Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
<=== อิสลาม ===> เหตุใด?อารยธรรมตะวันตกไม่อาจนำมาซึ่งความผาสุขแก่มนุษยชาติได้ ... ฮะซัน อัลบันนา ติดต่อทีมงาน

http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=399&Itemid=30

วิพากษ์ตะวันตก  จากทัศนะของอิหม่าม ฮะซัน อัลบันนา

อัล อัค เรียบเรียง



อิหม่ามฮะซัน อัล บันนา(1906-1949)  นักฟื้นฟูอิสลามในช่วงต้นของศตวรรษที่แล้ว ผู้เป็นเสมือนบิดาผู้ให้กำเนิดการจัดรูปแบบการต่อสู้ในยุคใหม่ให้แก่กลุ่มอิสลามทั่วทุกมุมโลก แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ในเวลาอันสั้นๆ ก่อนถูกลอบสังหาร  


การขัดแย้งรุนแรงระหว่างโลกตะวันตกและโลกมุสลิมในวันนี้ ไม่ว่าจะมีเบื้องหลังหรือปัจจัยที่ซับซ้อนอย่างไรก็ตาม ทำให้เราสนใจขึ้นมาว่า อิหม่าม ฮะซัน อัล บันนา มองตะวันตกอย่างไร


อิหม่ามฮะซัน อัล บันนา มีชีวิตอยู่ในยุคที่ตะวันตกกำลังเฟื่องฟู ท่านได้เห็นสงครามใหญ่ที่ก่อขึ้นระหว่างตะวันตกกันเองและสงครามที่ตะวันตกต้องสู้รบกับขบวนการปลดปล่อยอาณานิคมในประเทศต่างๆ ในขณะนั้นโลกมุสลิมอ่อนแอ แทบพึ่งตนเองไม่ได้


สำหรับฮะซัน อัล บันนาแล้ว ถือว่าลักษณะของอารยธรรมตะวันตกเกิดมาจากการสั่งสมที่ยาวนาน แต่เป็นสั่งสมที่ไม่ลงตัว ระหว่างอาณาจักรและศาสนจักร ระหว่างสภาพทางจิตวิญญาณและทางวัตถุ ในท้ายที่สุดความสุดโต่งของศาสนจักรก็พ่ายแพ้แก่รัฐต่างๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นรัฐชาติและนำไปสู่การแบ่งแยกศาสนาออกอย่างชัดเจน แต่ผู้ปกครองรัฐพวกนี้กลับนำศาสนาไปเป็นเครื่องมือแห่งการพิชิต การยึดครองอาณานิคมและความทะยอทะยานทางการเมืองต่อไป


รัฐต่างๆในตะวันตก มิเพียงได้รับชัยชนะเหนือศาสนจักรที่ครอบครองมากว่าพันปีเท่านั้น แต่ยังได้รับมั่นใจอย่างล้นเหลือจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการปฏิบัติอุตสาหกรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็วเหนือกว่าที่แห่งใดในโลก ความสำเร็จนี้นี้นำชาวตะวันตกไปสู่ดินแดนต่างๆ ผลประโยชน์และทรัพยากรในดินแดนเหล่านั้นได้ยั่วยุพวกเขาจนเกิดความละโมภ และนำไปสู่การยึดครอง จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติ


อิหม่าม ฮะซัน อัล บันนา มองว่าอารยธรรมตะวันตกมีทรรศคติและลักษณะสำคัญประการที่เป็นพื้นฐานก็คือ “ความฉาบฉวย” ที่มีต่อชีวิต ชาวตะวันตกในทรรศนะของฮะซัน อัล บันนา เป็นไปตามลักษณะที่อัลกุรอานที่ว่า   “พวกเขารู้แต่ภายนอกของชีวิตโลกนี้ ...”  (อัลกุรอาน 30:7) ชาวตะวันตกจึงเป็นผู้ที่ขาดคำตอบของชีวิตและติดอยู่กับโลกแห่งวัตถุที่จับต้องได้


การวิจารณ์ของอิหม่าม ฮะซัน อัล บันนา ตรงนี้ แสดงถึงรากฐานการคิดอันแตกต่างกันอย่างไกลลิบ ระหว่างโลกตะวันตกและวิถีชีวิตแบบมุสลิม


จากความฉาบฉวยนี้เอง ที่นำไปสู่วิถีชีวิตอันเป็นลักษณะต่อมาของอารยธรรมตะวันตก ตามทรรศนะของอิหม่ามฮะซัน อัล บันนา แล้ว มันสอดคล้องกับอัลกุรอานที่ว่า “... พวกเขาจะเสพสุขและบริโภคประดุจเดียวกับปศุสัตว์ทั้งหลาย....”(อัล กุรอาน 47: 52)


อิหม่าม ฮะซัน อัล บันนา มองว่า ชาวตะวันตกปล่อยให้สัญชาติญาณฝ่ายต่ำมีอิสระโดยปราศจากเงื่อนไข ปล่อยให้ชีวิตถูกตอบสนองด้วยตันหาของกระเพาะและอวัยวะสืบพันธุ์ ก่อให้เกิดกิจกรรมที่อันตรายจำนวนมากมาย ผลสุดท้ายจะทำลายปัจเจกชนและสถาบันครอบครัว


อิหม่าม ฮะซัน อัล บันนา ยังมองต่อไปว่า ทิศทางเช่นนี้จะก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน ในระดับปัจเจกชนนั้นทุกคนก็จะหาแต่สิ่งที่ดีๆสิ่งที่อร่อยๆให้กับชีวิตตัวเอง ยังก่อให้เกิดการคุยโวข่มกันระหว่างชนชั้น และพยายามทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของชนชั้นหรือกลุ่มตนเอง ทิศทางนี้ยังพัฒนาไปสู่ระดับรัฐ นั่นคือแต่ละรัฐก็มุ่งเพียงเพื่อรักษา “ผลประโยชน์” ของรัฐ ดูถูกรัฐอื่นๆและพยายามครอบงำรัฐที่อ่อนแอกว่า


นอกจากนี้ อิหม่ามฮะซัน อัล บันนา เห็นว่า ลักษณะของอารยธรรมตะวันตกอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำให้ “ดอกเบี้ย” กลายมาเป็นหลักการในการทำมาหากินและได้แพร่หลายกิจกรรมดอกเบี้ยไปทุกแห่งหน อันกลายเป็นรากฐานของความอยุติธรรม ซึ่งสั่นสะเทือนสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม


กระนั้นสิ่งที่รุนแรงกว่าในทรรศนะของฮะซัน อัล บันนา ก็คือท่านมองว่าตะวันตกเป็นอารยธรรมที่รุกราน โดยอาศัยความรู้และการจัดองค์กรที่ดี ด้วยความพยายามที่จะยัดเหยียดสิ่งที่เลวร้ายตามทรรศคติข้างต้นให้กับโลกมุสลิม พยายามสั่งสอนให้ลูกหลานมุสลิมประพฤติตัวต่ำลง ให้ดูหมิ่นศาสนา และให้ยอมรับว่าไม่ว่าสิ่งใดที่เป็นของตะวันตกย่อมวิเศษวิโสกว่า


ตะวันตกในสายตาของอิหม่ามฮะซัน อัล บันนา จึงเป็นผู้เผยแผ่สิ่งที่ “อบอวลไปด้วยบาปและกลิ่นแห่งความชั่วร้าย”


ด้วยลักษณะเช่นนี้เอง อิหม่ามฮะซัน อัล บันนา จึงสรุปว่าเนื้อหาของอารยธรรมตะวันตกไม่อาจนำมาซึ่งความผาสุขแก่มนุษยชาติ ทั้งที่ตัวมันเองก็มีความดีในแง่ของการเปิดเผยวิทยาศาสตร์ให้แก่มนุษยชาติ และได้เสนอวิธีการต่างในการแสวงหาปัจจัยยังชีพต่างๆ แต่ความต่ำต้อยของตะวันตกไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ แต่กำเนิดมาจากรากฐานการมองชีวิตที่ “ฉาบฉวย” ต่างหาก


นี่คือความคิดเห็นของอิหม่ามฮะซัน อัล บันนา ที่มองตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่แล้ว ความเห็นนี้ยังถูกต้องเพียงใดในทุกวันนี้ ทุกคนก็น่าจะมีคำตอบในใจแล้ว

จากคุณ : abubilal
เขียนเมื่อ : 22 ก.พ. 55 21:00:50




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com