Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
*** พระสัมพุทธเจ้า เป็นยอดของผู้กล่าวสอนทั้งหลาย ได้ตรัสสัจจะ ๒ อย่าง คือสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ ไม่ตรัสสัจจะที่ ๓ *** ติดต่อทีมงาน

 

                บางท่านเมื่อฟังหรือพูดคุยพระธรรม  เกิดความสงสัย งงงวย สับสน ว่า 

--  ทำไม บางที บางคน พูดว่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ มีแต่จิต ร่างกาย ที่ไม่มีชื่อ ไม่มีการเกิดใหม่ คนทีเชื่อเกิดใหม่เป็นการเข้าใจผิด  

-- ทำไม บางที บางคน พูดว่า มีสัตว์ มีผลกรรม  มีการเกิดใหม่   

 

ตกลงความจริงเป็นอย่างไรกันแน่  อันไหนผิด  อันไหนถูก 

                                       ฟันธง มาเลยดีกว่า ว่าอันไหนผิด อันไหนถูก  !!! 

 

ในโอกาสนี้  จึงขออาราธนา คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์  ที่ท่านได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง ว่า

ทำไมบางครั้งจึงมีพระธรรม ที่แสดงว่า มีบุคคล มีชื่อ  มีการระลึกชาติได้  และอื่นๆ

ทำไมบางครั้งจึงมีพระธรรม ที่แสดงว่า ไม่มีบุคคล มีแต่เหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน

 

ดังนี้

 

=======================================================

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=139

                                   อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต
                                                  เอกบุคคลบาลี

                                     อรรถกถาเอกปุคคลวรรคที่ ๑๓              
                                                อรรถกถาสูตรที่ ๑              
               เอกปุคคลวรรค สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เอกปุคฺคโล แปลว่า บุคคลคนเดียว.
               บทว่า เอโก ในคำว่า เอกปุคฺคโล นี้ เป็นการกำหนดจำนวน ซึ่งมีใจความปฏิเสธคนที่ ๒ เป็นต้น.
               บทว่า ปุคฺคโล เป็นคำพูดโดยสมมติ ไม่ใช่คำพูดโดยปรมัตถ์.
               จริงอยู่ เทศนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ามี ๒ อย่าง คือ

สมมติเทศนา ๑

ปรมัตถเทศนา ๑.


               ใน ๒ อย่างนั้น

เทศนาทำนองนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทวดา มาร ชื่อว่าสมมติเทศนา.

เทศนาทำนองนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน ชื่อว่าปรมัตถเทศนา. 


               ในเทศนา ๒ อย่างนั้น ชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยสมมติ สามารถเข้าใจเนื้อความละโมหะ บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงสมมติเทศนาแก่ชนเหล่านั้น.
               ส่วนชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยปรมัตถ์ แล้วสามารถเข้าใจเนื้อความ ละโมหะ บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงปรมัตถเทศนาแก่ชนเหล่านั้น.

               ในข้อนั้น พึงทราบอุปมาดังต่อไปนี้ :-
               เหมือนอย่างว่า อาจารย์ผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น ผู้บรรยายเนื้อความแห่งเวททั้ง ๓ ชนเหล่าใด เมื่อพูดด้วยภาษาทมิฬย่อมรู้ใจความได้ ก็จะสอนชนเหล่านั้นด้วยภาษาทมิฬ ชนเหล่าใดเมื่อพูดด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาของชาวอันธะเป็นต้น ย่อมรู้ใจความได้ ก็จะสอนด้วยภาษานั้นๆ แก่ชนเหล่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น มาณพเหล่านั้นอาศัยอาจารย์ผู้ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมเรียนศิลปะได้โดยฉับพลันทีเดียว.


               ในอุปมานั้นพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเปรียบเหมือนอาจารย์.

 ปิฎก ๓ ตั้งอยู่ในภาวะที่จะต้องบอกกล่าว เปรียบเหมือนเวท ๓.

ความเป็นผู้ฉลาดในสมมติและปรมัตถ์ เหมือนความเป็นผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น.

เวไนยสัตว์ผู้สามารถเข้าใจความได้ด้วยอำนาจแห่งสมมติและปรมัตถ์ เหมือนมาณพผู้รู้ภาษาท้องถิ่นต่างๆ กัน.

เทศนาด้วยอำนาจสมมติและปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนการสอนด้วยภาษามีภาษาทมิฬเป็นต้นของอาจารย์. 


               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ว่า
                         พระสัมพุทธเจ้า เป็นยอดของผู้กล่าวสอนทั้งหลาย
                         ได้ตรัสสัจจะ ๒ อย่าง คือสมมติสัจจะและปรมัตถ
                         สัจจะ ไม่ตรัสสัจจะที่ ๓

                         คำที่ชาวโลกหมายรู้กันก็เป็นสัจจะ เพราะมีโลก
                         สมมติเป็นเหตุ คำที่ระบุถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็เป็น
                         สัจจะ เพราะมีความจริงของธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ
                         เพราะฉะนั้น มุสาวาท จึงไม่เกิดแก่พระโลกนาถ
                         ผู้ศาสดา ผู้ฉลาดในโวหาร ผู้ตรัสตามสมมติ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปุคคลกถา ว่าด้วยบุคคล ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ
                         เพื่อทรงแสดงหิริ ความละอายและโอตตัปปะ ความเกรงกลัว
                         เพื่อทรงแสดง กัมมัสสกตา (ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน)
                         เพื่อทรงแสดงบุคคลผู้กระทำเฉพาะตน
                         เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม (กรรมก่อนกรรมอื่นๆ ที่ให้ผล)
                         เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา)
                         เพื่อทรงแสดงถึงปุพเพนิวาสญาณ (ระลึกชาติก่อนไว้)
                         เพื่อทรงแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์แห่งทักขิณา)
                         และเพื่อไม่ทรงละโลกสมมติ ๑.


               เมื่อพระองค์ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัวดังนี้ มหาชนย่อมไม่เข้าใจ ย่อมงงงวย กลับเป็นศัตรู (โต้แย้ง) ว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัว. แต่เมื่อตรัสว่า หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพและมารย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัว มหาชนย่อมเข้าใจ ย่อมไม่งงงวย ไม่กลับเป็นศัตรู (ไม่โต้แย้ง). เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา (กถาว่าด้วยบุคคล) ก็เพื่อทรงแสดงหิริและโอตตัปปะ.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ทั้งหลาย ธาตุทั้งหลาย อายตนะทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า มหาวิหารทั้งหลายมีเวฬุวันเป็นต้นอันขันธ์ ธาตุ อายตนะสร้างแล้ว ก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงบุคคลผู้กระทำเฉพาะตน
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมปลงชีวิตบิดา มารดา พระอรหันต์ กระทำกรรมคือยังพระโลหิตให้ห้อ และกระทำสังฆเภท ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงอนันตริยกรรม.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมมีเมตตา ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงพรหมวิหารธรรม.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณ ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงปุพเพนิวาสญาณ.
               แม้เมื่อกล่าวว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมรับทาน มหาชนย่อมไม่เข้าใจ ย่อมงงงวย กลับเป็นศัตรูว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะย่อมรับทาน. แต่เมื่อกล่าวว่า บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเป็นต้น มหาชนย่อมเข้าใจ ย่อมไม่งงงวย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงความหมดจดแห่งทักษิณา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ละโลกสมมติ ตั้งอยู่ในชื่อของชาวโลก ในภาษาของชาวโลก ในคำพูดจากันของชาวโลกนั่นแลแสดงธรรม. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา แม้เพื่อไม่ละโลกสมมติ.


               ดังนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะบุคคลนั้นด้วย เป็นเอกด้วย.
               ที่ชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่ากระไร?
               เพราะอรรถว่าไม่มีผู้อื่นเหมือน เพราะอรรถว่าพิเศษโดยคุณ เพราะอรรถว่าเสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลเสมอ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไม่เหมือนกับมหาชนทั่วไป โดยคุณคือโพธิสมภารนับตั้งแต่ทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ตามลำดับและโดยพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่าไม่มีใครเหมือนบ้าง.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงมีคุณพิเศษกว่าคุณของเหล่าสัตว์ผู้มีคุณทั่วไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อบุคคลเอก เพราะอรรถว่ามีความพิเศษโดยคุณ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนๆ ไม่เสมอด้วยสัตว์ทุกจำพวก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านี้พระองค์เดียวเท่านั้น เป็นผู้เสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น โดยพระคุณคือรูปกายและพระคุณคือนามกาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่าเสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ.
...

...

...

...

...

=======================================================

กราบพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์   และบูรพาจารย์ที่รักษาพระธรรมมาถึงข้าพเจ้านี้

_/\_  _/\_  _/\_ 

 

จากคุณ : วงกลม
เขียนเมื่อ : 27 ก.พ. 55 13:45:19




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com