Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เรื่อง เหตุให้เกิดและเจริญ แห่งอาทิพรหมจริยิกปัญญา อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๙๑๖ ติดต่อทีมงาน

ภิกษุทั้งหลาย! เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการ เหล่านี้มีอยู่ เพื่อการได้ซึ่งปัญญาเฉพาะซึ่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกา (ปัญญาที่ต้องมีในเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์) ที่ยังไม่เคยได้, เป็นไปพร้อมเพื่อความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความทำให้เจริญ ความเต็มรอบ แห่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกาที่ได้แล้ว, แปดประการอย่างไรเล่า? แปดประการคือ :-
๑. ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัยซึ่งพระศาสดา หรือเพื่อน สพรหมจารีผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพรูปใดรูปหนึ่ง อันเป็นที่ซึ่งหิริและโอตตัปปะ ความรักและความเคารพของภิกษุนั้นจะตั้งอยู่อย่างแรงกล้า ภิกษุทั้งหลาย! นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่หนึ่ง.
๒. ภิกษุนั้น ครั้นเข้าไปอาศัยซึ่งพระศาสดา หรือเพื่อน สพรหมจารีผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพรูปใดรูปหนึ่ง จนกระทั้ง หิริและโอตตัปปะ ความรักและความเคารพของภิกษุนั้นจะตั้งอยู่อย่างแรงกล้าแล้ว เธอนั้นก็เข้าไปซักไซ้ สอบถามปัญหา ตามกาละอันควรว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ข้อนี้เป็นอย่างไร? ความหมายแห่งข้อนี้เป็นอย่างไร? ดังนี้. ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมเปิดเผย สิ่งที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื้น สิ่งที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น ย่อมบรรเทาความสงสัย ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่างๆ แก่ภิกษุนั้น, ” ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เป็นเหตุปัจจัยประการที่สอง.
๓. ภิกษุนั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว ย่อมทำตนให้ถึงพร้อมด้วยการหลีกออก ๒ อย่าง คือ การหลีกออกทางกาย และ การหลีกออกทางจิต, ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เป็นเหตุปัจจัยประการที่สาม.
๔. ภิกษุนั้น เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ที่ถือกันว่าเป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย, ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เป็นเหตุปัจจัยประการที่สี่.
๕. ภิกษุนั้น เป็นพหูสูต ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว สั่งสมธรรมที่ฟังแล้ว, ธรรมเหล่าใด มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด แสดงพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง, ธรรมเหล่านั้น อันเธอนั้นได้ฟังมามากแล้ว จำได้ ว่าได้ คล่องแคล่วด้วยวาจา มองเห็นตามด้วยใจ เจาะแทงตลอดอย่างดีด้วยความเห็น, ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เป็นเหตุปัจจัยประการที่ห้า.
๖. ภิกษุนั้น เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง (จิต) มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่, ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เป็นเหตุปัจจัยประการที่หก.
๗. ภิกษุนั้น ไปสู่หมู่สงฆ์แล้ว ไม่พูดเรื่องนอกเรื่อง ไม่กล่าวดิรัจฉานกถา กล่าวธรรมเองบ้าง เชื้อเชิญผู้อื่นให้กล่าวบ้าง ไม่ดูหมิ่นความนิ่งอย่างพระอริยเจ้า, ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เป็นเหตุปัจจัยประการที่เจ็ด.
๘. ภิกษุนั้น มีปกติตามเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดรูป เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูป เป็นอย่างนี้; เวทนาเป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดเวทนา เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา เป็นอย่างนี้; สัญญาเป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดสัญญา เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งสัญญา เป็นอย่างนี้; สังขารเป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดสังขาร เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งสังขาร เป็นอย่างนี้; วิญญาณเป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดวิญญาณ เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งวิญญาณ เป็นอย่างนี้” ดังนี้, ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เป็นเหตุปัจจัยประการที่แปด.
ภิกษุทั้งหลาย! เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการเหล่านี้แล มีอยู่ เพื่อการได้เฉพาะซึ่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกา (ปัญญาที่ต้องมีในเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์) ที่ยังไม่เคยได้, เป็นไปพร้อมเพื่อความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความทำให้เจริญ ความเต็มรอบ แห่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกาที่ได้แล้ว.

จากคุณ : light pad
เขียนเมื่อ : 2 ก.ย. 54 21:22:11




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com