Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ระบบเศรษฐกิจอิสลาม.........กับการค้าการขาย ติดต่อทีมงาน

ระบบเศรษฐกิจอิสลามกับการค้าการขาย


ในคัมภีร์กุรอานมีคำสั่งอยู่มากมายหลายแห่งที่ส่งเสริมให้มุสลิมทำธุรกิจการค้าที่ถูกกฎหมายและ
หลากหลายรูปแบบ คำสั่งบางตอนถึงกับระบุไว้ว่า การค้าคือ “ความโปรดปรานของอัลลอฮฺ” ที่ได้มาจากการใช้ประโยชน์ทางทะเล แม่น้ำลำคลองและแผ่นดินในการค้าขายและการขนส่ง สินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ
         
“และพระองค์คือผู้ทรงทำให้ทะเลเป็นประโยชน์เพื่อสูเจ้าจะได้กินเนื้อจากมัน และจะเอาเครื่องประดับ จากมัน และสูเจ้าเห็นเรือแล่นฝ่าคลื่นในท้องทะเลและเพื่อสูเจ้าจะได้แสวงหาความโปรดปรานของ พระองค์และเพื่อสู้เจ้าจะได้ขอบคุณ” (กุรอาน 16:14)
         
ปัจจุบัน ลักษณะของการทำธุรกิจการค้ามีความสลับซับซ้อนและมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งที่สอดคล้องและขัดกับหลักการอิสลาม แต่ในบทความชิ้นนี้จะขอพูดถึงรูปแบบของ การทำธุรกิจประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนหน้าสมัยอิสลามและก็ยังถือเป็นที่อนุมัติตามกฎหมายอิสลามมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันหรือที่ในภาษาอาหรับเรียกว่า  “มุฎอรอบ๊ะฮฺ” อาจจะมาจากคำนี้ก็ได้

ความหมายทางวิชาการด้านกฎหมายมุฎอรอบ๊ะฮฺในทางวิชาการด้านกฎหมาย คือสัญญาที่เจ้าของทรัพย์สิน หรือสินค้าของตนมาเป็นทุนในการเป็นหุ้นส่วนกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งใช้ความสามารถในการประกอบการ มาเป็นทุน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน และในสัญญานี้ หุ้นส่วนทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนแบ่งร่วมกันในผลกำไรถ้าหากมีและถ้าหากเกิดการขาดทุนทั้งสองฝ่ายก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วยโดยฝ่ายที่นำทรัพย์สิน หรือสินค้ามาเป็นทุน จะขาดทุนในทรัพย์สินหรือสินค้า ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็จะขาดทุนแรงงานและเวลา และจะไม่ได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทน สัญญาประเภทนี้คือแกนกลางในระบบธนาคารปลอดดอกเบี้ย ตามหลักการอิสลาม

ชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด  ก็มีแบบอย่างของการปฏิบัติเช่นนี้ให้เห็น ท่านเข้ามาร่วมธุรกิจการค้ากับนางเคาะดีญะฮฺ บินติคุวัยลิด โดยรับเป็นผู้จัดการขายสินค้าให้แก่นางและ ท่านได้นำสินค้าของนางจำนวนมากไปขายยังแดนไกล การทำธุรกิจการค้าในรูปแบบนี้ เป็นที่ปฏิบัติมาในหมู่ ชาวอาหรับและเป็นสิ่งที่อิสลามอนุมัติ

หลังจากสมัยของท่านบรรดาสาวก ก็ยังใช้วิธีการเช่นนี้ในการทำธุรกิจ อับดุลลอฮฺและอุบันดุลลอฮฺ (ทั้งสองคนเป็นลูกของอุมัรฺ อิบนุลค็อฎฎอบ) ซึ่งเดินทัพไปยังอิรัคและในตอนขากลับ ทั้งสองได้พบกับอบูมูซา อัล-อัชอารี ซึ่งมุมัรฺส่งไปเป็นผู้ปกครองเมืองบัสเราะฮฺ อบูมูซาได้ต้อนรับคนทั้งสองและในระหว่างนั้น อบูมูซาได้กล่าวแก่คนทั้งสองว่า

“เงินทองที่นี่เป็นของอัลลอฮฺ ฉันต้องการจะส่งมันไปให้อะมีรุล มุมินีน (หมายถึงอุมัรฺ) ฉันจะให้เงินท่านไปซื้อสินค้าในอิรัค เพื่อนำไปขายที่มะดีนะฮฺ”

ทั้งสองจึงได้นำเงินนั้น ไปซื้อสินค้าและนำไปขาย เมื่อได้ทุนกลับคืนมา ทั้งสองก็คืนทุนให้แก่อุมัรฺพร้อมกับกำไรส่วนหนึ่ง และกำไรส่วนที่เหลือนั้น ทั้งสองคนก็รับไป

ดังนั้น คำว่า “มุฎอรอบ๊ะฮฺ” อาจหมายถึงบริษัทร่วมทุน ซึ่งในบริษัทนี้ ฝ่ายหนึ่งคือผู้เป็นเจ้าของ ทรัพย์สินมีสิทธิในผลกำไรที่เกิดจากสินค้า และอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิในผลกำไรอันเนื่องมาจากการ ใช้แรงงานหรือความสามารถของตน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมันเป็นสัญญาหุ้นส่วนร่วมกัน ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นจะแบ่งกันตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ระหว่างเจ้าของทุนกับผู้จัดการ

อิสลามยอมรับการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ก็เพราะมันเป็นความยุติธรรมและเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากบางครั้ง เจ้าของเงินหลายคนไม่สามารถนำเงินของตนไปลงทุนให้เกิดกำไรหรืองอกเงยขึ้นมาได้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีความรู้เรื่องการลงทุนเป็นอย่างดี แต่ไม่มีเงิน อิสลามจึงอนุมัติให้คนทั้งสอง นี้มารวมกันในสัญญามุฎอรอบ๊ะฮฺ เพื่อแต่ละฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกันจากสัญญานี้

ในสัญญามุฎอรอบ๊ะฮฺ ผู้ประกอบการจะไม่ได้รับค่าจ้าง ถ้าหากการขาดทุนเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการ ไม่ระมัดระวัง หรือเป็นความผิดโดยเจตนาของผู้ประกอบการ เขาจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายหรือการ ขาดทุนนั้น หากความเสียหายหรือการขาดทุนเกิดขึ้นเพราะสาเหตุอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ภัยธรรมชาติ สินค้าราคาตก เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการขาดทุนนั้น เพียงแต่เขาจะไม่ได้รับอะไรเป็น การตอบแทนการทำงาน

ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้จัดการในสัญญาประเภทนี้จะต้องเป็นคน ซื่อสัตย์สุจริตในการเป็นหุ้นส่วน และจะต้องทำกำไรให้มากเพื่อที่ตัวเองจะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรมากด้วย
         
ท่านนบีมุฮัมมัด (ซล)  กล่าวไว้ในฮะดิษกุดซีย์ตอนหนึ่งว่า

“ฉันเป็นหุ้นส่วนฝ่ายที่สามของหุ้นส่วนสองคน ตราบใดที่เขาไม่โกงเพื่อนของเขา แต่เมื่อเขาโกงเมื่อใด ฉันก็จะออกมาจากพวกเขา” (อบูดาวูด)

เงื่อนไขสัญญา

1) จะต้องมีใครบางคนจัดหาทุนเพื่อทำธุรกิจและจะต้องมีคนที่ซื่อสัตย์สุจริตมาจัดการทุนดังกล่าวตามที่อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ได้กำหนดไว้

2) สัญญานี้จะต้องกระทำโดยใช้เม็ดเงินที่เพียงพอต่อการสร้างกำไรหรือใช้ทองคำที่สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้

3) ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนแน่นอนว่าจะจะทำธุรกิจอะไร และจะแบ่งกำไรกันในอัตราส่วนเท่าใด

4) การสิ้นสุดสัญญาระหว่างคู่สัญญาทั้งสองจะต้องกำหนดไว้ให้เป็นที่ชัดเจนในเอกสารด้วย ถ้าหากสัญญาดังกล่าว
   
เป็นสัญญาลงทุนระยะเวลาหนึ่งปีหรือสองปีหรือมากกว่านั้น คัมภีร์กุอานสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
   
 “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อสูเจ้าจะต้องเกี่ยวข้องกันเรื่องหนี้สิน จะด้วยหนี้สินใดๆ ก็ตาม จนกว่าจะถึงกำหนดเวลาที่ถูกระบุไว้ก็จงบันทึกหนี้สินนั้นเสีย” (กุรอาน 2:282)

5) เจ้าของทุนจะต้องไม่วางมาตรการที่เข้มงวดแก่ผู้ประกอบการมากเกินไป จนผู้ประกอบการไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสะดวก

6) เมื่อหุ้นส่วนทั้งสองฝ่ายในธุรกิจมีส่วนแบ่งในผลกำไรร่วมกันก็จะต้องมีส่วนร่วมกันในการขาดทุนด้วยเช่นกัน

บางประเด็นที่มีความแตกต่างกันทางด้านกฎหมาย

ถึงแม้สำนักกฎหมายทั้งสี่จะมีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องรูปแบบทางธุรกิจดังกล่าวแต่ก็ยังมีบางประเด็นที่สำนักกฎหมายทั้งสี่มีความเห็นแตกต่างกัน เช่น

1) สำนักกฎหมายของอิสลามมาลิกและอิมามซาฟีอี มีทัศนะว่าเจ้าของทรัพย์สินน่าจะมีสิทธิ์สั่งผู้ประกอบการ
 
เกี่ยวกับเรื่องสถานที่ทำธุรกิจ ประเภทสินค้าที่จะขาย ระยะเวลาการขายว่าจะเป็นช่วงฤดูกาลไหน
 
และสัญญาระหว่างทั้งสองฝ่ายจะสิ้นสุดอย่างไร และเมื่อใด ส่วนอิมามอะฮฺมัด
 
อิบนุฮัมบัลและอิสลามอบูฮะนีฟะฮฺถือว่าผู้ประกอบการ ควรจะ   ได้รับอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะผู้ประกอบการควรจะรู้ว่าสินค้าอะไรที่เหมาะสมสำหรับเขาที่จะขาย หรือธุรกิจอะไรที่เขาควรจะทำ

2) อิสลามอะหมัดมีความเห็นด้วยว่าเจ้าของทรัพย์สินอาจจะสั่งใครบางคนที่เป็นหนี้เขาให้เริ่มทำธุรกิจตามสัญญามมุฎอรอบ๊ะฮฺด้วยเงินของเขาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนร่วมในผลกำไรด้วยกัน

ส่วนทัศนะของอิมามมาลิกในเรื่องนี้ก็คือผู้เป็นเจ้าของทุนน่าจะแจ้งให้ผู้จัดการ หรือผู้ประกอบการได้ทราบถึงธุรกิจที่เขาจะมีส่วนในผลกำไร แต่ผู้เป็นเจ้าของทุนจะรับผิดชอบต่อการขาดทุนแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม อิมามอบูฮะนีฟะฮฺและอิมามซาฟีอีนิ่งเงียบในเรื่องนี้

3) ตามสำนักกฎหมายของอบูฮะนีฟะฮฺ ผู้เป็นเจ้าของทุนควรจะหักทุนของเขาจากเงินทั้งหมดก่อนที่จะแบ่งกำไร

ถ้าหากกำไรหนึ่งแสนบาท ผู้เป็นเจ้าของทุนควรจะรับเพียงครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งให้ผู้ประกอบการไปหรือแบ่งไปตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ แต่ถ้าหากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเอาจำนวนมากเกินกว่าที่ตกลงไว้นั่นก็คือการเอาเปรียบ

ทัศนะของอิมามซาฟีอีเรื่องการแบ่งผลกำไรนั้น สอดคล้องกับทัศนะของอิมามอบูฮะนีฟะฮฺ อิมามซาฟีอีได้อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่ากำไรอาจจะแบ่งกันก่อนรวมทุน และถ้าหากผู้เป็นเจ้าของทุนเอาส่วนแบ่งของเขาไปก่อนการแบ่งผลกำไร เขาก็จะได้รับเฉพาะเปอร์เซ็นต์ส่วนที่เหลือ

4) สำนักอิมามมาลิกมีทัศนะว่า ถ้าหากมีการขาดทุนตามปกติ หรือมีการขโมยเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายก็จะมีแต่เฉพาะสิ่งที่เหลือไว้เท่านั้นที่จะนำมาแบ่งกัน

แต่ถ้าหากการขโมยหรือการยักยอกเกิดขึ้นจากการวางแผนทุจริต
ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบ

อิมาม อะหมัด อิบนุฮัมบัล มีทัศนะว่าถ้าหากเจ้าของทุนไม่อยู่    การแบ่งผลกำไรก็ยังไม่อาจทำได้

การจัดการทรัพย์สินของเจ้าของทุนที่เสียชีวิต
         
ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของทุนเสียชีวิตนั้น คู่สัญญาจะต้องเข้าใจด้วยว่าสัญญาที่ทำไว้กับผู้ตาย นั้นต้องสิ้นสุดลงด้วย ผู้ประกอบการจะต้องไม่นำทรัพย์สินหรือทุนของผู้ตายไปใช้ เว้นเสียแต่จะ ได้รับการยินยอมจากทายาทของผู้ตายเสียก่อน มิเช่นนั้นแล้ว ก็เท่ากับเขาได้ทำผิด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเขาสามารถทำกำไรจากทุนหรือทรัพย์สินของผู้ตายได้ เขาก็จะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรนั้น

การสิ้นสุดสัญญา

ซัยยิดซาบิกมีความเห็นว่าสัญญาจะเป็นโมฆะ โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

1) ถ้าหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดหลักการสำคัญของสัญญา

2) ถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถคุ้มครองเงินทุนหรือใช้ทุนนั้น นอกเหนือข้อตกลงของสัญญา

3) คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต


@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ที่มา : บรรจง บินกาซัน.2546. “มุฎอรอบ๊ะฮฺ หุ้นส่วนธุรกิจในอิสลาม” สารสัมพันธ์ (จุลสารเพื่อการเผยแพร่ อิสลาม
โครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม) มูลนิธิสันติชน ฉบับที่ 26 ประจำเดือนกันยายน – ตุลาคม, หน้า 2 – 6

แก้ไขเมื่อ 13 ก.พ. 55 17:04:51

จากคุณ : Jimbovy
เขียนเมื่อ : 13 ก.พ. 55 17:04:16




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com