดี เพื่อนคงไม่ว่าอะไร.. และเผื่อคนอื่นอ่านด้วย หรือเข้ามาตอบด้วยนะคะ แบ่งปันกันนะ..

---
คุณ chaosy ครับ

เห็นว่าไปกราบพระอาจารย์ใหญ่บ่อยๆ ไม่ทราบว่า พอจะกราบเรียนถามท่านให้หน่อยได้ไหมครับ ว่า พวกที่เขาฝึกกสิณมาเนี่ย เขาจะขึ้นวิปัสนากันยังไงครับ

ผมไม่ได้ฝึกมาทางนี้ แต่สงสัยอยู่น่ะครับ เพราะวิปัสนา ต้องมารู้กายรู้ใจ แยกรูป แยกนาม แต่พวกฝึกกสิณ จะเอาวัตถุมาเป็นอารมณ์ซึ่งไม่ได้โยงกับกายใจเลย
--------


ตอบ..  

1. การฝึกกสิน เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งใน 40 กอง  กสินมี 10 อย่าง เรียกว่ากสิน 10  หลักการฝึกกสิน ก็เหมือนการฝึกสมาธิ ฝึกสมถะ คือฝึกเพ่ง

เพ่งอะไร ก็เพ่งรูป  รูปกสิน ซึ่งเป็นของนอกตัว แต่ก็เป็นธรรมชาติ เป็นของที่มีอยู่ในธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ สีต่างๆ  ถึงจะอยู่นอกตัว แต่ก็เป็นวัตถุธาตุ ที่จริงตัวเราก็เป็นวัตถุธาตุอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ตัวเรามีรูปนาม  ธรรมชาติอื่นๆ ก็มีรูปกับนามเหมือนกัน  เกิดได้ดับได้เหมือนกัน

กรรมฐาน 40 เป็นอุบาย 40 วิธีที่ใช้ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ก็คือสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด เพื่อชักนำให้เกิดสมาธิ พอจิตกำหนดจับสิ่งนี้เข้าแล้ว จะชักนำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งนี้ จนเป็นสมาธิได้มั่นคงและเร็วที่สุด (จากวิกิ)

การบริกรรมพุทโธ ก็เป็นอนุสติ 10  เมื่อแรกๆ ก็บริกรรมให้จิตเกาะพุทโธ ต่อมาพุทโธก็หายเหมือนกัน จิตตั้งมั่นได้เอง ก็ไม่ต้องอาศัยพุทโธ

กสินก็ function เดียวกับ พุทโธค่ะ ถึงจุดหนึ่งจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็เลิกยึดรูปกสิน..


2. ตอนฝึกกสิน เขาไม่ได้ฝึกวิปัสสนา เขาฝึกสมถะ ให้ได้สมาธิ

กสินนี้ เทียบกับฌานได้ คือ ตอนเพ่งแรกๆ รูปยังไม่เป็นนิมิตติดตา อันนั้นเป็นขณิกะสมาธิ  ต่อมาเกิดภาพนิมิตติดตา หลับตาลืมตาเห็น เรียกว่าอุคนิมิต  อันนี้เทียบได้กับอุปจารสมาธิ  คือจิตต้องมีสมาธิขั้นอุปจาระ จึงจะจับภาพกสินได้ชัดเจน

ต่อมาภาพที่ปรากฏชัดนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก ตามกำลังของสมาธิ ก็จะเรียกว่าปฏิภาคนิมิตคือย่อขยายได้ เกิดการแปรสภาพจนถึงที่สุด มีความสวยงามมาก เช่นใสเป็นสีแก้วประกายพรึก อย่างนี้ คือจิตเป็นอัปปนาสมาธิ

เทียบได้กับฌาน 4 ได้ปฏิภาคนิมิค คือได้ฌาน 4  จิตมีกำลัง จะอธิษฐานฤทธิ์ได้ ในแง่ของกสิน คืออธิษฐานกสินได้ ตั้งรูป เพิกรูปได้ ย่อขยาย ได้ดังใจต้องการ เป็นความชำนาญ เป็นนวสี

ต่อจากนั้นเอาสมาธิที่ได้ไปฝึกวิชชาต่อ จะเอาอะไรก็ฝึกกันไป.. บางคนฝึกกสินไฟก็ชำนาญขนาดสั่งให้ไฟลุกได้ อันนั้นก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่วิปัสสนาแน่นอน.. เหมือนแยกทางไปเลย..


กสินนี้เมื่อเลิกฝึก ก็เสื่อม..  เมื่อได้จบแล้ว 1 กอง ก็คือจบ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น..  นิมิตหรือวิชชาก็ไม่พ้นกฏไตรลักษณ์ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป..



3. คนที่ฝึกกสิน แล้วไม่สนใจวิชชา ไม่ค่อยมี

ส่วนคนที่จะเดินปัญญา จะทำวิปัสสนา เขาไม่เสียเวลามาฝึกกสินกัน  

แต่บางคนฝึกกสินแล้วจะทำวิปัสสนาต่อ ก็ย่อมทำได้ เช่นเดียวกับคนที่ฝึกฌาน  เมื่อได้ฌาน 4 แล้ว ก็จะมาเดินปัญญา  

เท่าที่ทราบสายที่ศึกษามา จะถอยลงมาอยู่ระหว่างฌาน 3 กับ 4 แล้วพิจารณาธรรม  กสินเช่นกัน ได้กสินแล้ว 1 กอง ไม่ฝึกวิชชาต่อ เดินปัญญาเลย  สมาธิที่มีอยู่ก็เพียงพอที่จะเดินปัญญา ก็แค่ไม่ตั้งรูปกสิน เข้าสมาธิไปเฉยๆ ก็คือทำฌาน แล้วก็เดินปัญญา

-- บูรพาจารย์เช่นหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านก็สอนไว้ชัดเจนค่ะ
http://www.palungjit.com/smati/k40/kasin10.htm


4.  อาจารย์เราองค์นึง แนะนำเพื่อนบางคนที่ไปปรึกษาเรื่องทำสมาธิไม่ค่อยได้ ฟุ้งซ่านคิดมาก  ท่านแนะนำให้ลองฝึกกสินแสงสว่าง เอาไฟฉายฉายผนังแล้วดูภาพ ฝึกกสิน ท่านบอกว่าจะทำให้เป็นสมาธิได้เร็วขึ้น เพราะเวลามีภาพนิมิตติดตา มันจะสงบ และรู้สึกปีติ  ผ่อนคลาย  จากนั้นก็ให้ทำสมาธิต่อไปเลย  คือฝึกกสินเพื่อเป็นไดสตาร์ท หรือจุดเริ่มต้นของการทำสมาธิเท่านั้น พอจิตเริ่มเป็นอุปจาระสมาธิ ก็นั่งสมาธิต่อไป  จนอิ่มก็ออกมาพิจารณา เดินปัญญา อะไรก็ว่าไป..    คืออันนี้เขาไปปรึกษาว่าทำสมาธิไม่ได้ ฟุ้งทำไงดี ท่านก็แนะว่า ลองใช้กสินช่วย  เพื่อเพิ่มคุณภาพของสมาธิ  (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเสียเวลาฝึกให้จบทั้งกอง)


5. ส่วนตัวเรา ครั้งนึงอยากฝึกกสิน ท่านบอกว่าให้ฝึกสมาธิ ทำฌานดีกว่า ได้ฌานแล้ว จะไปฝึกเพ่งกสิน ก็ง่าย วันเดียวได้  จะไปนั่งเพ่งทำไมให้ปวดตา..  ท่านบอกว่าฝึกฌานได้ทำฌานดีกว่า เมื่อได้ฌานแล้วอยากฝึกกสินจริงๆ ก็มาฝึกทีหลังได้  แต่เราไม่ได้ฝึกหรอก แค่อยากเล่นๆ  ส่วนกสินที่ได้มาแบบของเก่า ก็เอาไว้ใช้แค่ช่วยทำสมาธิ แก้เซ็ง หรือต้องการกำลังจิตก็เพ่งไฟ มองพระอาทิตย์แว๊บนึง ก็เข้าสมาธิแล้ว รูปก็ดับ ก็ทำสมาธิต่อเลย

ที่จริงกสินก็เป็นอย่างหนึ่งที่มีไตรลักษณ์แสดงให้เห็นได้เช่นกัน คือเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็เปลี่ยนแปลงลักษณะไป เหมือนกับอย่างอื่น


6.  อาจารย์เราสอนวิปัสสนา แค่ รู้แล้วละ.. คือมีตัวรู้ ผู้รู้ ก็อยู่กับผู้รู้ เกิดอะไรขึ้นก็รู้ ไม่ได้คิดอะไรต่อเลย  อยู่ที่ว่าอะไรเข้ามาเฉพาะหน้า ก็รู้  รู้แล้วก็ละ..   มันเลยแยกขาดชัดเจนว่า ว่างทำสมถะ อยากสบายทำสมถะ ออกจากสมถะ มีอะไรจรเข้ามาให้รู้ ก็รู้แล้วละ..  ผัสสะอารมณ์กระทบ ก็รู้แล้วละ

ไม่เคยเอาสภาวะธรรม หรือหัวข้อธรรมอะไรมาตั้งเลยทำไม่เป็น ตอนแรกที่ฝึกภาวนา ทำวิปัสสนาอย่างเดียว พิจารณาทุกข์ที่กระทบเข้ามา (ช่วงนั้นทุกข์เยอะพอดี เวลาเจอทุกข์ ธรรมที่ได้อ่านได้ฟังมา ก็เด้งขึ้นมาสอน)

ต่อมาจึงได้หัดทำฌาน หัดทำสมาธิ พอเลิกทำสมาธิ ออกมาเจอโลก ก็เรียนรู้จากโลก จากชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกข์เพียบ  

เมื่อได้สมาธิ เลยรู้จักจิต เห็นจิตว่างั้นเถอะ  ก็ดูจิตไป มีอะไรมากระทบก็ดูที่จิต จะดูเงาดูอาการของจิตอะไรก็ตาม มันก็แสดงไตรลักษณ์ให้เห็นตามที่เขาว่าๆ กัน

เวลาทำสมาธิอยู่ มันมีเวทนา ก็ดูเวทนา มันมีอะไรฟุ้งสังขารปรุง ก็ดูมันไป

ก็น่าจะเหมือนกับคนอื่นที่ทำๆ กันค่ะ

ถึงตรงนี้ กสินไปไหนแล้วไม่รู้..  หมดหน้าที่มั้ง..

สรุป กสินเป็นกรรมฐานให้จิตมีที่ยึดเกาะ จนเกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิแล้ว กสินก็หมดหน้าที่ค่ะ..

เวลาจะเดินปัญญา เอาสมาธิมาเป็นบาทฐาน.. เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วสติก็ดี ทุกอย่างคมชัด เห็นเกิดเห็นดับได้ชัดซึ่งๆ หน้า..


ไม่รู้ตอบได้ละเอียดพอรึเปล่า ถ้ายังสงสัยอยู่ถามได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็จะไปถามพระอาจารย์ให้ค่ะ..

แก้ไขเมื่อ 09 ก.ค. 54 00:14:52

จากคุณ : chaosy
เขียนเมื่อ : 9 ก.ค. 54 00:13:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com