Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ธรรมที่พระศาสดาทรงพอพระทัย ติดต่อทีมงาน

ปฐมกัสสปสูตร



            [๒๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

            ครั้งนั้น กัสสปเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงาม
ยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            กัสสปเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

            "พระผู้มีพระภาคทรงประกาศภิกษุไว้แล้ว แต่ไม่ทรงประกาศคำสอนของภิกษุ"

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสปเทวบุตร ถ้าอย่างนั้นคำสอนนั้นจงแจ่มแจ้ง ณ ที่นี้เถิด ฯ

            [๒๒๒] กัสสปเทวบุตร ได้กราบทูลว่า

            "บุคคลพึงศึกษาคำสุภาษิต

             การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ

             การนั่งในที่เร้นลับแต่ผู้เดียว

             และการสงบระงับจิต"


             พระศาสดาได้ทรงพอพระทัย ฯ


            ลำดับนั้น กัสสปเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัย จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ



- อธิบายบางส่วน -
           

        บทว่า ตญฺเญเวตฺถปฏิภาตุ ความว่า การประกาศคำสั่งสอนนี้จงปรากฏแก่ท่านผู้เดียว. ความจริง ผู้ใดประสงค์จะกล่าวปัญหาก็ไม่อาจจะกล่าวเทียบกับพระสัพพัญญุตญาณได้ หรือว่าผู้ใดไม่ประสงค์จะกล่าวก็อาจจะกล่าวปัญหาได้ หรือว่าผู้ใดไม่ประสงค์จะกล่าว ทั้งไม่อาจจะกล่าวด้วย. พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่ทรงทำปัญหาของคนเหล่านั้นทั้งหมดให้เป็นภาระ แต่เทพบุตรองค์นี้ประสงค์จะกล่าวด้วย ทั้งอาจกล่าวได้ด้วย. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทำปัญหาให้เป็นภาระของเทพบุตรนั้นผู้เดียว จึงตรัสอย่างนี้. แม้เทพบุตรนั้นก็กล่าวปัญหา.

              บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุภาสิตสฺส สิกฺเขถ ความว่า พึงศึกษาคำสุภาษิต คือพึงศึกษาวจีสุจริต ๔ อย่างที่อิงอาศัยสัจจะ ๔ อิงอาศัยกถาวัตถุ ๑๐ อิงอาศัยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เท่านั้น.

              บทว่า สมณูปาสนสฺส จ ความว่า การเข้าถึงความสงบ อันสมณะทั้งหลายพึงเสพ คือพึงศึกษา พึงเจริญกัมมัฏฐาน ๓๘ ประเภท.

              อีกอย่างหนึ่ง แม้การเข้าไปหาเหล่าภิกษุผู้เป็นพหูสูต ก็ชื่อว่าการเข้าไปนั่งใกล้สมณะ. อธิบายว่า พึงศึกษาประโยชน์แห่งความรู้ด้วยปัญญา โดยการถามปัญหาว่า ท่านเจ้าข้า แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศลหรือ ดังนี้เป็นต้น.

              บทว่า จิตฺตวูปสมสฺส จ ความว่า และพึงศึกษาความสงบจิตด้วยอำนาจสมาบัติ ๘. ดังนั้น สิกขา ๓ เป็นอันเทพบุตรกล่าวแล้ว.

              จริงอยู่ เทพบุตรนั้นกล่าวอธิศีลสิกขาด้วยบทแรก กล่าวอธิปัญญาสิกขาด้วยบทที่ ๒ กล่าวอธิจิตตสิกขาด้วยการสงบจิต เพราะฉะนั้น คำสอนแม้ทั้งสิ้น จึงเป็นอันเทพบุตรนั้นประกาศแล้ว ด้วยคาถานี้แล.




*********************

แหล่งที่มา
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
เทวปุตตสังยุต วรรคที่ ๑
ปฐมกัสสปสูตร
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=1394&Z=1411&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถาพระสูตรนี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=221

แก้ไขเมื่อ 08 ธ.ค. 54 23:29:11

 
 

จากคุณ : Serene_Angelic
เขียนเมื่อ : 8 ธ.ค. 54 23:28:46




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com