Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อนุสาสนีปฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์อันเลิศ ติดต่อทีมงาน

ในปาฏิหาริย์ 3 อย่าง พระพุทธเจ้าทรงโปรดอนุสาสนีปฏิหาริย์กว่าปาฏิหาริย์อื่นอีกสองอย่าง เพราะอะไร ?
เพราะไม่ใช่ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา และไม่จำเป็นสำหรับการเข้าถึงพระพุทธศาสนา
สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเกิดของพระพุทธศาสนา และเป็นตัวพระพุทธศาสนาคือความรู้ที่ทำให้ดับกิเลสดับทุกข์ได้
เรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า อาสวักขยญาณ แปลว่า ญาณที่ทำอาสวะให้สิ้นไป
แต่มนุษย์จะสนใจปาฏิหาริย์ข้อ 1- 2 มากว่า


ปาฏิหาริย์ 3 อย่างดังนี้

1. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คือ การแสดงฤทธิ์ต่างๆ

2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คือ การทายใจคนอื่นได้

3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คือ คำสอนที่เป็นจริง สอนให้เห็นจริงและนำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง

การปฏิบัติตามหลักการและการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นไปได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือวิสัยและอิทธิปาฏิหาริย์เลย พึงอ้างพุทธพจน์นี้

พระพุทธเจ้า: นี่แน่ะสุนักขัตต์ เธอเข้าใจว่าอย่างไร ? เมื่อเราทำอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นธรรมของมนุษย์ยิ่งยวดก็ตาม ไม่ทำก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้ว เพื่อประโยชน์มุ่งหมายใด จะนำออกไปเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น คือ ความหมดสิ้นทุกข์โดยชอบได้หรือไม่ ?

สุนักขัตต์: พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมของมนุษย์ที่ยิ่งยวดก็ตาม ไม่กระทำก็ตาม ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อประโยชน์มุ่งหมายใด ก็ย่อมจะนำออกไปเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น คือ ความหมดสิ้นทุกข์โดยชอบได้


1.อิทธิปาฏิหาริย์:“บางท่านประกอบฤทธิ์ต่างๆ ได้มากมายหลายอย่าง คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ใช้มือจับต้องลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีกำลังฤทธิ์เดชมากมายถึงเพียงนี้ก็ได้ ใช้อำนาจทางกายจนถึงพรหมโลกก็ได้”

2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ “ภิกษุย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความไตร่ตรองของสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ อย่างนี้ว่า ตามเกวัฏฏสูตรในทีฆนิกาย

แต่ในที.ปา.11/78/112 ฯลฯ ให้ความหมายละเอียดออกไปอีกว่า “บางท่านทายใจได้ด้วยสิ่งที่กำหนดเป็นเครื่องหมาย (นิมิต) ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ถึงหากเธอจะทายเป็นอันมาก ก็ตรงอย่างนั้นไม่พลาดเป็นอื่น

บางท่าน ไม่ทายด้วยสิ่งที่กำหนดเป็นเครื่องหมายเลย แต่พอได้ฟังเสียงของมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาแล้ว ก็ทายใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้...
บางท่านไม่ทายด้วยนิมิต ไม่ฟังเสียง...แล้วจึงทาย แต่ฟังเสียงวิตกวิจารของคนที่กำลังตรึกกำลังตรองอยู่ ก็ทายใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้...
บางท่านไม่ทายด้วยนิมิต ไม่ฟังเสียง...แล้วจึงทาย แต่ใช้จิตกำหนดใจของคนที่เข้าสมาธิซึ่งไม่มีวิตกไม่มีวิจารแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้อย่างไร ต่อจากความคิดนี้แล้ว ก็จะคิดความคิดโน้น ถึงหากเธอจะทายมากมาย ก็ตรงอย่างนั้น ไม่พลาดเป็นอื่น”

(อาเทศนาปาฏิหาริย์นี้ ดูคล้ายเจโตปริยญาณหรือปรจิตตวิชานน์ แต่ไม่ตรงกันทีเดียว เพราะยังอยู่ในขั้นทาย ยังไม่เป็นญาณ)


3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ “บางท่านย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด”

(เฉพาะในเกวัฏฏสูตร ในทีฆนิกาย อธิบายเพิ่มเติมโดยยกเอาการที่พระพุทธเจ้าอุบัติในโลกแล้วทรงสั่งสอนธรรม ทำให้คนมีศรัทธาออกบวชบำเพ็ญศีล สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะ สันโดษ เจริญฌาน บรรลุอภิญญาทั้ง 6 ซึ่งจบลงด้วยอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ ว่าการสอนได้สำเร็จผลอย่างนั้นๆ ล้วนเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์)



ในสมัยพุทธกาล เคยมีบุตรคฤหบดีผู้หนึ่ง ทูลให้พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เขากราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้เจริญรุ่งเรือง มีประชาชนมาก มีผู้คนกระจายอยู่ทั่ว ต่างเลื่อมใสนักในองค์พระผู้มีพระภาค ขออัญเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดทรงรับสั่งพระภิกษุไว้สักรูปหนึ่ง ที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมเหนือมนุษย์ โดยการกระทำเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้ ก็จักเลื่อมใสยิ่งนักในองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าสุดที่จะประมาณ”

พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบบุตรคฤหบดีผู้นั้นว่า

“นี่แน่ะเกวัฏฏ์ เรามิได้แสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลายพวกเธอ จงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมเหนือมนุษย์แก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์”


พระองค์ได้ตรัสแสดงเหตุผลต่อไปว่าในบรรดาปาฏิหาริย์ 3 อย่างนั้น
ทรงรังเกียจ ไม่โปรดไม่โปร่งพระทัยต่ออิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ เพราะทรงเห็นโทษว่า คนที่เชื่อก็เห็นจริงตามไป

ส่วนคนที่ไม่เชื่อได้ฟังแล้ว ก็หาช่องขัดแย้งคัดค้านเอาได้ว่า ภิกษุที่ทำปาฏิหาริย์นั้นคงใช้คันธารีวิทยา และมณิกาวิทยา ทำให้คนมัวทุ่มเถียงทะเลาะกันและได้ทรงชี้แจงความหมายและคุณค่าของอนุสาสนีปาฏิหาริย์ได้เห็นว่า เอามาใช้ปฏิบัติเป็นประโยชน์ประจักษ์ได้ภายในตนเองจนบรรลุถึงอาสวักขัยอันเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา

นอกจากนั้น ยังได้ทรงยกตัวอย่าง ภิกษุรูปหนึ่งมีฤทธิ์มาก อยากจะรู้ความจริงเกี่ยวกับจุดดับสิ้นของโลกวัตถุธาตุ จึงเหาะเที่ยวไปในสวรรค์ ดั้นด้นไปแสวงหาคำตอบจนถึงพระพรหม ก็หาคำเฉลยที่ถูกต้องไม่ได้
ในที่สุดต้องเหาะกลับลงมาแล้วเดินดินไปทูลถามพระองค์เพื่อความรู้จักโลกตามความเป็นจริง และถึงความที่อิทธิปาฏิหาริย์มีขอบเขตจำกัด อับจนและมิใช่แก่นธรรม


พระพุทธเจ้าได้ตรัสปาฏิหาริย์ 3 อย่าง คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ในที่สุดได้ตรัสถามพราหมณ์ว่า ชอบใจปาฏิหาริย์อย่างไหน ปาฏิหาริย์ใดดีกว่า ประณีตกว่า

พราหมณ์ได้ทูลตอบว่า อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ คนใดทำ คนนั้นจึงรู้เรื่อง คนทำได้ก็เป็นของคนนั้นเท่านั้น มองดูเหมือนเป็นมายากล อนุสาสนีปาฏิหาริย์จึงจะดีกว่า ประณีตกว่า* คนอื่นพิจารณารู้เข้าใจ มองเห็นความจริงด้วยและนำไปปฏิบัติได้ แก้ทุกข์แก้ปัญหาได้
........
* ดู องฺ.ติก.20/500/217-220

 
 

จากคุณ : ปทุมฉัตรสหัสรังษี
เขียนเมื่อ : 22 ก.ค. 54 12:39:58




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com