 |
ภาพนี้ เป็นภาพงามที่สุด ของหลวงปู่ ในความรู้สึกผม เป็นภาพที่ได้จาก ความเมตตา เมื่อท่านรับบาตร พวกเราครับ
อ่านประวัติหลวงปู่อย่างย่อๆ ที่ผมนำมาให้จบให้ได้นะครับ
หลวงปู่จาม เป็นพระมหาเถระ ที่มีอายุมากที่สุด ท่าน เกิด ในปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ช่วงก่อนที่จะทรงเสด็จสวรรคต ( ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ) คือใน วันพฤหัสบดี ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๓ ณ บ้านห้วยทราย คำชะอี จ.นครพนม ( ปัจจุบันเป็น อ.คำชะอี จังหวัดมุกดาหาร )
จากประวัติของท่าน
พ.ศ. ๒๔๕๙ ไปกราบ หลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่มั่น เมื่ออายุได้ ๖ ปี พ่อแม่ได้พา เด็กชายจามฯไปกราบ หลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่มั่น ซึ่งได้มาจำพรรษาอยู่ใกล้บ้านที่ภูผากูด คำชะอี
พ.ศ. ๒๔๖๔ ดูแลอุปัฏฐากพระกรรมฐาน บรรดาศิษย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นจำนวนประมาณ ๗๐ รูป ได้มารวมกันเป็นกองทัพธรรมสายพระกรรมฐานมากเป็นประวัติการณ์ ขณะนนั้น ท่านอายุได้ประมาณ ๑๑ ปี ได้ติดตามพ่อแม่ไปอุปัฏฐากดูแลพระกรรมฐานทั้งหลายอย่างใกล้ชิด
พ.ศ ๒๔๖๙ ถวายตัวกับหลวงปู่มั่น เมื่อเด็กชายจาม อายุได้ ๑๖ ปี พ่อแม่ได้พาไปถวายตัวกับหลวงปู่มั่น ที่ จ.อุบลราชธานี นุ่งขาวห่มขาว เป็นเวลา ๙ เดือน หรือที่เรียกว่าเป็น ผ้าขาว ๙ เดือน
พ.ศ. ๒๔๗๐ บรรพชาเป็นสามเณร ครั้งที่ ๑ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ๑ พรรษา ได้รับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน ได้แก่ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ , หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ , ท่านพ่อลี ธมฺมธโร , หลวงปู่สิงห์ ขนฺยาคโม , หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็น สหธรรมิกเพื่อนสามเณร กับ สามเณรสิม ( หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ) อีกด้วย พระทุกรูป ต่างก็ยึดท่านว่า ท่านคือ เณรของหลวงปู่มั่น
พ.ศ. ๒๔๗๑ ออกธุดงค์ เป็นครั้งแรก เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี หลวงปู่มั่น ได้ฝากสามเณรจาม ไว้กับ หลวงปู่กงมา หลวงปู่อ่อน หลวงปู่มหาปิ่น โดย สามเณรจาม ได้ติดตามครูบาอาจารย์ออกธุดงค์ไปยโสธร เป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๗๒ ป่วยจำเป็นต้องลาสิกขา เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี เพราะท่านป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคเหน็บชา (ความจริงเป็นอัมพาต กระดูกสันหลังหักกดทับเส้นประสาท อัมพาต อุจจาระปัสสาวะกลั้นไม่ได้ เป็นอยู่สามปี ... จักรแก้ว ) จึงจำเป็นต้องลาสิกขา เพื่อกลับ เพื่อกลับไปรักษาตัวที่ บ้านห้วยทราย คำชะอี จนหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ( อย่างไม่น่าเป็นไปได้เลย ไม่เคยมีใครที่เป็นมาสองปีขึ้นไปจะหายได้ .. จักรแก้ว ) และใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ทำไร่ ทำนา ค้าขาย ต่อมาจนถึงอายุ ๒๘ ปี
พ.ศ. ๒๔๘๐ ช่วงเดือน พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ท่านได้ ไปไหว้พระธาตุพนม จ.นครพนม เพื่ออธิฐานขอบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมา ท่าน จึงได้อุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๙ เต็มปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๒ ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระเทพกวี ( จูม พนฺธุโล ) เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุ ๓๒ ปี พรรษาที่ ๔ พบพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร,หลวงปู่ชอบ ฐานสโม.. พระจามออกจากวัดเจดีย์หลวง มุ่งหน้าไปจำพรรษาที่ วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้พบกับอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งเป็นสหธรรมิกกันในสมัยที่เป็นสามเณร
พ.ศ. ๒๔๘๖ อายุ ๓๔ ปี ธุดงค์กับ หลวงปู่ชอบ ,หลวงปู่สิม หลวงปู่ชอบ ได้พาอาจารย์สิม และพระจาม ออกธุดงค์ไปที่ อ.ฝาง อ.แม่อาย-บ้านม่วงสุม-บ้านมุ่งหวาย-บ่อน้ำร้อน อ.ฝาง ถึงประมาณเดือน ๖ ของปีนั้น
พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๓๖ ปี ( พรรษาที่ ๘ ) พบ หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ , พระอาจารย์น้อย สุภโร หลวงปู่จาม กับหลวงปู่สิม ไปจำพรรษาที่ป่าช้าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่
ในปี ๒๔๘๙ หลวงปู่จามไปพักที่วัดบ้านนาในกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ต่อจากนั้นหลวงปู่หลุยจึงพาหลวงปู่จามเข้ากราบหลวงปู่มั่น ซึ่งพักอยู่บ้านหนองผือนาใน แล้วกราบเรียนหลวงปู่มั่นว่า สามเณรจาม ตอนนี้บวชเป็นพระแล้วครับกระผม หลวงปู่มั่นกล่าวว่า บวชแล้ว เพราะท่านมีนิสัยนักบวช
หลวงปู่มั่นจึงให้โอวาทแก่หลวงปู่จามว่า เมื่อก้าวมาสู่หนทางแห่งความดี ต้องเดินหน้าสู้ทน ตายเป็นว่า ( ตายเป็นตาย ) อยู่เป็นว่า (อยู่เป็นอยู่ ) เหตุเพราะทางอื่นนั้นปราศจากความร่มเย็น ไม่เป็นความสุข อันนี้ความดีจะเป็นผลของตน ผู้เดินอยู่ในทางนี้ได้ตลอดไปนั้น จิตใจก็อยู่ใกล้ธรรมอยู่กับธรรมะไม่ละทิ้งความดี ตนก็จะเป็นผู้ราบรื่น ร่มเย็น ผาสุกอยู่ได้ในปฏิปทาแห่งตน เมื่อให้ธรรมะจบ หลวงปู่มั่นถามว่า เข้าใจไหม จำไว้ให้ดี เมื่อลากลับไปที่วัดบ้านนาใน
หลวงปู่จาม ซาบซึ้งในคำสอนนี้ ด้วยความปีติสุขใจยิ่ง พยายามทบทวนเพื่อให้จำไว้ให้ขึ้นใจ จะได้ไม่ลืม เพราะถือว่าคำสอนนี้เป็นกุญแจสำคัญแห่งชีวิตนี้ ต่อมาหลวงปู่จาม ได้มีโอกาสฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นในวาระสำคัญหลายครั้ง หลวงปู่จาม ได้ อธิฐานจิตถามหลวงปู่มั่นล่วงหน้าไว้ทั้ง ๔ ครั้ง ปรากฏว่าหลวงปู่มั่นทราบ ได้ด้วยญาณทัศนะและเทศนาในเรื่องที่หลวงปู่จามต้องการทราบทุกครั้ง
พ.ศ. ๒๔๙๕ อายุ ๔๒ ปี ท่านได้อ่านพระไตรปิฏก ๓ รอบ โดย ในปีนั้นท่าน ได้จำพรรษาที่วัดเชตวัน อ.เมือง จ.ลำปาง โดยหลวงปู่จามได้อธิฐานจะอ่านพระไตรปิฏกให้จบทุกเล่มในพรรษานี้ ปรากฏว่าท่านได้จบถึง ๓ รอบ มุมานะทั้งกลางวัน กลางคืน เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์ไปลำพูน เดินธุดงค์ผ่านเข้าเชียงใหม่ ไปบ้านช่อแล ไปวัดหลวงปู่ตื้อ ไปโรงธรรมสามัคคี (อยู่แทนหลวงปู่สิม ๑ พรรษา)
พ.ศ. ๒๔๙๙ อายุ ๔๖ ปี พรรษาที่ ๑๗ ถ้ำพระสบาย ที่ถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม ขณะสมณศักดิ์เป็นพระครูสุทธิธัมมาจารย์ได้นำคณะญาติโยมจัดสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในถ้ำพระสบาย
ท่านพ่อลีได้นิมนต์ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ หลวงปู่แว่น ธนปาโล พระอาจารย์น้อย สุภโร ไปทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยต่างองค์ก็ต่างสวดบทมนต์ตามถนัดตั้งแต่หัวค่ำจนถึงตีสี่จึงจบเสร็จพิธี พิธีที่แปลก แต่ละองค์จะมีพานไว้ข้างหน้าเพื่อเสี่ยงทายบารมี และจะนั่งอยู่องค์ละทิศของเจดีย์ หลวงปู่แว่น ธนปาโล นั่งอยู่หน้าถ้ำ จึงอธิษฐานว่าถ้าพระธาตุเสด็จมาในพานของใครมากน้อยก็แสดงว่าผู้นั้นได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากน้อยตามปริมาณที่พระธาตุเสด็จมา
แต่ละองค์ก็สวดบทมนต์ที่ตนถนัดหรือจำมาได้ ตลอดเวลารวมทั้งสวดปาฏิโมกข์ เมื่อสวดถึงประมาณตีสี่ ปรากฏว่าเสียงตกกราวลงมาคล้ายกระจกแตก จึงให้สัญญาณหยุดสวดเจริญพระพุทธมนต์ แล้วจึงได้ตรวจดูในพานของแต่ละท่านที่วางอยู่หน้าที่นั่งปรากฏว่าในพานของท่านพ่อลี มีพระธาตุมากที่สุด รองลงมาก็เป็นของหลวงปู่จาม
ต่อมาก็พระอาจารย์น้อย,หลวงปู่ตื้อและหลวงปู่แว่น ตามลำดับ ในมติคณะสงฆ์ตอนนั้น ได้มอบหมายให้หลวงปู่ตื้อ เป็นผู้วินิจฉัยถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะทุกองค์ยอมรับในความสามารถเข้าฌาณของหลวงปู่ตื้อ ว่ามีญาณทัศนะเป็นที่แน่นอน เมื่อหลวงปู่ตื้อเข้าสมาธิ เล็งญาณดูในอดีต จึงแจ้งให้คณะสงฆ์ทราบร่วมกันว่า ท่านพ่อลี เป็นพระเจ้าอโศกมหาราช หลวงปู่จาม เป็นกษัตริย์ชื่อ เทวนัมปิยะ ของประเทศศรีลังกา
พ.ศ. ๒๕๑๒ อายุ ๕๙ ปี พรรษาที่ ๓๑ หลวงปู่จาม ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด และได้อยู่พำนักที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย คำชะอี นับแต่นั้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
จากคุณ |
:
จักรแก้ว
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ก.พ. 55 08:38:00
|
|
|
|
 |