Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ทางหมดเรื่องให้ทุกข์ ติดต่อทีมงาน

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕
๑. เรื่องภิกษุ ๕ รูป [๒๕๒]              



              ข้อความเบื้องต้น              

              พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๕ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "จกฺขุนา สํวโร สาธุ" เป็นต้น.


              ภิกษุ ๕ รูปรักษาทวารต่างกัน              

              ดังได้สดับมา บรรดาภิกษุ ๕ รูปนั้น รูปหนึ่งๆ ย่อมรักษาทวารทั้ง ๕ มีจักษุทวาร (คุ้มครองจิตเมื่อตาเห็นรูปเป็นต้นไม่ได้เกิดยินดียินร้าย วางจิตเป็นกลาง) เป็นต้น รูปละทวารเท่านั้น.

              ต่อมาวันหนึ่ง พวกเธอประชุมกันแล้ว เถียงกันว่า "ผมย่อมรักษาทวารที่รักษาได้ยาก, ผมย่อมรักษาทวารที่รักษาได้ยาก" แล้วกล่าวว่า "พวกเราทูลถามพระศาสดาแล้ว จะรู้เนื้อความนี้" จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลถามว่า "พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์รักษาทวารมีจักษุทวารเป็นต้นอยู่ ย่อมสำคัญว่า ‘ทวารที่ตนๆ รักษานั่นแล เป็นสิ่งที่รักษาได้โดยยาก บรรดาพวกข้าพระองค์ ใครหนอแล? ย่อมรักษาทวารที่รักษาได้โดยยาก."


              พระศาสดาทรงแก้ความเข้าใจผิดของภิกษุ ๕ รูป              
              พระศาสดาไม่ทรงยังภิกษุแม้รูปหนึ่งให้น้อยใจแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ทวารเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่รักษาได้โดยยากแท้


              ...ตรัสว่า "ธรรมดาภิกษุ ควรสำรวมทวารทั้งหมด เพราะว่า ภิกษุสำรวมทวารเหล่านั้นนั่นแล ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้" ดังนี้แล้ว

              เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

                        ๑.   จกฺขุนา สํวโร สาธุ     สาธุ โสเตน สํวโร
                        ฆาเนน สํวโร สาธุ     สาธุ ชิวฺหาย สํวโร
                        กาเยน สํวโร สาธุ     สาธุ วาจาย สํวโร
                        มนสา สํวโร สาธุ     สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร
                        สพฺพตฺถ สํวุโต ภิกฺขุ     สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.

                        ความสำรวมทางตา เป็นความดี,
                        ความสำรวมทางหู เป็นความดี,
                        ความสำรวมทางจมูก เป็นความดี,
                        ความสำรวมทางลิ้น เป็นความดี,
                        ความสำรวมทางกาย เป็นความดี,
                        ความสำรวมทางวาจา เป็นความดี,
                        ความสำรวมทางใจ เป็นควา่มดี,
                        ความสำรวมในทวารทั้งปวง เป็นความดี,

                        ภิกษุผู้สำรวมแล้วในทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.



              แก้อรรถ              

              พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า จกฺขุนา เป็นต้น ในพระคาถานั้น ดังต่อไปนี้ :-
              ก็ในกาลใด รูปารมณ์มาสู่คลองในจักษุทวารของภิกษุ ในกาลนั้น เมื่อภิกษุไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่าปรารถนา ไม่ยินร้ายในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่ยังความหลงให้เกิดขึ้น
ในเพราะความเพ่งเล็งอันไม่สม่ำเสมอ, ความสำรวม คือความกั้น ได้แก่ความปิด หมายถึงความคุ้มครอง ชื่อว่าเป็นกิริยาอันภิกษุทำแล้วในทวารนั้น ความสำรวมทางจักษุนั้นเห็นปานนั้นของภิกษุนั้น เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ.
              นัยแม้ในทวารอื่นมีโสตทวารเป็นต้น ก็เหมือนกับนัยนี้.

              ก็ความสำรวมหรือความไม่สำรวม ย่อมไม่เกิดในทวารทั้งหลายมีจักษุทวารเป็นต้นเลย แต่ความสำรวมหรือความไม่สำรวมนี้ ย่อมได้ในวิถีแห่งชวนจิตข้างหน้า;
              จริงอยู่ ในคราวนั้น ความไม่สำรวมเมื่อเกิดขึ้นเป็นอกุศลธรรม ๕ อย่างนี้ คือ "ความไม่เชื่อ ความไม่อดทน ความเกียจคร้าน ความหลงลืมสติ ความไม่รู้" ย่อมได้ในอกุศลวิถี.
              ความสำรวมเมื่อเกิดขึ้นเป็นกุศลธรรม ๕ อย่างนี้ คือ "ความเชื่อ ความอดทน ความเพียร ความระลึกได้ ความรู้" ย่อมได้ในกุศลวิถี.


              ก็ปสาทกายก็ดี โจปนกายก็ดี ย่อมได้ในสองบทนี้ว่า "กาเยน สํวโร" ก็คำว่าปสาทกายและโจปนกาย แม้ทั้งสองนั่น คือกายทวารนั่นเอง. ในกายทวารทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความสำรวมและความไม่สำรวมไว้ในปสาททวารเทียว. ตรัสปาณาติบาต อทินนาทาน และมิจฉาจารซึ่งมีปสาททวารนั้นเป็นที่ตั้งไว้แม้ในโจปนทวาร. ทวารนั้น ชื่อว่าอันภิกษุไม่สำรวมแล้ว เพราะอกุศลธรรมเหล่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในอกุศลวิถี พร้อมด้วยปสาททวารและโจปนทวารเหล่านั้น, ทวารนั้น ชื่อว่าเป็นอันภิกษุสำรวมแล้ว เพราะวิรัติทั้งหลาย มีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในกุศลวิถี.

              โจปนวาจา ตรัสไว้แม้ในสองบทนี้ว่า "สาธุ วาจาย" ทวารนั้น ชื่อว่าอันภิกษุไม่สำรวมแล้ว เพราะวจีทุจริตทั้งหลายมีมุสาวาทเป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ พร้อมด้วยโจปนวาจานั้น, ชื่อว่าอันภิกษุสำรวมแล้ว เพราะวิรัติทั้งหลาย มีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากมุสาวาทเป็นต้น.

              มโนทุจริตทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้น กับด้วยใจอื่นจากใจที่แล่น
ไป ย่อมไม่มีแม้ในสองบทนี้ว่า "มนสา สํวโร" แต่ทวารนั้น ชื่อว่าอันภิกษุไม่สำรวมแล้ว เพราะมโนทุจริตทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นซึ่งเกิดขึ้น อยู่ในขณะแห่งชวนจิตในมโนทวาร ชื่อว่าอันภิกษุสำรวมแล้ว เพราะมโนสุจริตทั้งหลายมีอนภิชฌาเป็นต้น (ซึ่งเกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิตในมโนทวาร).

              สองบทว่า สาธุ สพฺพตฺถ ความว่า ความสำรวมแม้ในทวารทั้งปวงมีจักษุทวารเป็นต้นเหล่านั้น เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทวารที่ภิกษุสำรวม ๘ อย่าง และทวารที่ภิกษุไม่สำรวม ๘ อย่าง ด้วยพระพุทธพจน์เพียงเท่านี้.

              ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในทวารที่ไม่สำรวม ๘ อย่างนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ซึ่งมีวัฏฏะเป็นมูลทั้งสิ้น,
              ส่วนภิกษุผู้ตั้งอยู่ในทวารที่สำรวม ย่อมพ้นจากทุกข์ซึ่งมีวัฏฏะเป็นมูลทั้งสิ้น


              เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "สพฺพตฺถ สํวุโต ภิกฺขุ สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ."

              ในกาลจบเทศนา ภิกษุ ๕ รูปตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.

              เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

              เรื่องภิกษุ ๕ รูป จบ.              



*********************

คัดลอกบางส่วนจาก คาถาธรรมบท
เรื่องภิกษุ ๕ รูป

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=35&p=1

จากคุณ : Serene_Angelic
เขียนเมื่อ : 25 ธ.ค. 54 14:58:42




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com