Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สมาธิ ที่เป็น ฌาน มีอย่างไรในพระไตรปิฎก. ติดต่อทีมงาน

เสนอเพื่อความเข้าใจชัดขึ้นในเรื่อง ฌาน ที่อยู่ในรูปพุทธพจน์ ในพระำไตรปิฎก เพราะยังเป็นที่ขังขาสงสัยกันอยู่

  ผมขอยกจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 9 จากพุทธพจน์เป็นดังนี้.

-------------------------------------------------
      [๑๒๕] ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษอัน
เป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท
มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ
พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่
ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว
เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
วิจิกิจฉาได้.
...
...
...

                                               รูปฌาน ๔
       [๑๒๗] เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่
วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด
จะพึงใส่จุรณ์สีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำ หมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณ์สีตัวซึ่งยาง
ซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้
ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า
ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.
       [๑๒๘] ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิต
ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข
เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง. ดูกร
มหาบพิตร เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกมีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก
ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ  ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วง
น้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ
แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้องฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละ
ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ
ทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.
       [๑๒๙] ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุข
ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง
หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเง่า ไม่มีเอกเทศไหนๆ
แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วน ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศ
ไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ
สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.
      [๑๓๐]  ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ
ทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง  ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่ง
คลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่
ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรมหาบพิตร
นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.
----------------------------------------------------------

   แสดงความเห็น....

     นิวร 5 ได้แก่  1.กามฉันทะ 2.พยายาท 3.วิจิกิจฉา 4.ถีนมิทธะ 5.อุทธัจจะกุกกุจจะ
     เป็นสิ่งที่ควรละ

    องค์ฌาน 5 ได้แก่  1.วิตกวิจารณ์ 2.ปีติ 3.สุข 4.อุเบกขา (เอกคัดตา)
      เป็นสิ่งที่ควรทำให้เจริญ เมื่อองค์ฌาน 5 นั้นสมบูรณ์ถูกต้องทั้งใจ และกายอย่างแนบแน่น นั้นแหละจึงเป็น ปฐมฌาน.
       เช่นเดียวกัน ในทุติยฌาณ มีแต่ ปีติ สุข และอุเบกขา ละหรือไม่มีวิตกวิจารณ์อย่างหมดสิ้น มีปีติ สุข อุเบกขาแนบแน่นถูกต้องทังใจ และกาย
       ในทำนองเดียวกัน ตติยฌาน ก็มีแต่ สุข กับ อุเบกขา เท่านั้นไม่มีอารมณ์ใดๆ บนอยู่เลย คือบริสุทธิ์ ด้วย สุข กับ อุเบกขา เท่านั้นถูกต้องทั้งใจและกาย.
        เช่นเดียวกันใน จตุตถฌาน คือไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอุเบกขาอย่างเดียวมีสติสมบูรณ์เท่านั้น ไม่มีอารมณ์ใดปนอยู่เลย.

    และผมเคยได้อ่านตำราพุทธศาสนาที่พอจำได้เลาๆ ทำนองว่า ....

       เสียงเป็นโทษ ของปฐมฌาน  หมายความว่า เมื่อเข้าปฐมฌาน ทำให้ถอนออกจากปฐมฌานได้ง่าย เมื่อมีเสียงดังมากมากระทบรบกวน.

        ดังนั้นหมายความว่า ผู้เข้าปฐมฌาน ย่อมระงับจากเสียงไปแล้วหรือไม่ยินเสียงแล้วนั้นเอง  แต่เมื่อมีเสียงดังมากๆ มากระทบ ก็ย่อมทำให้ถอนจาก ปฐมฌานได้.

  ผมขอยกข้อมูลจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 18 เพื่อพิจารณา
------------------------------------------------------
                         รโหคตวรรคที่ ๒
                            รโหคตสูตร
   [๓๙๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาสความปริวิตกแห่งใจ เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์
ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา
อทุกขมสุขเวทนาพระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า
ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความ
เสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ ดูกรภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขม
สุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ ดูกรภิกษุเรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าว
หมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นเองไม่เที่ยง ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า  ความเสวยอารมณ์อย่างใด
อย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป
คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ฯ
     [๓๙๒] ดูกรภิกษุ ก็ลำดับนั้นแล เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับ
คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ เมื่อเข้าทุติยฌานวิตกวิจารย่อมดับ เมื่อเข้าตติยฌาน
ปีติย่อมดับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมดับ เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน
รูปสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้า
อากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ ราคะ
โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมดับ ฯ
[๓๙๓] ดูกรภิกษุ ลำดับนั้นแล เรากล่าวความสงบแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับ คือ
เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมสงบ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญา
เวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ราคะโทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมสงบ ฯ
     [๓๙๔] ดูกรภิกษุ ปัสสัทธิ ๖ อย่างนี้ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน  วาจาย่อมระงับ
เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมระงับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อมระงับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลม
อัสสาสะปัสสาสะย่อมระงับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ
โทสะ โมหะของภิกษุขีณาสพย่อมระงับ ฯ
                                จบสูตรที่ ๑
----------------------------------------------------

  แสดงความคิดเห็น.....  จากพุทธพจน์ส่วนนี้ จัดให้ดูและอ่านง่ายขึ้น.
-------------------------------------------------
   เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ
   เมื่อเข้าทุติยฌานวิตกวิจารย่อมดับ
   เมื่อเข้าตติยฌานปีติย่อมดับ
   เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมดับ  
---------------------------------------------------
 
   ดังนั้น คำว่า "วาจาย่อมดับ"  ซึ่งอาจจะหมายถึง ไม่พูด หรือไม่มีคำพูด หรือไม่สนใจเสียงใดๆ ก็ได้ หรือไม่ได้ยินเสียงใดๆ ก็ได้ ในขณะเข้าปฐมฌานนั้นอยู่

    ท่านผู้อ่านมีประสบการณ์อย่างใดก็เสนอได้ หรือเห็นแย้งดังที่ผมแสดงความคิดเห็นก็แย้งได้นะครับ.

จากคุณ : P_vicha
เขียนเมื่อ : 10 ม.ค. 55 12:04:14




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com