Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
พุทธ(ะ)วงศ์มีหนึ่งเดียว...จากเถรวาท(ะ)...สู่อาจาริยวาท(ะ)แห่งเถรวาท ติดต่อทีมงาน

 สมาชิกแต่ละท่านมีความเห็นกันอย่างไรบ้างครับต่อประเด็นอาจาริยวาทแห่งเถรวาท เช่นเรื่อง การสวดพระปาฏิโมกข์ 150/227 การถวายเงินพระ อุเทสิกเจดีย์(พระพุทธรูป)

ยกตัวอย่างเช่น

1. การสวดปาฏิโมกข์จาก 227 เหลือเพียง 150 สิกขาบท – ที่ได้รับแนวคิดสมมติฐานมาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สืบมาถึงท่านพระอาจารย์พุทธทาส จนมาถึงวัดนาป่าพง

 

ตามความเห็นของผม หากดูสภาพแวดล้อม/บรรยากาศเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสมัยนั้นของสมเด็จฯท่าน นับเป็นช่วงรอยต่อที่เกิดธรรมยุติกนิกายขิ้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจัดระบบระเบียบข้อประพฤติของพระภิกขุอย่างยิ่ง เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของพระภิกขุ ให้มีความถูกต้องและเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระภิกขุมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในส่วนที่บกพร่องของพระภิกขุไทยที่มีมาแต่โบราณ ให้สมบูรณ์ทั้งพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก

 

ในความเห็นผมว่า บรรยากาศในขณะนั้นสมเด็จฯ ท่านทรงสันนิษฐานแล้วว่า การสวดปาฏิโมกข์มีเพียง 150 สิกขาบท แต่คำถามทำไมพระองค์ท่านจึงไม่เปลี่ยนแปลง??? ในเมื่อสภาพแวดล้อมของสมัยพระองค์ท่านสามารถจัดการเปลี่ยนแปลงได้

 

เหตุผลใดพระองค์ท่านจึงไม่ประกาศให้พระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑลสวดปาฏิโมกข์เพียง 150 ข้อเป็นเรื่องที่น่าคิดอย่างยิ่ง

 

หรือมีพระสงฆ์ผู้ทรงรอบรู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกท่านใด หรือมีราชบัณฑิตนักปราชญ์คนใดถวายคำอธิบายแด่พระองค์ท่าน หรือเพราะจริงๆแล้ว พระองค์ท่านเพียงทรงสันนิษฐาน เพราะในบางประเด็นนั้นยังไม่ชัดเจน เรื่องช่วงระยะเวลาการบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อตั้งแต่ปฐมบัญญัติจนถึงสิกขาบทข้อสุดท้ายในพระปาฏิโมกข์ เรื่องนี้ก็ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม หากมีคณะใดจะศึกษาเพื่อให้ถูกต้องตามพุทธวจนก็จะเป็นธรรมทานอันดียิ่งแก่บวรพุทธศาสนาทั่วสากลโดยเฉพาะเถรวาทวงศ์

 

หรือสมเด็จฯท่านทรงเคารพในมติของพระอรหันต์ชุดแรกเมื่อครั้งปฐมสังคายนา เหมือนกับท่านพระอาจารย์พุทธทาส

 

กราบขอประทานอภัยแด่องค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสฯ โทษของเกล้าฯอันใดที่ได้คาดเดาพระดำริผิดไปจากพระประสงค์ขอจงอดโทษให้แก่เกล้าฯด้วยเถิด 

 

หรือตามความเห็นของท่านพระอาจารย์พุทธทาสก็สันนิษฐานว่า

 

“อาจจะเพิ่มเข้ามาภายหลังแต่พุทธปรินิพพานก็ได้ โดยเฉพาะคือเมื่อร้อยกรองพระไตรปิฎกครั้งทำสังคายนาครั้งใดครั้งหนึ่ง ท่านเหล่านั้นได้นำสิกขาบทอื่นๆ ที่ได้ทรงบัญญัติไว้ แต่ไม่ได้นับรวมเข้าในปาติโมกข์มานับรวมเข้าในปาติโมกข์อีก 77 สิกขาบท จะสิกขาบทใดบ้าง ไม่มีหลักฐานในบาลี”

 

และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าถามว่า ในบัดนี้เราควรแก้ไขตัดทอนเพิ่มเติมจำนวนสิกขาบทในปาติโมกข์ที่สวดกันหรือไม่ ก่อนแต่จะตอบ ควรคิดดูว่าครั้งแรกที่สุดทรงแสดงปาติโมกข์ด้วยหลักธรรมแก่ผู้ฟังซึ่งเป็นพระอรหันต์ล้วน (ในที่นี้น่าจะหมายถึงโอวาทปาฏิโมกข์ที่เรารู้จักกันอันเนื่องด้วยวันมาฆบูชา-ผู้เขียน) ต่อมามีการแสดงด้วยสิกขาบท 150 ข้อ ทั้งเชื่อว่ากว่าจะถึง 150 ข้อนั้น คงมีที่แสดงด้วย 50 ข้อ 100 ข้อ มาบ้างแล้ว หรือที่แสดงไม่มีจำนวนข้อจำกัด เช่นแสดงเหมือนบาลีสามัญญผลสูตร เป็นต้น ก็คงมี

 

แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายท่านพระอาจารย์พุทธทาสเองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงยังคงสวดปาฏิโมกข์ 227 ข้อ เพราะเคารพในมติของเถรวาท ดังตอนที่พระประชา ปสนฺนธมฺโม เป็นผู้สัมภาษณ์ท่านพระอาจารย์พุทธทาส ดังนี้

ถาม : “อาจารย์ครับ ในตามรอยพระอรหันต์ บางตอนนี้ ดูเหมือนกับอาจารย์คิดว่าน่าจะเปลี่ยนศีล ๒๒๗ ข้อนี้ เช่นมีข้อความตอนหนึ่งบอกว่า "บัดนี้ เราควรแก้ไขตัดทอนเพิ่มเติมจำนวนสิกขาบทในปาฏิโมกข์ที่สวดกันหรือไม่"

ตอบ  : “เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเพื่อนไม่ยอม ถือหลักว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์อะไรที่ได้บัญญัติไว้แล้ว เช่นสิกขาบท ๒๒๗ หรือ ๑๕๐ ก็ตาม ที่นำมาสวดทุกกึ่งเดือน ตอนนั้นมันเป็นความคิดชั่วขณะว่า ถ้ามันไม่ติดขัดกับข้อนี้ ไม่ติดขัดข้อที่ว่าไม่ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ก็ควรเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ แต่ที่จริงมันก็ไม่มีบัญญัติโดยตรง ให้เอาสิกขาบทจำนวนเท่านี้มาสวด มันเพียงแต่ว่าทำทำกันอย่างที่สงฆ์ได้ทำกันมา ก็เลยไม่มีใครกล้าไปเปลี่ยนแปลง ผมมันมีความคิดอิสระหน่อย ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลงให้มันเหมาะสมยิ่งขึ้นมันก็ควรจะได้ มีความหมายเพียงเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าเราจะเปลี่ยนแปลงได้ หรือว่าเราจะเปลี่ยนแปลงกฎที่เรียกว่ากฎของเถรวาท มติของพระอรหันต์ชุดแรก ข้อตกลงพระเถระในการประชุมสังคายนาครั้งแรก”

 

ถาม : สมัยหนุ่ม ๆ สมัยอาจารย์ยังเดินไหว การลงอุโบสถ อาจารย์ถือเคร่งหรือเปล่า ต้องไปลงทุกครั้งหรือเปล่า

ตอบ : ไม่เคร่ง แต่ว่า (หัวเราะ) มันไม่เคยขาด แต่ไม่ได้ถือเคร่ง แต่ไปลงไม่ได้ขาด (คำว่า “เคร่ง” กับคำว่า “ขาด” ท่านพระอาจารย์ใช้คำน่าสนใจนะครับ เนื่องด้วย “เคร่ง” อาจจะเนื่องกับ “ขลัง” ในความรู้สึกของบางคน- - -ผู้เขียน)

 

 

ดังนั้น เหตุใดทางวัดที่มีการสวดปาฏิโมกข์ 150 ข้อก็น่าคิดอยู่นะครับ???

 

---------------อย่าลืม พุทธยันต์ นะครับ ----------------

*******************************

สิ่งต่างๆที่ผมนำเสนอ

สำหรับผมไม่ได้มุ่งหมายที่จะเอาชนะหรือคัดค้านกับศรัทธา

หรือความเชื่อของบุคคลใดๆ

หรือพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์รูปใดๆ

เพียงต้องการนำเสนออีกมุมมองหนึ่ง

สุดท้ายสำหรับนักภาวนา นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายครับ

สิ่งที่ท่านทั้งหลายบำเพ็ญอยู่แล้วในทาน ศีล ภาวนา ตามพุทธวจน

ย่อมไม่พลาดในประโยชน์สุขที่พึงได้พึงถึง

ตามปัจจัยที่กระทำไว้

เรื่องต่างๆที่ผมชี้แจงไปต่างนั้นๆบางเรื่องอาจจะกระทบใจก็พึงรับและวางลงเบาๆ

หรือจะโยนทุ่มทิ้งทะเลหลวงไปแล้วกลับมามุ่งบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนาต่อไป

ก็ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

*************

แก้ไขเมื่อ 20 ก.ย. 54 23:23:48

 
 

จากคุณ : Thus Spoke Eitthakorna
เขียนเมื่อ : 20 ก.ย. 54 23:16:29




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com