Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เลิกห่วงความสวยหล่อ เลิกการเล่นสนุกร่าเริง ...จิตใจจะสงบ ติดต่อทีมงาน

~ พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ตรัสสอนวิธีการประพฤติ ให้จิตเข้าถึงธรรมว่า


                                  ขิฑฺฑํ รตึ กามสุขญฺจ โลเก
                                  อนลงฺกริตฺวาน อนเปกฺขมาโน
                                  วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที
                                  เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป



                        บุคคลเลิกพอใจการเล่น ความยินดีและกามสุขในโลก
                        ไม่ทะยานอยากอยู่
                        เว้นจากการประดับตกแต่ง
                        พูดความจริงเสมอ
                        พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น.




ที่มาของพระคาถานี้  มีดังนี้


             ในกรุงพาราณสี พระราชาพระนามว่า วิภูสกพรหมทัต(พรหมทัตชอบแต่งตัว) เสวยยาคูหรือพระกระยาหารแต่เช้าตรู่ ทรงให้ตกแต่งพระองค์ ด้วยเครื่องประดับนานาชนิด ทรงส่องพระวรกายทั้งสิ้นในพระฉาย(กระจก)ใหญ่ ทรงเอาเครื่องประดับที่ไม่ต้องการออกเสีย ให้พนักงานตกแต่งด้วยเครื่องประดับอย่างอื่น.

              ในวันหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงกระทำอย่างนี้ ก็ถึงเวลาเสวยพระกระยาหารตอนเที่ยง ครั้งนั้นพระองค์ยังตกแต่งไม่เสร็จเลย ก็ทรงโพกพระเศียรด้วยผืนผ้า แล้วเสด็จเข้าที่บรรทมในกลางวัน เมื่อพระองค์เสด็จลุกขึ้น ทรงกระทำอย่างนั้นแม้อีก พระอาทิตย์ก็อัสดง.

              ในวันที่ ๒ ก็ดี ในวันที่ ๓ ก็ดีก็ทรงกระทำอย่างนั้น เมื่อพระองค์ทรงขวนขวายในการตกแต่งอย่างนั้นก็เกิดพระโรคปวดในพระปฤษฎางค์. (ปวดหลัง)

              พระองค์ทรงพระราชดำริดังนี้ว่า โอ! โธเอ๋ย เราแม้ตกแต่งอยู่ด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด ก็ไม่พอใจในเครื่องประดับที่สมควรนี้ ยังความโลภให้เกิดขึ้นได้ ก็ขึ้นชื่อว่าความโลภนั้น ทำให้คนถึงอบาย เอาเถอะ เราจะข่มความโลภนั้น ดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า


                                  ขิฑฺฑํ รตึ กามสุขญฺจ โลเก
                                  อนลงฺกริตฺวาน อนเปกฺขมาโน
                                  วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที
                                  เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                        บุคคลไม่พอใจการเล่น ความยินดีและกามสุขในโลก
                        แล้วไม่เพ่งเล็งอยู่ เว้นจากฐานะแห่งการประดับ มีปกติ
                        กล่าวคำสัตย์พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ดังนี้.

           
              การเล่น มีอธิบายดังนี้*

              ว่าด้วยการเล่น ๒ อย่าง

            คำว่า ความหัวเราะ ความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมหัวเราะเกินประมาณจนฟันปรากฏ. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหัวเราะเกินประมาณจนฟันปรากฏนี้เป็นกิริยาของเด็ก ในอริยวินัย ชื่อว่า การเล่น ได้แก่การเล่น ๒ อย่าง คือ การเล่นทางกาย ๑ การเล่นทางวาจา ๑.

              การเล่นทางกายเป็นอย่างไร ? ชนทั้งหลายย่อมเล่นช้างบ้าง เล่นม้า
บ้าง เล่นรถบ้าง เล่นธนูบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๑๐ ตาบ้างเล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนบ่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เห็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้างเล่นกังหันบ้าง เล่นตวงทรายบ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายกันบ้างเล่นทายใจกันบ้าง เล่นเลียนคนขอทานบ้าง นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย.

            การเล่นทางวาจาเป็นไฉน? เล่นตีกลองปาก เล่นพิณพาทย์ปาก เล่นรัวกลองด้วยปากเล่นผิวปาก เล่นกะเดาะปาก เล่นเป่าปาก เล่นซ้อมเพลง เล่นโห่ร้อง เล่นร้องเพลง เล่นหัวเราะกัน นี้ชื่อว่าการเล่นทางวาจา.



              บทว่า กามสุขํ ได้แก่ ความสุขในวัตถุกาม.

              จริงอยู่ วัตถุกามทั้งหลาย เรียกว่าสุข เพราะเป็นอารมณ์เป็นต้นของความสุข. เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า รูปมีอยู่ ความสุข ติดตามสุข ดังนี้. บุคคลไม่พอใจ คือไม่กระทำว่าพอละซึ่งการเล่น ความยินดี และกามสุขนั่นในโอกาสโลกนี้อย่างนี้แล้ว ไม่ถือสิ่งนั่นเพราะรู้ว่า ก่อความเดือดร้อนเพราะสิ่งนั้นจะแปรปรวนไป หรือไม่ถือสิ่งนั้นว่าเป็นสาระ.

              บทว่า อนเปกฺขมาโน ความว่า มีปกติไม่เพ่งเล็ง คือไม่มีความอยาก ไม่มีความทะยานอยาก.

              ในคำว่า วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที เอโก จเร นี้ พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า เครื่องประดับมี ๒ อย่าง คือเครื่องประดับสำหรับฆราวาส ๑ เครื่องประดับสำหรับบรรพชิต ๑.

              ก็เครื่องประดับสำหรับฆราวาสมีผ้าสาฎก ผ้าโพก ดอกไม้และของหอมเป็นต้น ส่วนเครื่องประดับสำหรับบรรพชิตมีเครื่องตกแต่ง คือบาตรเป็นต้น เครื่องประดับนั่นเอง ชื่อว่าวิภูสนัฏฐานะ เว้นจากฐานะแห่งการประดับนั้นด้วยวิรัติแม้ ๓ อย่าง.

              ชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ เพราะพูดไม่ผิด ดังนี้แล.
              วิภูสนัฏฐานคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์          



************************

เรียบเรียงจากอรรถกถา
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  ขุททกนิกาย
ขัคควิสาณสูตรที่ ๓
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6971&Z=7101&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=296

* ในส่วนของการเล่น เรียบเรียงจากอีกพระสูตรหนึ่งเพื่อขยายเนื้อความ
ตุวฏกสุตตนิทเทส
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=7639&Z=9093

แก้ไขเมื่อ 03 ก.พ. 55 10:35:01

แก้ไขเมื่อ 02 ก.พ. 55 20:00:49

จากคุณ : Serene_Angelic
เขียนเมื่อ : 2 ก.พ. 55 19:21:40




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com