Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
แก้กรรมด้วยการกำหนด ติดต่อทีมงาน

 

คำสอนของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
จากหนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม 4

เรื่องแก้กรรมด้วยการกำหนด

เจริญสุขญาติโยมพุทธบริษัท ญาติโยมได้มาพร้อมใจกันสวดมนต์ไหว้พระเจริญกุศลภาวนาตามลำดับ แล้วจงอโหสิกรรมแก่ท่านสาธุชน และหมู่กรรมทั้งหลายให้มารับเวรรับกรรม รับภัยที่เราขออโหสิกรรม จะได้หมดเวรหมดกรรมหมดภัยหมดโทษ และเราก็จะโฉลกดีเป็นเบื้องต้น การสวดมนต์เป็นนิจนี้ มุ่งให้จิตแนบสนิทติดในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ จิตใจจะสงบเยือกเย็นเป็นบัณฑิต มีความคิดสูง ทิฏฐิมานะทั้งหลายก็จะคลายหายไปได้ เราจะได้รับอานิสงส์เป็นผลของตนเองอย่างนี้จากสวดมนต์เป็นนิจ

การอธิษฐานจิตเป็นประจำนั้น มุ่งหมายเพื่อแก้กรรมของผู้มีกรรม จากการกระทำครั้งอดีตที่เรารำลึกได้ และจะแก้กรรมในปัจจุบันเพื่อสู่อนาคต ก่อนที่จะมีเวรมีกรรม ก่อนอื่นใด เราทราบเราเข้าใจแล้ว โปรดอโหสิกรรมแก่สัตว์ทั้งหลาย เราจะไม่ก่อเวรก่อกรรมก่อภัยพิบัติ ไม่มีเสนียด[^_^]ติดตัวไปเรียกว่า เปล่า ปราศจากทุกข์ ถึงบรมสุข คือนิพพานได้ เราจะรู้ได้ว่ากรรมติดตามมา และเราจะแก้กรรมอย่างไร ในเมื่อกรรมตามมาทันถึงตัวเรา เราจะรู้ตัวได้อย่างไร เราจะแก้อย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องที่แล้ว ๆ มา นี่ข้อหนึ่ง

ข้อสอง แก้แล้วเราจะรับกรรมหรือไม่ และเราจะสร้างเวรกรรมใหม่ประการใด และจะแก้กรรมอย่างไรในอนาคต เผื่อเป็นผู้โชคดี เป็นผู้มีกรรมดีในอนาคต ชีวิตต่อไปในเบื้องหน้า เราไม่สามารถจะทราบได้ จะทราบได้ด้วยวิธีเดียวคือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ การปฏิบัติให้มีสติสัมปชัญญะ โยคีผู้บำเพ็ญเพียรจะรู้ได้ จะทราบด้วยญาณวิถีของตนเป็นปัจจัตตัง คำว่า ญาณวิถีของตน นั้นหมายความว่า ความรู้ให้เกิดผล ได้อานิสงส์ เป็นผู้มีปัญญา ปรีชาสามารถ เฉลียวฉลาดในการปฏิบัติธรรม แก้กรรมได้ และกรรมนั้นจะไม่สงผลในอนาคตข้างหน้าได้แน่นอน ผู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง แก้กรรมได้ ผู้นั้นต้องเจริญสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติด่านกายของตน กายนอกกายในภายในจิต กายทิพย์ ทิพยอำนาจของใจ ได้มาเป็นกายทิพย์ ทิพย์นี่หมายความว่าภายนอกภายใน รู้ภายในใจ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาข้อที่หนึ่ง หมายความว่า ผู้ปฏิบัตินั้นรู้กายในกาย คือรู้สักแต่ว่ากายไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีกายอยู่ในตัวตน จิตจะได้รู้ว่าการที่กายเคลื่อนย้ายไหวติงประการใด มันอยู่ที่ใจทั้งหมด จิตก็กำหนดยืน เดิน นั่ง นอน จะเหลียวซ้ายแลขวา คู้เหยียด เหยียดขา จะมีสติสัมปชัญญะควบคุมดูแลกาย เมื่อจิตผ่องใสใจสะอาดบริสุทธิ์จึงเรียกว่า กายในกาย ภายในจิตผ่องใส ภายนอกจิตผ่องใส

ภายนอก กายจะเคลื่อนย้าย มันก็เคลื่อนอย่างช้า ๆ มี ๓ ระยะ เคลื่อนไปทางไหนก็มีจังหวะจะยืนเดินนั่งนอนอันใด ก็มีจังหวะมีระเบียบมีวินัย มีสังขารปรุงแต่ง เกิดกาย เรียกว่า กายทิพย์ เพราะเรามีจิตเป็นกุศล สมาธิก็ดี สติก็ดี ควบคุมจิตไว้ดีแล้ว จะรู้กายในกาย รู้กายในกายนี้ จะรู้ได้ด้วยตัวกำหนด เช่น ยืนหนอ ๕ ครั้ง เป็นต้น จะรู้กายภายนอก สภาวธรรมอยู่ภายใน จิตใจก็ดีเยือกเย็น สติก็ควบคุมไวได้อย่างดี เราก็เป็นผู้มีปัญญา จิตก็ใสใจก็สะอาดหมดจด เรียกว่าบริสุทธิ์

ในเมื่อจิตเข้าขั้นบริสุทธิ์แล้ว เราจะรู้ว่าใจของเราเป็นประการใด มันอยู่ภายในจิต เรียกว่ากายในกาย จะรู้แจ้งแก่ใจของเรา เช่น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กายนอกดูความเคลื่อนย้ายของสกนธ์กาย เรียกว่า สภาวรูป รูปเคลื่อนย้ายและโยกคลอนได้ เคลื่อนไปที่ไหน มันก็ดับที่นั่น จิตใจก็เข้าไปรู้ในภายใน รูปกับนามก็แยกออกไป นี่แหละกายภายนอก และกายภายใน จิตใจก็รู้เรียกว่า นามธรรม

คำว่า นามธรรม ในที่นี้คือจิตที่ลึกซึ้ง รู้ว่ากายเคลื่อนไหว มีมารยาท มีวินัยดี กายก็เคลื่อนย้ายโดยสภาวะ สนุทรวาจาก็กล่าวไพเราะ เหมาะเจาะด้วยเหตุและผลข้อเท็จจริงทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากจิต เพราะจิตเป็นหัวหน้า มันจะสั่งให้กายเคลื่อนย้ายไปหยิบอะไรก็ได้ ในเมื่อกายในถึงที่แล้ว แยกรูปแยกนามออกได้แล้ว ก็เรียกว่า นามธรรม นามธรรมตัวนี้แปลว่า ตัวรู้ ตัวเข้าใจ ตัวมีเหตุมีผล เพราะจิตของผู้ปฏิบัติประกอบด้วยสติปัฏฐาน ๔ มีสติดี ควบคุมจิตไว้ได้ จึงจะรู้แจ้งแห่งจิต เรียกว่า กายในกาย กายภายใน คนที่มีสติดี มีสัมปชัญญะ รู้ตัว รู้ทั่ว รู้นอกรู้ใน และรู้ว่าผิดหรือว่าถูก รู้เข้าใจ รู้แจ้งแห่งจิต รู้เหตุผลต้นปลายทุกประการแล้ว อย่างนี้เรียกว่ากายในกายมันจะเกิดทิพยอำนาจเกิดกายทิพย์

กายทิพยหมายความว่า สภาพสกนธ์กาย คือ สภาวะรูป รูปเคลื่อนย้ายเกิดขึ้น แล้วแปรปรวน แล้วดับไป แล้วก็เข้ามาถึงจิตใจเราว่า อ๋อนามธรรม จิตนี้มันก็เป็นนามธรรม มีคุณสมบัติอยู่ข้อหนึ่ง คือ รู้กายในกาย รู้ภายในจิต จะเคลื่อนย้ายไปทางไหนก็รู้ จะคู้เหยียดประการใด มันจะมี ๓ ระยะ แต่ ๓ ระยะนั้นมันจะบอกชัด ไปในกายของตนว่า จะเคลื่อนอย่างนี้ จะหยิบแก้วน้ำ ก็มีระเบียบ ไม่มีเสียงดัง เพราะคนนั้นรู้นามธรรม มีสติควบคุมจิต และก็เคลื่อนย้ายไปอย่างละเอียดอ่อน จะวางช้อน จาน หม้อ ไห ก็เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างนี้เรียกว่า กายในกาย รู้กายเคลื่อนย้าย จะหยิบอะไรก็หยิบหนอ เคลื่อนมาช้า ๆ แล้ววางหนอ อย่างนี้เรียกว่ารู้ภายใน

ความรู้ในภายในตัวนี้เรียกว่า รับรู้ เพราะมีสติดีมีสัมปชัญญะดีแล้ว ความรู้ตัวนั่นแหละ เป็นการรู้ในภายใน รู้เข้าใจ รู้ความถูกต้อง รู้กาลเทศะ รู้อย่างนี้จึงเป็นการถูกต้อง เรียกว่า กายทิพย์ กายทิพย์ นี้หมายความว่า มีรูปสภาวจิต มีจิตสภาวะ มีสติควบคุมเคลื่อนย้ายได้ในสภาวรูปเรียกว่า กายนอก รู้ภายในบริสุทธิ์ว่าจะเคลื่อนย้ายรูปไปอย่างไร จะหยิบอะไรจะมีระเบียบ มีวินัย จะต้องตั้งไว้ที่ไหน ถูกต้องประการใด อย่างนี้เรียกว่ากายภายใน

 
 

จากคุณ : nu_aorr
เขียนเมื่อ : 18 ส.ค. 54 14:49:55




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com