Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เทศน์อบรมฆราวาส เมื่อวันที่ ... 26 ส.ค. 2521 โดยองค์หลวงตามหาบัว ติดต่อทีมงาน

เทศน์อบรมฆราวาส เมื่อวันที่ ... 26 ส.ค. 2521

วันที่ 26 สิงหาคม 2521 เวลา 17:00 น. ความยาว 19.21 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด

     ความรู้อยู่กับอารมณ์อันนั้น เช่นกำหนด อาณาปานุสสติ คือลมหายใจเข้าออกก็ให้มีสติ  คือรับรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า หายใจออก    ไม่ต้องส่งจิตไปในที่อื่นใด  ตั้งสติไว้กับนั้น ไม่ต้องไปคิดถึงผลว่าจะเกิดขึ้นมากน้อย เกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ต้องคิด  ให้จิตรู้อยู่กับลม เวลาลมหายใจเข้าผ่านเข้าไปก็ทราบ  ผ่านออกมาก็ทราบ กำหนดบริกรรมพุทโธ หรือบริกรรมคำได ก็ให้จิตรู้อยู่กับคำนั้นเท่านั้น  
     
     นี่เรียกว่าเป็นการภาวนาโดยถูกต้องไม่ต้องส่งจิตออกนอกกาย   ไปรู้สิงนั้นเห็นสิ่งนี้  ส่วนมากเป็นสิ่งหลอกลวงออกไปจากจิตใจเรานี้แหล่ะ เป็นภาพต่างๆ หลอกใจให้หลงให้เพลินไปตาม  ให้ดีใจ  ให้เสียใจไปตามเพราะภาพของจิต   เรียกว่ามโนภาพนั้นออกไปหลอกเจ้าของ ทีนี้เจ้าของก็ตื่นเงา ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่ถูก ให้รู้อยู่ภายในสงบก็ให้สงบอยู่กับคำภาวนาให้สงบกับอาณาปาณสติ  คือลมหายใจเข้าออก  สงบอยู่ตรงนั้น มีความรู้อยู่ตรงนั้น ไม่ต้องคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามายุ่งกวนใจ
       
         เวลาตั้งหน้าภาวนาอยู่อย่างนั้นจิตก็สงบ จิตสงบแล้วก็เย็น  ถ้าไม่สงบก็หาความเย็นไม่ได้ ความคิดความปรุงของจิตนั้นแหล่ะเป็นเครื่องกวนจิต ให้หาความสงบไม่ได้  เพราะปรุง ก็ปรุงเรื่องต่างๆ ไม่ใช่ปรุงเฉยๆ ปรุงเรื่องนั้นปรุงเรื่องนี้ขึ้นมา  จิตก็หลงไปตามความปรุงในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็มากวนใจตัวเอง  ให้เกิดความทุกข์ความไม่สบายภายในจิต    นี่   โทษแห่งความปรุงของจิตเป็นอย่างนี้  ขณะที่เราภาวนาเราไม่ต้องการความปรุงแต่งคิดออกไปในเรื่องต่างๆ  ให้รู้อยู่กับความปรุงของจิตที่บริกรรมภาวนา  เช่นพุทโธ พุทโธ ก็ให้ปรุงอยู่กับพุทโธ พุทโธ  เท่านั้น ความปรุงอันนี้เป็นความปรุงที่จะทำใจให้สงบ  ไม่ใช่เป็นความคิดปรุงที่จะทำใจให้ฟุ้งซานวุ่นวาย ท่านจึงสอนให้บริกรรม ถ้าจิตจะคิดออกไปข้างนอก ก็ให้บริกรรมอันนี้ถี่เข้าไปไม่ให้มีโอกาสของจิตที่จะคิดออกไปข้างนอก ใจก็เริ่มสงบเย็นลงไป
         
          นี่วิธีภาวนา อย่างยึดหลายเรื่องหลายราวมาภาวนา จะเอาสิ่งใดให้เอาสิ่งนั้นตั้งลงให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ อันใดธรรมบทใดที่ถูกกับจริตนิสัยของตนก็ให้จิตอยู่กับธรรมบทนั้น ภาวนาธรรมบทนั้นเป็นอารมณ์เหมือนกับเราใชไม้เนี่ย เอาสว่านมาไชไม้ ไชลงไปที่เดียวกันมันก็ทะลุ   ไชที่นั่นเจาะที่นี่ไม่เจาะเป็นที่เป็นฐาน  เจาะทุกแห่งทุกหน  เลยหาความทะลุ หาผลประโยชน์ไม่ได้   จิตก็ว่าอันนั้นจะดีอันนี้จะดี เดี๋ยวภาวนาเรื่องนั้นเดี๋ยวภาวนาบทนี้  เลยยุ่งไปหมดหาความจริงจังไม่ได้ จิตก็หาความสงบตัวไม่ได้เพราะไม่มีหลักยึด จิตเลื่อนลอย  
       
          เพราะเหตุนี้จึงต้องได้ระมัดระวัง  นี่เรามาภาวนา  เราอย่าเอาเรื่องของโลกมายุ่งกวนใจ เรื่องบ้านเรื่องเรือนเรืองญาติพี่น้องสถานที่นั้นที่นี่ไม่ต้องเอามายุ่ง คิดอยู่กับธรรมให้ใจมีความสงบเย็นอยู่กับธรรมแล้วก็สบาย เมื่อใจสบายแล้วอยู่ที่ไหนก็สบายหมดเพราะใจเป็นผู้ก่อเหตุก่อเรื่อง   ใจเป็นผู้สงบเรื่องเองด้วยการภาวนา เมื่อใจไม่มีเรื่องอยู่ที่ไหนก็สบายทั้งนั้นแหล่ะ ให้ทราบว่าใจเนี่ยเป็นตัวเหตุความปรุงแต่งของจิตก่อเรื่องอยู่ตลอดเวลา  ใจจึงหาเวลาสงบไม่ได้   ทั้งๆที่กำลังภาวนา ใจก็เสียดายความคิดเรื่องนั้น เสียดายความคิดเรื่องนี้ เพลินไปกับเรื่องนั้น  เพลินไปกับเรื่องนี้ เลยไม่เป็นอันภาวนา   จิตเลยหาความสบงไม่ได้  
             
      กำหนดลมหายใจ   ก็ให้รู้อยู่กับลม แต่ไม่จำเป็นต้องตามลมเข้าไป  
ตามลมออกมา  ให้รู้อยู่จำเพาะลมที่ผ่านเข้าไป สัมผัสที่ดั้งจมูก หรือที่ไหนที่มากกว่าเพื่อน  ก็ให้กำหนดเอาตรงนั้น  ผ่านเข้าก็รู้ ผ่านออกก็รู้ ความรู้สืบเนื่องกันกับลมอยู่ไม่ขาดวรรคขาดตอน  ไม่ยอมให้จิตส่งไปที่อื่น  ใจก็สงบลงไปได้เอง  
     
      นี่  วิธีการภาวนาให้พยายามทำอย่างนี้ เรื่องภายนอกอย่าให้ออกไปรู้  เรื่องเปรตเรื่องผีเรื่องเทวบุตรเทวดาส่วนมากเป็นมโนภาพคิดออกจากตัวเองไปหลอกตัวเอง ตื่นเงาตัวเอง กลัวเงาตัวเองไม่เกิดประโยชน์นอกจากเกิดโทษเท่านั้นท่านจึงสอนไม่ให้ออก ยิ่งผู้เริ่มภาวนาจิตยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว ห้ามออก ห้ามส่งจิตออกไปข้างนอกให้อยู่ภายในโดยเฉพาะ  จะมีความสงบ
    เมื่อความสงบได้ปรากฏขึ้นแล้ว ให้จำวิธีเอาไว้ว่าเราทำอย่างนี้จิตจึงได้รับความสงบ วันหลังเวลาต่อไปเราก็ทำอย่างนี้ แต่ไม่ไห้คาดผลที่เคยเกิดขึ้นแล้วมาเป็นอารมณ์ มันจะเป็นเครืองกวนใจอีกไปยึดอารมณ์อดีตที่ล่วงมาแล้วเลยไม่ทำงานภาวนาผลก็ไม่ปรากฏ   ผลอย่างไดที่เคยเกิดขึ้นแล้วในคราวก่อนๆ  เป็นแต่เพียงว่าเราจำวิธีการนั้นไว้ เราทำอย่างไรจิตจึงสงบเราก็จำวิธีนั้นไว้แล้วภาวนาอยู่ในหลักปัจจุบัน   ไม่ให้ส่งไปถึงอารมณ์อดีตที่เคยประสบพบเห็นผลอย่างไดมาแล้ว   ห้ามคิดยุ่งไป ให้ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาอยู่กับธรรมบทที่เคยภาวนาและบทที่เคยไห้รับความสงบนั้นเรื่อยๆไป ใจจะสงบตัวลงไปเมื่อใจสงบตัวลงไป  สบายเท่านั้นแหล่ะคนเรา  

        ใจเป็นสาระสำคัญอยู่มากพยายามปรับปรุงจิตใจให้มีความเย็นสบายพระพุทธเจ้าเลิศด้วยใจ พระสาวกเลิศด้วยการฝึกฝนอบรมใจ ใจจึงเลิศด้วยการบำรุงรักษา ไม่ได้เลิศด้วย  เตลิด   ด้วยการปล่อยตามอำเภอใจ ใจเป็นสมบัติของเรา เราจึงควรระวังรักษาด้วยสติอยู่เสมอไม่ให้ส่งไปที่โน่นที่นี่  นิสัยของจิตมันอยู่ไม่เป็นสุข มันชอบคิดหลุกหลิกหลุกหลิกยิ่งกว่ามังกี้เป็นไหนๆ  เพราะฉะนั้นการปราบมังกี้ต้องปราบด้วยสติ  
       
        มังกี้คือลิง  ตัวหลุกหลิกๆคือใจนี่แหล่ะมันเหมือนมังกี้  แต่มันเร็วยิ่งกว่าลิงคือมังกี้นั้นซะอีก  จึงต้องปราบด้วยสติ เอาสติบังคับบัญชาไว้ ให้มันทำงาน ทำงานกับคำภาวนาจิตก็สงบ พอจิตสงบแล้วก็เย็นสบาย เย็นไปหมดนั่นแหล่ะทีนี้  ร่างกายก็เบา จิตใจก็เบา ความสบายก็สบายยย   เย็นนนน อยู่ในใจ  นี่คือผลของการภาวนา    
       
         หลังจากนั้นเราจะพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เช่นธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม
ไฟ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายของเรานี้ จะพิจารณาแยกแยะออก  ให้เห็นตามความ
เป็นจริงของมันก็ได้ ท่านเรียกว่าปัญญา กองรูปทั้งหมดนี้ก็คือกองดินนั่น
เอง  ธาตุดิน  น้ำที่ซึมซาบอยู่ในร่างกายทุกส่วนนั่นเรียกว่าธาตุน้ำ  ลมพัด
ขึ้นเบื้องบน พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ลมพัดไปพัดมาลมหายใจ
เหล่านี้เรียกว่าธาตุลม  ความอบอุ่นภายในร่างกายเรียกว่าธาตุไฟ

      เรื่องมันก็มีอยู่เท่านี้  คนทั้งคนก็มีธาตุสี่  ใจก็เป็นใจไม่ใช่ธาตุสี่   อันนี้ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ   ใจเป็นใจ ก็พิจารณาให้เห็นตามความจริงของมันแล้ว  

      ใจที่เคยยึดถือว่าร่างกายซึ่งเป็นธาตุสี่ ดินน้ำลมไฟว่าเป็นตนนี้ก็ถอนตัวออกมาปล่อยไว้ตามธาตุขันธ์นั้น   ใจก็อยู่ตามสภาพของใจ ใจก็เย็น  ใจก็สบาย ไม่ยึดไม่ถือไม่แบกไม่หามเป็นอุปปาทานความยึดมั่นถือมั่น  

       ก็เหมือนเราแบกของหนักๆมาแล้วเราทิ้งลงจากบนบ่าของเรา เราก็เบา  อุปปาทานความยึดมั่นถือมั่นในส่วนร่างกายที่เป็นธาตุสี่ดินน้ำลมไฟนี้มันก็หนัก เมื่อความยึดถือมีในผู้ใดก็ทำให้จิตใจหนักหน่วงเป็นทุกข์

     เมือพิจารณาเห็นตามความจริงของมันแล้วจิตใจก็ถอนตัวออกมาจากอุปปาทานความยึดมั่นถือมั่น   ใจก็หมดภาระเหลือแต่ความรู้สะดวกสบาย  ร่างกายก็อยู่อย่างนั้น จิตใจก็อยู่อย่างนี้   ไม่คละเคล้าซึ่งกันและกัน   นั่นเป็นเรื่องของปัญญา  เป็นผู้แยกแยะให้เห็นตามความจริงของธาตุของขันธ์  
     นี่เป็นปัญญา พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาหลายครั้งหลายหน พิจารณาแล้ว พิจารณาเล่า จนเป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วจิตใจก็ถอนตัวจากความยึดมั่นถือมั่นมาเอง  โดยไม่ต้องบังคับให้ถอน ถ้าจิตยังไม่เข้าใจจะบังคับให้ถอนเท่าไหร่ก็ไม่ถอนเพราะฉะนั้น  จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาธาตุสี่ดินน้ำลมไฟให้เห็นตามความจริงของมัน
     ใจยิ่งมีความผ่องใสยิ่งมีความสงบเย็นใจ  ละเอียดลงไปเป็นลำดับ มีความสง่าผ่าเผย องอาจกล้าหาญอยู่ภายในตัว จิตผ่องใสก็เห็นได้ชัด  ว่านี้คือจิต จิตนี้ผ่องใสก็รู้   เวลาจิตเศร้าหมอง เศร้าหมองเพราะเหตุใด  จิตก็รู้จิตเอง
      นี่วิธีการของการภาวนาทางด้านวิปัสสนา   แปลว่าความรู้แจ้งเห็นจริง เรียกวิปัสสนา  ก็หมายถึงปัญญาค้นคว้า ให้รู้ตามความจริงของส่วนร่างกายนั่นเองใ  ห้พิจารณาอยู่ในกายของเรา กายเรานี้ก็เหมือนกัน เป็นกายแตกกายดับ เป็นเรื่องธาตุสี่ดินน้ำลมไฟเหมือนกันหมด กายเราก็เหมือนกัน ความตายก็มีอยู่เต็มตัว  โลกนี้มีป่าช้าอยู่กับตัวสัตว์ทุกตัวสัตว์นั่นแหล่ะ ความตายตายที่ไหนก็เป็นป่าช้าที่นั่น  เราไม่ต้องไปห่วงโน้นห่วงนี้ห่วงบ้านห่วงเรือน ห่วงบุตร ห่วงหลาน ห่วงญาติ ห่วงมิตร อยู่ที่ไหนเค้าก็รักษาตัวเลี้ยงตัวเค้า มาอยู่ที่นี่เราก็รักษาตัวของเราเลี้ยงตัวของเราด้วยศีลด้วยธรรมด้วยภาวนา จิตใจเราก็มีความเจริญก้าวหน้าถ้าได้รับการบำรุงรักษาจากเจ้าของอยู่เสมอ  
 
     จิตยิ่งมีความเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จิตเจริญผิดกับสิ่งทั้งหลายเจริญ โลกเจริญ ด้านวัตถุเจริญ การค้าเจริญ อะไรๆเจริญ ความเจริญนั้นก็จริง แต่คนก็ทุกข์อยู่อย่างดั้งเดิมนั้นแหล่ะแต่เพียงจิตเจริญนี้ เจริญยิ่งขึ้นเท่าไร ยิ่งเห็นความสุขชัดเจนภายในตัวของเรา  ผิดกับสิ่งภายนอกเจริญเป็นไหนๆ บ้านเมืองเจริญมีถนนหนทางไปมาสะดวก ผู้ที่ใช้ถนนหนทางผู้ที่ใช้สิ่งของที่ว่ามันเจริญแล้วก็เป็นทุกข์อยู่เหมือนกัน แต่ใจที่มีความเจริญด้วยศีลด้วยธรรมด้วยการเจริญเมตตาภาวนานี้มีความสุข ความเจริญอันนี้จึงผิดกับความเจริญทั้งหลายภายนอกอยู่มาก

       พระพุทธเจ้า จึงสอนให้เจริญจิตใจ บำรุงรักษาจิตใจด้วยจิตตภาวนาเพื่อจิตใจจะได้มีความเจริญ ใจเจริญนั้นคือใจสงบใจผ่องใส  ใจมีความสง่าผ่าเผย  ใจมีความเฉลียวฉลาด  ใจไม่ติดไม่ข้องใจไม่ผูกพันกับสิ่งใด   ใจเรียกว่าใจเจริญ เจริญจนสุดขีดก็ถึงวิมุตหลุดพ้น นั่นเรียกว่าเจริญเต็มที่แล้วถึงวิมุตหลุดพ้น  
   
      ส่วนโลกเจริญเต็มที่แล้วก็เสื่อมลง ร่างกายเราเจริญเต็มที่แล้วก็เสื่อมลง ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเจริญเต็มที่แล้วต้องมีการเสื่อมเป็นคู่กันไปส่วนจิตใจนี้เจริญให้เต็มที่แล้วคงเส้นคงวาหาความเสื่อมลงไม่ได้ผิดกันตรงนี้ ความสุขก็คงเส้นคงวา บางความสุขที่เป็นบรมสุขของพระพุทธเจ้าและสาวกอรหันต์ทั้งหลายนั้น บำเพ็ญจิตให้ถึงความเจริญเต็มที่แล้วท่านก็มีความสุขเต็มที่คงเส้นคงวา   เรียกว่านิพพานเที่ยงก็ได้   เพราะใจเที่ยงนั่นเอง ไม่มีอนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา สิ่งแปรปรวนทั้งหลายเข้าไปเขย่าก่อกวน  เพราะจิตปราศจากสิ่ง อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ทั้งหลายหมดแล้วนี่คือจิตเจริญ เจริญเต็มขีดเป็นอย่างนั้น

      การที่จะให้จิตเจริญเต็มขีดต้องอาศัยการบำรุงรักษาด้วยสติ ระมัดระวัง จิตใจเป็นสมบัติของเรา อย่าปล่อยให้คิดเพ่นๆพ่านๆจนทำความเสียหายทำลายจิตใจตัวเอง  พยายามระมัดระวังรักษาจิตใจด้วยสติ   ทั้งเวลาภาวนา  ทั้งเวลาอยู่ตามปกติ   ก็ให้ระมัดระวังรักษา   คิดเรื่องใดที่จะเป็นไปเพราะความทุกข์ ให้พึงทราบว่านั้นเป็นความคิดผิด    อย่าคิดซ้ำๆซากๆจะเป็นการเพิ่มความผิดเพิ่มๆขึ้นมาให้เป็นความคิดเรื่อยๆ    เช่นเดียวกับเอาไฟมาจี้เรานี่แหล่ะ    จี้หนหนึ่งก็เจ็บหนหนึ่ง จี้ที่สองก็เพิ่มความเจ็บปวดเข้าไปมากจี้ที่สาม  ที่สึ่เข้าไปก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก  นั่น   ทำความผิดเป็นอย่างนั้นเอง
 
      สิ่งใดที่คิดไปแล้วเป็นความผิดให้เกิดทุกข์ให้พึงระงับระวังรักษาอย่าให้มันคิดไปในทางนั้น   ซึ่งเป็นการเพิ่มทุกข์เข้าอีก   นี่ถึงเรียกว่ารักษาตัว   จิตที่ไปในทางอัฐทางธรรม คิดไปเพื่อถอดเพื่อถอน คิดไปในทางความสงบ เป็นทางที่ดี พยายามคิดในทางความสงบเช่นคิดปรุงภาวนา  พุทโธ  พุทโธ ห รือ อาณาปานัสสติ อยู่ที่ไหนก็กำหนดอยู่อย่างงั้นจะเป็นการบำรุงรักษาจิตใจอยู่    

      โดยปกติจิตใจเมื่อมีผู้รักษาก็เหมือนอย่างเด็กที่มีพี่เลี้ยงคอยรักษาอยู่  เด็กก็ปลอดภัยไม่เป็นอันตราย จิตใจที่ได้รับการบำรุงรักษาก็ปลอดภัยกิเลสทั้งหลายไม่เข้ามายุ่งกวนอันจะทำเกิดความเดือดร้อนเสียหายขึ้นมาแก่ตน ได้ชื่อว่าผู้รักษาจิต ผู้บำรุงจิต จิตเมื่อได้รับการบำรุง  การรักษาอยู่เสมอจะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ  เช่นเดียวกับเด็กเมื่อได้รับการบำรุงรักษาจากพ่อแม่พี่เลี้ยง  เด็กก็เจริญเติบโตขึ้นเต็มภูมิของคน  จิตใจเมื่อได้รับการบำรุงรักษาก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเจริญเต็มที่แล้วก็ผ่านพ้นขึ้นไปได้
 
     นี่พากันจำเรื่องภาวนา วันนี้สอนเรื่องภาวนาล้วนๆ  วันนี้สอนไปมากมาย เอาแค่นี้แหล่ะ   พอ   ให้ท่านปัญญาอธิบาย

บทนี้ไม่มีไฟล์ pdf  ถอดเสียงเอาเอง ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งค่ะ
กราบบูชาพระคุณองค์หลวงตาอย่างสูงสุดค่ะ

แก้ไขเมื่อ 28 ม.ค. 55 14:17:19

จากคุณ : ดรีมเมอร์
เขียนเมื่อ : 28 ม.ค. 55 14:16:12




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com