Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าจะสรุปอยู่ที่ "ไม่ให้ยึดถือสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวเรา-ของเรา" ติดต่อทีมงาน

เพราะอะไร? ก็เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นตัวเรา-ของเราจริง คือ "ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา" จะเป็นเพียงสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์หรือปรุงแต่งขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะมีอยู่ก่อนแล้วอย่างชั่วนิรันดร เมื่อต้องสร้างสรรค์หรือปรุงแต่งสิ่งทั้งหลายขึ้นมา ธรรมชาติจะต้องเอาสิ่งต่างๆ (คือเหตุและปัจจัย) มาปรุงแต่งอย่างถูกวิธีจนทำให้เกิดสิ่งทั้งหลายขึ้นมา

เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว "สิ่งที่เกิดขึ้นมา" ทั้งหลายจึงไม่มีอิสระ เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งมันขึ้นมา คือเมื่อเหตุและปัจจัยของมันพร้อม มันก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันยังตั้งอยู่ มันก็ยังตั้งอยู่ เมื่อเหตุและหรือปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไป มันก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันดับหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นก็จะดับหายไปด้วยทันที  

เมื่อ "สิ่งที่เกิดขึ้นมา" จะต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยของมัน ดังนั้นมันจึงมีการเปลี่ยนแปลงและดับหายไปตามเหตุและปัจจัยของมัน และเมื่อธรรมชาติได้ปรุงแต่งร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕) ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ขึ้นมา ดังนั้นร่างกายและจิตใจนี้จึงต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัยของมัน มันไม่สามารถที่จะเป็นไปตามที่จิตเราอยากจะให้เป็นได้เสมอไป หรือเรียกว่าเราไม่สามารถบังคับบัญชาให้มันเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็นได้ (หรือไม่สามาราถยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเราได้) เมื่อเราอยากจะให้ร่างกายหรือจิตใจเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เราก็จะเกิดความรู้สึกพอใจ หรือความสุข  แต่ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็นได้เสมอไป อย่างเช่น เราอยากจะไม่แก่, ไม่เจ็บ, ไม่ตาย, ไม่พลัดพราก, ไม่ผิดหวัง เป็นต้น เรามันกลับแก่, เจ็บ, ตาย, พลัดพราก, และผิดหวัง เป็นต้น เมื่อมันไม่เป็นตามที่เราอยากจะให้เป็น (หรือตามที่เรายึดถืออยู่) เราก็จะเกิดความเสียใจ หรือเศร้าโศก หรือคับแค้นใจ หรือทรมานใจ เป็นต้น ที่เรียกว่า ความทุกข์ ขึ้นมาทันที

แต่ถ้าเรามีปัญญาคือเข้าใจแล้วว่า "แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเรา-ของเราอยู่จริง" แล้วเราก็เพ่งพิจารณาอยู่ในความเข้าใจนี้อย่างตั้งใจที่สุด (สมาธิ) จิตของเราก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเราลง (แม้ชั่วคราว) และเมื่อจิตไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็จะไม่เกิดความทุกข์ (แม้ชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็น (หรือนิพพาน)  ซึ่งนี่คือจุดสูงสุดของการศึกษาและปฏิบัติพุทธศาสนา ซึ่งถ้าใครเข้าใจเพียงเท่านี้ เขาก็ชื่อว่าได้รู้จักคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าแล้ว และถ้าใครสามารถปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ เขาก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนาแล้ว และถ้าใครได้รับผลเพียงเท่านี้ เขาก็ชื่อว่าได้รับผลทั้งหมดในพุทธศาสนาแล้ว

จากคุณ : What am I?
เขียนเมื่อ : 29 ธ.ค. 54 19:41:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com