Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อิสลาม.............ไม่มีวันยึดครองประเทศไทยอย่างแน่นอน{แตกประเด็นจาก Y11711701} ติดต่อทีมงาน

อิสลาม.............ไม่มีวันยึดครองประเทศไทยอย่างแน่นอน

หัวข้อกระทู้นี้ ต้องการสื่อถึงเจตนาของมุสลิมในประเทศไทย ต่อการไม่ต้องการยึดครองประเทศไทย และไม่เข้าข่ายในการแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย ตามบทบัญญัติของอิสลาม

โดยมีบทอรรถาธิบาย ดั่งต่อไปนี้

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ประเด็นการญิฮาดกับการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน

ความคิดหรือความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนตามหลักการของศาสนาถือว่า เป็นการละเมิดพันธะสัญญา (นักฎุ้ล อะฮฺดี้) ที่ได้เคยกระทำไว้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

การทำสงครามรบพุ่งระหว่างรัฐเกิดขึ้นจริง และการทำสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างรัฐสยามกับ รัฐปัตตานีก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเช่นกัน อีกทั้งการทำสงครามระหว่างรัฐทั้งสองก็เป็นเรื่องของการเมืองการปกครอง มิได้มีเหตุมาจากเรื่องการกดขี่ทางศาสนาหรือความเชื่อแต่อย่างใด

แม้ภายหลังสิ้นรัฐปัตตานีและมีการผนวกดินแดนและพลเมืองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศแล้ว

***ฝ่ายอำนาจรัฐโดยองค์พระมหากษัตริย์ก็มิได้มีนโยบายกดขี่บังคับพลเมืองมุสลิมในเรื่องศาสนาและความเชื่อ แต่องค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์และให้เสรีภาพใน การประกอบศาสนกิจแก่พลเมืองมุสลิมอย่างสมบูรณ์***

ถึงแม้ในบางช่วงจะมีนโยบายของฝ่ายรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมของชาวมุสลิมเกิดขึ้นบ้างก็ตาม แต่ได้แปรเปลี่ยนและกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ระบุถึงอำนาจหน้าที่และสิทธิของพลเมืองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใด



ดังปรากฏในหมวด ๓ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” มาตรา ๓๐

****“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้”****


และมาตรา ๓๘

**** “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุนี้คือ ศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมของศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น”***

และมาตรา ๔๖

*** “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”****


จักเห็นได้ว่าความสมบูรณ์แห่งการมีสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองมุสลิมโดยเฉพาะเรื่องการถือศาสนาและการปฏิบัติตามศาสนบัญญัตินั้นได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเปรียบเสมือน “พันธะสัญญา” (อัลอะฮฺดุ้ล, อัลวะซีเกาะฮฺ) ระหว่างรัฐ กับพลเมือง โดยพลเมืองมุสลิมจำต้องธำรงรักษาพันธะสัญญาดังกล่าวและจะละเมิดมิได้ ดังมีข้อความระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

“และสูเจ้าทั้งหลายจงธำรงรักษาพันธะสัญญาอย่างสมบูรณ์”

(บทอัลอิสรออฺ พระบัญญัติที่ ๓๔)


และข้อความที่ว่า

“(ศรัทธาชนที่แท้จริงนั้น) คือบรรดา ผู้ซึ่งพวกเขาได้ธำรงรักษาหน้าที่มอบหมายและพันธะสัญญาของพวกเขา” (บทอัลมุอฺมินูน พระบัญญัติที่ ๘, บทอัลมะอาริจฺญ์ พระบัญญัติที่ ๓๒) และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้ทรงตรัสถึงคุณสมบัติอันประเสริฐของศรัทธาชนอีกเช่นว่า

“และพวกเขาคือบรรดาผู้ธำรงรักษาพันธะสัญญาของพวกเขาอย่างสมบูรณ์ เมื่อพวกเขาได้ตกลงทำสัญญา” (บทอัลบะกอเราะฮฺ พระบัญญัติที่ ๑๗๗)


ดังนั้น การปฏิบัติตามพันธะสัญญาอย่างสมบูรณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยไม่อนุญาตให้ผิดสัญญา ไม่ว่าสัญญาข้อตกลงนั้นจะกระทำกับชาวมุสลิมหรือมิใช่มุสลิมก็ตาม (อัตตัฟซีร อัลมุนีร, ดร.วะฮฺ บะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ เล่มที่๑ หน้า ๑๑๕)

และการรักษาสัญญานั้นถือเป็นความดี ไม่ว่าจะเป็นพันธะสัญญาของพระองค์ อัลลอฮฺ (ซ.บ) -อะฮฺดุ้ลลอฮฺ- ด้วยการปฏิบัติตามและภักดีต่อพระองค์ หรือเป็นพันธะสัญญาระหว่างมุนษย์ด้วยกัน –อะฮฺดุ้นน๊าซ- ด้วยการธำรงรักษาพันธะสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ตราบใดที่พันธะสัญญานั้นมิได้ขัดต่อบัญญัติของศาสนา



อีกทั้งการรักษาสัญญานั้นเป็นเครื่องหมายประการหนึ่งของการมีศรัทธาที่ถูกต้อง และการทรยศและผิดสัญญานั้นเป็นหนึ่งจากเครื่องหมายของการเป็นผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) ดังปรากฏในพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า : เครื่องหมายของผู้กลับกลอกนั้นมี ๓ ประการ กล่าวคือ เมื่อเขาพูดเขาก็มุสา ,

เมื่อเขาสัญญาเขาก็ผิดสัญญา และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจเขาก็บิดพลิ้ว

” (รายงานพ้องกันโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม) ในอีกสายรายงานหนึ่งระบุว่า “ถึงแม้ว่าผู้นั้น จักถือศิลอด, ละหมาด และกล่าวอ้างว่าตนเป็นมุสลิมก็ตาม” (ริยาดุซซอลิฮีน, อันน่าวาวีย์ หน้า ๙๘ อัลหะดีษเลขที่ ๑๙๙)


ฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญมีสถานภาพเหมือนข้อตกลงหรือ พันธะสัญญาระหว่างรัฐกับพลเมืองมุสลิมที่มีการรับรองผ่านกระบวนการของระบอประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบที่ใกล้เคียงกับระบอบรัฐศาสตร์อิสลาม โดยพันธะสัญญานี้มิได้ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนา



การละเมิดรัฐธรรมนูญอันเป็นพันธะสัญญานี้จึงถือเป็นการประพฤติผิดสถานหนักตามข้อชี้ขาดของคัมภีร์อัลกุรอานและพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดอธิปไตยหรือการแบ่งแยกดินแดนหรือการประกอบอาชญากรรมที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและหลักคำสอนของศาสนาและศีลธรรมอันดีงาม



หากการแบ่งแยกดินแดนเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการตั้งรัฐอิสลามตามคำอ้างของผู้ก่อการ ก็จำต้องพิจารณาต่อไปว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และส่งผลกระทบต่อพลเมืองมุสลิมส่วนใหญ่หรือไม่แน่นอนหากพิจารณาเรื่องข้อตกลงในพันธะสัญญาอันได้แก่รัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงและถือเป็นการละเมิดสัญญาดังที่กล่าวมาข้างต้น


และหากการดำเนินการเพื่อแบ่งแยกดินแดนจะเป็นผลนำไปสู่ความเสียหายต่อพลเมืองมุสลิมโดยรวม อาทิเช่น ส่งผลให้ขาดเสรีภาพในการถือศาสนาและการประกอบศาสนกิจ เป็นต้น การดำเนินการเพื่อการนั้นจำต้องยุติ  โดยถือตามหลักนิติศาสตร์อิสลามที่ชี้ขาดว่า

“การปัดป้องความเสียหายทั้งปวงย่อมมาก่อนการถือเอาประโยชน์”

และถือตามคำวินิจฉัยของปวงปราชญ์ที่ชี้ขาดว่า

“อนุญาตให้ละทิ้งสิ่งที่มีน้ำหนักน้อยกว่า” หรือ “อนุญาตให้ละทิ้งสิ่งที่ดีกว่าไปสู่สิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้”

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการตั้งรัฐอิสลามจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาคมมุสลิมและเป็นความหวังสูงสุดในด้านอุดมคติสำหรับมนุษยโลก แต่เนื่องด้วยเหตุปัจจัยและสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้กระทำเช่นนั้นได้ อีกทั้งยังอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายและปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ ก็จำต้องเลือกเอาสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมน้อยกว่า ตามหลักนิติศาสตร์อิสลามที่ระบุว่า

“ให้ยึดกรณีที่ ส่งผลร้ายน้อยกว่า” (อัลอัคฺซุ้ บี้ อะค็อฟฺฟี่ อัฎฎ่อร่อรอยนี่)


กล่าวคือการไม่มีรัฐอิสลามสำหรับประชาคมมุสลิมถือเป็นผลร้ายแต่การมีรัฐอิสลามในยามนี้ จะส่งผลร้ายยิ่งกว่าต่อประชาคมมุสลิม ก็ให้ยึดเอาประเด็นแรกเป็นข้อปฏิบัติและบรรทัดฐาน

ซึ่งในความเป็นจริง สำหรับประชาคมมุสลิมในประเทศไทยแล้ว ได้รับความสะดวกในการใช้กฎหมายอิสลามและรูปแบบการปกครอง ส่วนหนึ่งจากรัฐศาสตร์อิสลามเกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม ดังเช่นกรณีการใช้กฎหมายอิสลามในหมวดการประกอบศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ตามหลักมูลฐาน ๕ ประการ (อัรกานุ้ลอิสลาม) โดยรัฐมิได้แทรกแซงและลิดรอนสิทธิในข้อนี้แต่ประการใด

หากแต่ยังได้ส่งเสริมและอุปถัมภ์อีกด้วย เช่น การสร้างมัสยิดสถาน การมีพระราชบัญญัติว่าด้วยกิจการฮัจญ์และอุมเราะฮฺ การก่อตั้งกองทุนซะกาต (เคยริเริ่มและดำเนินการในระดับหนึ่งแต่ยังไม่บรรลุผล) เป็นต้น


การใช้กฎหมายอิสลามในหมวดธุรกรรม (อัลมุอามาล๊าต) ก็เช่นกัน พลเมืองมุสลิมในประเทศไทยก็มีสิทธิเสรีภาพในการใช้กฎหมายอิสลามหมวดนี้โดยพฤตินัย อาทิเช่น การซื้อขาย การจำนอง การสมรส และการรับมรดก เป็นต้น

อีกทั้งฝ่ายรัฐยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเหตุจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2486 และจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งแม้ในบางประเทศมุสลิมเอง ก็หาได้รับการอุปถัมภ์และส่งเสริมเช่นนี้ไม่

ในส่วนรูปแบบการปกครองประชาคมมุสลิมในประเทศไทย ก็ได้รับการสนับสนุนด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540



ฉะนั้น การอ้างว่าพลเมืองมุสลิมไม่มีสิทธิเสรีภาพในการใช้กฎหมายอิสลาม และปกครองตามระบอบอิสลามโดยสิ้นเชิง และจำต้องแบ่งแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐอิสลาม จึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและขาดเหตุผลรองรับที่ชัดเจน


อ้างอิง

http://www.alisuasaming.com/index.php/article/ethnic/511-appendix-jihadin-islam

แก้ไขเมื่อ 16 ก.พ. 55 10:35:05

แก้ไขเมื่อ 16 ก.พ. 55 10:32:51

แก้ไขเมื่อ 16 ก.พ. 55 10:29:07

จากคุณ : Jimbovy
เขียนเมื่อ : 16 ก.พ. 55 10:23:32




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com