Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สภาวธรรมเป็นฉะไหน? การได้บรรลุฌานก็มีสภาวธรรม วิปัสสนาญาณก็มีสภาวธรรม แม้แต่การบรรลุมรรคผลนิพพานก็ย่อมมีสภาวธรรมรองรับ ติดต่อทีมงาน

สภาวธรรมเป็นฉะไหน?  การได้บรรลุฌานก็มีสภาวธรรม การได้วิปัสสนาญาณก็มีสภาวธรรมไปตามลำดับ แม้แต่การบรรลุมรรคผลนิพพานก็ย่อมมีสภาวธรรม

       ผมตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาก็มีเจตนาเพื่อ ให้ผู้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมพึงตระหนัก ในเรื่องสภาวธรรม  เพื่อไม่ให้ไหลไปเกินไปกับธรรมที่ได้อ่านได้คิด แล้วเกิดความเข้าใจขึ้นมา แล้วไหลไปตามความรู้สึกที่เข้าใจนั้นว่า เราได้เห็นธรรมแล้ว เรามีปัญญาแจ้งในธรรมแล้ว เป็นโสดาบันแล้ว เหมือนดังการศึกษาวิชาการทางโลก ที่เกิดไอเดียปิ้งขึ้นมา หรือเกิดความเข้าใจวาบขึ้นมา กับข้อปัญหาที่คบคิดทางวิชาการ  ซึ่งผู้ที่เรียนศึกษาทางโลก ย่อมเกิดสภาวะอย่างนี้ได้บ่อยๆ  แม้กระทั้งผมที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์.

       จึงจงอย่าเข้าใจผิดไปว่า ได้อ่านได้ศึกษาธรรมที่เป็นบัญญัติแล้วเกิดเข้าใจขึ้นมาหรือปิ้งขึ้นมานั้น ว่าเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานเบื้องต้นไปเสียก่อน  เพราะผู้ที่มีความเห็นอย่างนี้ในยุคปัจจุบันมีมากเสียเหลือเกิน เพราะผู้คนในปัจจุบันมีการศึกษาทางโลกและวิทยาการต่างๆ กันเยอะ และมาก จึงเห็นและเข้าใจไปว่า เมื่อได้อ่านได้ศึกษาในบัญญัติคบคิดจนเข้าใจปิ้งขึ้นมา แล้วจะเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานเบื้องต้นแล้ว นั้นก็มีอยู่จำนวนมากในโลกยุคปัจจุบัน.

      ต่อไปมาดูสภาวธรรม ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้.

สภาวธรรมของ รูปฌานมีดังนี้.(พระไตรปิฎกเล่มที่ 12)
----------------------------------------------------------------
                                      ว่าด้วยฌาน ๔
            [๔๗๑] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต อันเป็น
เครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก
มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแก่วิเวกอยู่. เธอทำกายนี้แล ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ ซาบซ่าน ด้วย
ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิด
แต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง.
เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือของพนักงานสรงสนานผู้
ฉลาด ใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ก้อนจุรณสีตัวนั้นมียางซึมไปจับ
ติดกันทั้งข้างในข้างนอก ย่อมไม่กระจายออก ฉะนั้น.
           [๔๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุ บรรลุทุติฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต
ในภายใน เป็นธรรมดาเอกผุดขึ้น เพราะวิตกและวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและ
สุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่. เธอทำกายนี้แลให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิด
แต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่
ถูกต้อง
เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก มีน้ำขังอยู่ ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก
ด้านตะวันตก ด้านเหนือ ด้านใต้ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำ
นั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแลให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ
แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมดที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉะนั้น.
           [๔๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข
ด้วยนามกาย พระปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้
มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข. เธอทำกายนี้แลให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซ่าน ด้วยสุขอัน
ปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง

เปรียบเหมือนในกออุบล กอปทุม หรือกอบุณฑริก แต่ละชนิด กออุบล กอปทุมหรือ
กอบุณฑริก ดอกบัวบางชนิด เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นจากน้ำ จมอยู่ในน้ำ
น้ำเลี้ยงไว้ อันน้ำเย็นหล่อเลี้ยง เอิบอาบซึมซาบไปแต่ยอดและเหง้า ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่ง
กออุบล กอปทุม หรือกอบุณฑริก ที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉะนั้น
          [๔๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสในก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. เธอนั่ง
แผ่ไปทั่วกายนี้แล ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนบุรุษนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มี
เอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้องฉะนั้น.
---------------------------

      ดังนั้นจึงอย่าได้ดูเบา ในการศึกษาธรรมในพุทธศาสนา ที่เพียงแต่การอ่านการเขียนและคิดคิดคบคิด แบบเดียวกับการศึกษาในวิชาการทางโลกแล้วเข้าใจขึ้นมา  แล้วจะแจ่มแจ้งมีปัญญาปรากฏขึ้นจนละกิเลสได้อย่างเด็ดขาดเป็นพระอริยะดังพระโสดาบันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เมื่อไม่มีสภาวธรรมปรากฏขึ้นมาลองรับเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน  เพราะแม้แต่เพียงบรรลุรูปฌาน ก็มีสภาวธรรมเกิดขึ้นดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้านบนที่ผมนำเสนอ.

     ต่อไปมาดูการมีสภาวธรรมของ กายคตาสติ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้(พระไตรปิฎกเล่มที่ 14).
---------------------------------------
           [๒๙๔]  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็กายคตาสติอันภิกษุเจริญแล้ว
อย่างไร  ทำให้มากแล้วอย่างไร  จึงมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้  อยู่ในป่าก็ดี  อยู่ที่โคนไม้ก็ดี  อยู่ในเรือนว่างก็ดี  นั่งคู้บัลลังก์  ตั้งกายตรง
ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  เธอย่อมมีสติหายใจออกมีสติหายใจเข้า  เมื่อหายใจออกยาว  ก็รู้ชัดว่า
หายใจออกยาว  หรือเมื่อหายใจ  เข้ายาว  ก็รู้ชัดว่า  หายใจเข้ายาว  เมื่อหายใจออกสั้น  ก็รู้ชัดว่า
หายใจออกสั้นหรือเมื่อหายใจเข้าสั้น  ก็รู้ชัดว่า  หายใจเข้าสั้น  สำเหนียกอยู่  ว่าเราจักเป็นผู้
กำหนดรู้กองลมทั้งปวง  หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง  หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่  ว่าเราจักระงับกายสังขาร  หายใจออก  ว่าเราจักระงับกายสังขาร  หายใจเข้า
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความเพียร  ส่งตนไปในธรรมอยู่  อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่
อาศัยเรือนเสียได้  เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น  ย่อมคงที่  แน่นิ่ง
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น  ตั้งมั่นดูกรภิกษุทั้งหลาย
 แม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ  ฯ
           [๒๙๕]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุเดินอยู่  ก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน
หรือยืนอยู่  ก็รู้ชัดว่ากำลังยืน  หรือนั่งอยู่  ก็รู้ชัดว่ากำลังนั่ง  หรือนอนอยู่  ก็รู้ชัดว่ากำลังนอน
หรือเธอทรงกายโดยอาการใดๆ  อยู่  ก็รู้ชัดว่า  กำลังทรงกายโดยอาการนั้นๆ  เมื่อภิกษุนั้น
ไม่ประมาท  มีความเพียร  ส่งตนไปใน  ธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น  ย่อมคงที่  แน่นิ่ง  เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ตั้งมั่น
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ  ฯ
           [๒๙๖]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำความ  รู้สึกตัวในเวลา
ก้าวไปและถอยกลับ  ในเวลาแลดู  และเหลียวดู  ในเวลางอแขนและเหยียดแขน  ในเวลา
ทรงผ้าสังฆาฏิ  บาตร  และจีวร  ในเวลา  ฉัน  ดื่ม  เคี้ยว  และลิ้ม  ในเวลาถ่ายอุจจาระและ
ปัสสาวะ  ในเวลา  เดิน  ยืน  นั่งนอนหลับ  ตื่น  พูด  และนิ่ง  เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท
มีความเพียร  ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้  เพราะ
ละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น  ย่อมคงที่  แน่นิ่ง  เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ตั้งมั่น
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ  ฯ
           [๒๙๗]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้  แล  ข้างบนแต่พื้น
เท้าขึ้นไป  ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา  มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ  เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
ว่ามีอยู่ในกายนี้  ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  หัวใจ
ตับ  พังผืด  ไต  ปอดไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  ดี  เสลด  น้ำเหลือง
เลือด  เหงื่อมันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร  ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนไถ้มีปากทั้ง  ๒  ข้าง  เต็มด้วยธัญญชาติต่างๆ  ชนิด  คือ  ข้าวสาลี   ข้าวเปลือก
ถั่วเขียว  ถั่วทอง  งา  และข้าวสาร  บุรุษผู้มีตาดี  แก้ไถ้นั้นออกแล้วพึงเห็นได้ว่า  นี้ข้าวสาลี
นี้ข้าวเปลือก  นี้ถั่วเขียว  นี้ถั่วทอง  นี้งา  นี้ข้าวสารฉันใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ฉันนั้น
เหมือนกันแล  ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แลข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป  ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ  เต็มด้วยของไม่สะอาด  มีประการต่างๆ  ว่ามีอยู่ในกายนี้  ผม  ขน  เล็บ
ฟัน  หนังเนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่
ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้นน้ำตา  เปลวมัน
น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร  เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความ  เพียร  ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้
ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายใน
เท่านั้น  ย่อมคงที่  แน่นิ่งเป็นธรรมเอกผุดขึ้น  ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่า
เจริญ  กายคตาสติ  ฯ
           [๒๙๘]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้  แล  ตามที่ตั้งอยู่
ตามที่ดำรงอยู่  โดยธาตุว่า  มีอยู่ในกายนี้  ธาตุดิน  ธาตุน้ำธาตุไฟ  ธาตุลม  ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนคนฆ่าโค  หรือลูกมือของคนฆ่าโค  ผู้ฉลาด  ฆ่าโคแล้วนั่งแบ่งเป็นส่วนๆ  ใกล้ทาง
ใหญ่  ๔  แยก  ฉันใดดูกรภิกษุทั้งหลาย  ฉันนั้นเหมือนกันแล  ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แล
ตามที่ตั้งอยู่  ตามที่ดำรงอยู่  โดยธาตุว่า  มีอยู่ในกายนี้  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุไฟ  ธาตุลม
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความเพียร  ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ย่อมละความดำริพล่านที่
อาศัยเรือนเสียได้  เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น  ย่อมคงที่  แน่นิ่ง
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น  ตั้งมั่น
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ  ฯ
-----------------------
          (อธิบายเพิ่ม)    และแม้แต่ผู้ที่ได้ รูปฌาน เมื่อได้ปฏิบัติ กายคตาสติ เมื่อปฏิบัติ กายคตาสติ สภาวธรรมก็ยังแยกออกมาอย่างชัดเจน ไม่ได้ปนกัน ดังนี้
------------------
              [๓๐๓]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุสงัดจากกาม  สงัดจากอกุศลธรรม
เข้าปฐมฌาน  มีวิตก  มีวิจาร  มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่  เธอยังกายนี้แล  ให้คลุก  เคล้า
บริบูรณ์  ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก  ไม่มีเอกเทศไรๆ  แห่งกายทุกส่วนของเธอที่ปีติ
และสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน  หรือ
ลูกมือของพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด  โรยจุณสำหรับสรงสนานลงในภาชนะสำริดแล้ว  เคล้า
ด้วยน้ำให้เป็นก้อนๆ  ก้อนจุณสำหรับสรงสนานนั้น  มียางซึม  เคลือบ  จึงจับกันทั้งข้างใน  ข้างนอก
และกลายเป็นผลึกด้วยยาง  ฉันใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ฉันนั้นเหมือนกันแล  ภิกษุย่อมยังกายนี้แล
ให้คลุก  เคล้า  บริบูรณ์  ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก  ไม่มีเอกเทศไรๆ  แห่งกายทุกส่วน
ของเธอที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง  เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความเพียร  ส่งตนไป
ในธรรมอยู่อย่างนี้ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้  เพราะละความดำริพล่านนั้นได้
จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น  ย่อมคงที่  แน่นิ่ง  เป็นธรรมเอกผุดขึ้น  ตั้งมั่น  ดูกรภิกษุทั้งหลาย
แม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ  ฯ
            [๓๐๔]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุเข้าทุติยฌาน  มีความผ่องใสแห่งใจ
ภายใน  มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น  เพราะสงบวิตกและวิจารไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร  มีปีติ
และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่  เธอยังกายนี้แล  ให้คลุกเคล้า  บริบูรณ์  ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิด
แต่สมาธิ  ไม่มีเอกเทศไรๆ  แห่งกายทุกส่วนของเธอที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง  ดูกร
ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนห้วงน้ำพุ  ไม่มีทางระบายน้ำทั้งในทิศตะวันออก  ทั้งในทิศตะวันตก
ทั้งในทิศเหนือ  ทั้งในทิศใต้เลย  และฝนก็ยังไม่หลั่งสายน้ำโดยชอบตามฤดูกาล  ขณะนั้นแล
ธารน้ำเย็นจะพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้น  แล้วทำห้วงน้ำนั้นเอง  ให้คลุกเคล้า  บริบูรณ์  ซาบซ่านด้วย
น้ำเย็น  ไม่มีเอกเทศไรๆ  แห่งห้วงน้ำทุกส่วนนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง  ฉันใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ฉันนั้นเหมือนกันแล  ภิกษุย่อมยังกายนี้แล  ให้คลุก  เคล้า  บริบูรณ์  ซาบซ่านด้วยปีติและสุข
เกิดแต่สมาธิไม่มีเอกเทศไรๆ  แห่งกายทุกส่วนของเธอที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความเพียร  ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัย
เรือนเสียได้  เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น  ย่อมคงที่  แน่นิ่ง
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น  ตั้งมั่น
 ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ  ฯ
             [๓๐๕]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ
มีสติสัมปชัญญะอยู่  และเสวยสุขด้วยนามกาย  ย่อมเข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า
ผู้วางเฉย  มีสติ  อยู่เป็นสุขอยู่  เธอยังกายนี้แล  ให้คลุก  เคล้า  บริบูรณ์  ซาบซ่านด้วยสุข
ปราศจากปีติ  ไม่มีเอกเทศไรๆ  แห่งกายทุกส่วนของเธอที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง  ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย  เปรียบเหมือนดอกบัวขาบ  หรือดอกบัวหลวง  หรือดอกบัวขาว  แต่ละชนิด
ในกอบัวขาบหรือในกอบัวหลวง  หรือในกอบัวขาว  เกิดแล้วในน้ำ  เนื่องอยู่ในน้ำ  ขึ้นตามน้ำ
จมอยู่ในน้ำ  อันน้ำเลี้ยงไว้  คลุก  เคล้า  บริบูรณ์  ซึมซาบด้วยน้ำเย็นจนถึงยอดและเง่า  ไม่มี
เอกเทศไรๆ  แห่งดอกบัวขาบ  หรือดอกบัวหลวง  หรือดอกบัวขาวทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง
ฉันใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ฉันนั้นเหมือนกันแลภิกษุย่อมยังกายนี้แล  ให้คลุก  เคล้า  บริบูรณ์
ซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ  ไม่มีเอกเทศไรๆ  แห่งกายทุกส่วนของเธอที่สุขปราศจากปีติจะไม่
ถูกต้อง  เมื่อ  ภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความเพียร  ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริ
พล่านที่อาศัยเรือนเสียได้  เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น  ย่อมคงที่
แน่นิ่ง  เป็นธรรมเอกผุดขึ้น  ตั้งมั่น
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้อย่างนี้  ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ  ฯ
----------------------------
      (ข้อสังเกต ....)   สภาวธรรมของกายคตาสติ ก็ย่อมแตกต่างกับ รูปฌาน ดังรูปฌามที่ 2 ทุติยฌาน ที่เกิดสภาวะ   เป็นธรรมเอกผุดขึ้น   และเมื่อปฏิบัติเป็น กายคตาสติ ก็มี  เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ซ้อนเข้าไปอีกที  ซึ่งหมายความว่า  
        เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ของทุติยฌาน มีสภาวะต่างกันกับ ของกายคตาสติ แยกอย่างชัดเจน.

         ดังนั้น เพียงแต่การอ่านการเรียนบัญญัติในทางพุทธศาสนา จนเข้าใจ และสามารถยกข้อบัญญัติใดๆ ได้ หรือ อธิบาย ดังความเข้าใจได้ เหมือนดังอธิบายวิชาการทางโลก หรือเรียนศึกษาพระไตรปิฎก หรือตามตาราพุทธศาสนา แล้วเข้าใจว่าเป็นพระอริยะ หรือเข้าใจว่าอย่างนี้แหละถูกต้อง โดยปฏิบัติธรรมเพียงเล็กๆ น้อย ๆ พละ 5 (สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร) ก็ไม่ได้เจริญสมบูรณ์อย่างดี และซ้ำก็ไม่มีสภาวธรรมที่เป็นประสบการณ์ตรงบังเกิดรองรับใดๆ เลย  
          ดังที่หลายๆ ท่าน และมีมากในยุคปัจจุบัน ที่เห็นคลาดเคลื่อนอยู่ ที่เข้าใจว่า ตน หรือผู้ศึกษาอย่างนั้น ถูกต้องและพึงเป็นพระอริยะ จนแม้กระทั้งยกพุทธพจน์เพียงส่วนเดียวเพื่อสนองความเข้าใจตนเอง (พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 )ดังนี้

-------------------------------------------------------
         เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ รอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีด ย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้หรือลูกมือ
นายช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือ
เมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้ ที่จริง เมื่อด้ามมีดสึกไปเขาก็รู้ว่าสึกไปนั่นเทียว ฉันใด
--------------------------------------------------------

    โดยไม่ยกมาอย่างสมบูรณ์  ว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึง ผู้หรือภิกษุ ผู้หมั่นเจริญภาวนา ไม่ใช่เพียงศึกษาบัญญัติด้วยการอ่านการคิด การคบคิดแบบวิชาการทางโลก หรือปฏิบัติเพียงเล็กๆ น้อยๆ  ดังนี้

--------------------------------------------------------
         เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ รอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีด ย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้หรือลูกมือ
นายช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือ
เมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้ ที่จริง เมื่อด้ามมีดสึกไปเขาก็รู้ว่าสึกไปนั่นเทียว ฉันใด ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะ
ของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้ แต่ที่จริง เมื่ออาสวะ
สิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไปนั่นเทียว ฯ
------------------------------------------

เสนอข้อมูลเพื่อศึกษาและพิจารณา  และสามารถแสดงความเห็นได้นะครับ.

จากคุณ : P_vicha
เขียนเมื่อ : 30 ม.ค. 55 11:57:07




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com