Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
กรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต ติดต่อทีมงาน

กรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต

เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐานแล้ว มักเป็นที่เข้าใจว่า ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเข้าวัดอาราม สำนักสงฆ์หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆที่มีการฝึกฝนอบรมการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา และมักได้ยินได้ฟังจนคุ้นหูจากนักปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาทั้งหลายที่ได้ผ่านการอบรมมา ปฏิบัติมาแล้วว่า ได้องค์กรรมฐานภาวนามาบ้าง ได้ไปเข้ากรรมฐานมาบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ มีความเข้าใจกันไปตามมติของตนเอง หรือจากนักปริยัติที่ยึดถือตามตำราว่า การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นพวกฝ่ายสมถะกรรมฐานหรือกรรมฐานหินทับหญ้า เอาแต่ติดสุขสงบสบายอยู่แต่ในกรรมฐานนั้น ไม่ทำให้เกิดปัญญาใดๆขึ้นมาได้เลย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ที่เป็นการคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในทางพระพุทธศาสนา 

คำว่า "กรรมฐาน" นั้น ประกอบไปด้วยคำว่า "กรรม" บวกกับคำว่า "ฐาน" ซึ่งแปลได้ว่า "ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต" ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ??? เพราะกาย วาจาของเรานั้น ล้วนมีการเคลื่อนไหวกระทำการใดๆออกไปตามเรื่องราวต่างๆ ภายใต้การบังคับบัญชาของจิตใจ หรือ ตกอยู่ในอำนาจของจิตใจที่ครอบครองกายกรรม วจีกรรมนี้อยู่ กรรมฐานจึงเป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ ที่ทำให้เป็นไป ทำให้เกิดขึ้น มีขึ้น นั่นเอง

ในทางโลกนั้น ก็มีกรรมฐานด้วยเช่นกัน แต่กรรมฐานหรือฐานที่ตั้งการงานทางจิตในโลก ล้วนเป็นเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจากการทำงานทั้งหลาย หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการงานทางจิตที่ตนเองได้หมายเอาไว้ และกระทำลงไปด้วยความตั้งใจ เพื่อให้จิตมีฐานที่ตั้งแห่งการงานนั้น และเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามเนื้องาน เหตุการณ์หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผ่านเข้ามาในขณะนั้นๆ 

ซึ่งกรรมฐานเหล่านี้ไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ หรือก่อให้เกิดสติปัฏฐานขึ้นมาได้เลย เนื่องจากเป็นฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เกิดขึ้น ณ.ภายนอก หรือเป็นเพียงธรรมารมณ์ที่ได้หมายเอาไว้ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์หรือระยะเวลาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ซึ่งในบางครั้ง อาจประกอบด้วยวัตถุกาม หรือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลสกามและอกุศลธรรมขึ้นมาได้ ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่มักต้องคลุกคลีอยู่กับ กิเลส กรรม วิบากของตนเองที่เกิดขึ้นได้เสมอๆเป็นธรรมดา ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตเหล่านี้ ไม่สามารถก่อให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญาขึ้นมาได้เลย และยังเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดกิเลสกามและอกุศลธรรมขึ้นมาที่จิตได้อีกด้วย 

จึงได้ปรากฏมีพวกนักบวช หรือพวกที่เบื่อหน่ายในทางโลก ที่ประสงค์จะออกจากกามและอกุศลธรรม หรือ กิเลส กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ เพื่อค้นหาอุบายธรรม ออกปฏิบัติค้นหารูปแบบต่างๆนานาๆมาปฏิบัติ เพื่อหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกามและอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดไปจากจิต ได้เกิดมีเจ้าลัทธิต่างๆเกิดขึ้นมาอย่างมากมายในโลก มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อด้วยกัน เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ว่าตนสามารถค้นพบหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ จากกามและอกุศลธรรมเหล่านี้ได้ และได้ประกาศตนเป็นเจ้าลัทธิต่างๆที่ได้บรรลุคุณธรรมอันเลิศแล้ว 

ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงศึกษาลัทธิต่างๆเหล่านี้มาแล้ว และรู้ได้ด้วยตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นจากทุกข์ที่แท้จริงเลย ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า
"เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น(สัมมาสมาธิ) เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม มิได้ก่อน"

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้(ตรัสว่ารู้)แล้ว ทรงตรัสว่า 
"เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น(สัมมาสมาธิ) เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม"

และได้ทรงแบ่งหลักการปฏิบัติธรรมของเจ้าลัทธิทั้งหลาย ออกเป็นทางที่สุด ๒ ส่วน ที่ภิกษุไม่ควรเข้าใกล้หรือไม่ควรเสพนั่นเอง คือ อัตตกิลมถานุโยค ๑ กามสุขัลลิกานุโยค ๑ ได้ทรงบัญญัติขยายความไว้ดังนี้ 

อัตตกิลมถานุโยค เป็นการประกอบความเหน็ดเหนื่อยเปล่าด้วยตนเอง ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไม่ใช่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

กามสุขัลลิกานุโยค เป็นการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นของปุถุชนคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 

พระพุทธองค์ทรงแสดงผลของการเสพธรรมทั้ง ๒ ส่วนนี้ และได้ทรงกล่าวไว้กว้างๆ พอให้เห็นโทษภัยของการเสพทาง ๒ ส่วนนั้น 


ส่วนกามสุขในส่วนที่ละเอียดลึกซึ้งระดับฌาน ที่เกิดจากรูปฌาน-อรูปฌานที่เรียกว่าฌานสมาบัติ ๘ นั้น ก็จัดอยู่ในส่วนของกามสุขัลลิกานุโยค ซึ่งเป็นกามสุขในส่วนที่ละเอียดมาก ผู้ปฏิบัติได้ล้วนเป็นพวกที่มีกิเลสเบาบาง เป็นโลกียปัญญาชั้นสูง อย่างพวกพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้มีปรารภไว้ ในตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ และเล็งเห็นด้วยพระญาณของพระองค์ว่า อาจารย์ทั้งสอง(ท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส) ได้อรูปฌาน ๗ และ ๘ นั้น เป็นผู้มีกิเลสเบาบางอย่างมาก เพียงแค่ฟังธรรมก็สามารถบรรลุธรรมได้โดยไว ชักนำให้เข้าสู่ทางสายกลางหรืออริยมรรคได้โดยง่าย น่าเสียดายที่ท่านจากโลกนี้ไปเสียแล้ว เพราะท่านเหล่านั้น ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมทางจิตมาอย่างช่ำชองโชกโชน และชำนาญแล้วเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง 

ฌานโลกีย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพุทธกาลเสียอีก รูปฌาน-อรูปฌานเหล่านี้ จึงเป็นการไปนำเอาอารมณ์ภายนอกกาย ที่เป็นรูปซึ่งปราศจากกามมาเป็นองค์(อารมณ์)แห่งการภาวนา หรือเป็นฐานที่ตั้งของสติ ไม่จัดเป็นสัมมาสติในมหาสติปัฏฐาน๔ อารมณ์ที่ว่านี้ เมื่อยิ่งฝึกฝนจนช่ำชองชำนาญคล่องแคล่ว จิตก็ยิ่งยึดมั่นถือมั่นด้วยความยินดีในอารมณ์นั้นๆอย่างเหนียวแน่น แนบแน่นมากยิ่งๆขึ้น ที่เรียกว่า "ฌานสมาบัติ" ยังถูกอารมณ์ที่ละเอียดเหล่านี้คอยปรุงแต่งครอบงำจิตให้เกิดความหวั่นไหวอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะยังให้มีความรู้สึกกังวลลึกๆเกิดขึ้นที่จิตของตนอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าอารมณ์ฌานเหล่านั้น จะหายไปหรือจืดจางไปจากจิตของตนนั่นเอง เรียกว่า ยังเป็นทุกข์อยู่ ไม่อาจจะพ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะปล่อยวางอารมณ์ฌานที่ละเอียดไม่เป็นนั่นเอง 

ซึ่งแตกต่างจากกรรมฐานที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ในสัมมาสมาธิอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการสร้างฐานที่ตั้งของสติจาก มหาสติปัฏฐาน ๔ อันมีกาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นอารมณ์ธรรมณ.ภายใน ล้วนเป็นฐานที่ตั้งของสติ อันเกิดจากภายในกาย หรือที่เรียกว่าพิจารณากายในกายนั่นเอง ทำให้เห็นพระไตรลักษณ์ในองค์ธรรมเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน โดยต้องเริ่มที่อานาปานสติ หรือคำภาวนาต่างๆที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสงฆคุณ เป็นสำคัญ เพราะองค์ธรรมเหล่านี้ ล้วนจัดอยู่ในกายสังขาร(กายในกาย)ทั้งสิ้น ต้องเริ่มจากฐานกายเท่านั้น ที่จะทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้ 

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างแน่นหนาในพระสูตร เมื่อได้ฐานที่ตั้งของสติแล้ว ย่อมเชื่อมโยงถึงฐานอื่นๆที่เหลือได้เองโดยอัตโนมัติ เรียกว่าสติปัฏฐานบริบูรณ์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในท้ายมหาสติปัฏฐาน ๔ ทุกบรรพะว่า "สักแต่ว่าเป็นที่ระลึกรู้ สักแต่เป็นว่าที่อาศัยเท่านั้น"

เมื่อสิ่งที่เป็นเพียงสักแต่ว่า ก็แสดงว่ากรรมฐานนั้นมีไว้ให้ใช้สอยเท่านั้น ไม่ใช่มีไว้ให้ยินดี หรือไม่ใช่มีไว้ให้ยึดถือเอาเป็นของๆตน 

เมื่อเป็นสิ่งที่สักแต่ว่า เมื่อหมดงาน ก็หมดกิจ กิจอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว จิตจึงรู้จักการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆทั้งหลายลงได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อใช้เป็น และรู้จักการใช้ได้อย่างคล่องแคล่วดีแล้ว ก็จะรู้เองเห็นเองโดยปราศจากข้อลังเลสงสัยใดๆอีกต่อไป ว่าเพราะอะไรจึงสักแต่ว่า....



บทส่งท้าย

บทความนี้อ้างอิงพระพุทธพจน์ ที่มาจากพระพุทธประวัติและพระสูตรบางส่วน ที่ต้องอ้างอิงเพราะเห็นว่า มีความเข้าใจผิดๆอย่างมากเกี่ยวกับฌานสมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นฌานที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าสมณะโคดมจะอุบัติขึ้นมาก่อนเสียอีก แต่ไปเข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับฌานในสัมมาสมาธิที่เป็นหนึ่งในอริยมรรค นั่นมันคนละเรื่องกันเลย 

ฌานที่เกิดจากสมาบัติ ๘ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปแล้วโดยสิ้นเชิงแล้วก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ว่า ไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นเพียงโลกียปัญญา และได้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นอีกทีในตอนประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า "อันธรรมที่เราได้ตรัสรู้ด้วยตนเองมานั้น เป็นธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อนเลย" ก็เป็นที่ยืนยันแน่นอนแล้วว่าฌานสมาบัติ ๘ เป็นสมาธิที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิกรรมฐานภาวนา ดังนี้

"เมื่อภิกษุมีความเพียรเป็นเครื่องตื่น มีสติสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น เบิกบานผ่องใส 
เห็นแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลายสมควรแก่กาลในการประกอบกรรมฐานนั้นเนืองๆ 
พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ความเป็นพระอนาคามี ฯ"

ขอให้เจริญในธรรมทุกๆท่าน

ธรรมภูต

จากคุณ : ในความฝันของใครสักคน
เขียนเมื่อ : 6 ก.พ. 55 07:07:54




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com