Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อีกมุมหนึ่งของการปฏิบัติ ติดต่อทีมงาน

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการปฏิบัติของเราเอง  เพราะเป็นความรู้ความเข้าใจเล็กๆน้อยของเราที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ซึ่งจะผิดหรือถูกนั้น อย่าเพิ่งเชื่อ ลองปฏิบัติดูค่ะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติธรรมกันยิ่งๆขึ้นไป และอาจจะพอเป็นประโยชน์บ้างเล็กๆน้อยๆ

ใหม่ๆ เริ่มปฏิบัติเพียงเพื่ออยากเปลี่ยนตัวเอง ตรงที่มีนิสัยโกรธง่าย ถึงแม้จะหายเร็ว แต่บางทีเรื่องไร้สาระ ก็ยังทำให้โกรธได้ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไม ขออนุญาตเริ่มจากการไปฝึกสติจากวัดอัมพวัน เป็นวัดแรกที่ไปปฏิบัติแบบมีครูบาอาจารย์

พระคุณเจ้าจะย้ำเสมอว่า ควรจะเริ่มจากการสวดมนต์ เดินจงกรม แล้วค่อยนั่งสมาธิ ท่านให้ความเมตตา แนะนำเรื่องสติ ซึ่งตอนนั้น ทำตามคำแนะนำ ทำแบบโง่ๆแหละ เพราะโง่จริงๆ มาปฏิบัติด้วยศรัทธาในพระพุทธองค์และหลวงพ่อจรัญล้วนๆ ด้วยความหวังอย่างเดียวคือแก้ปัญหานิสัยเสียของตัวเอง

ขั้นตอนการปฏิบัติ คงไม่ได้เล่าอย่างละเอียด ยกเพียงแค่บางส่วนที่อาจจะมีประโยชน์กับผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย ใหม่ๆนั้น การที่เริ่มสวดมนต์ก่อน ทำให้จิตลดความฟุ้งซ่านได้ในระดับนึง มาเดินจงกรม ซึ่งเป็นของใหม่ (เพราะก่อนหน้านั้นไม่รู้วิธี ได้แต่ทำมั่วๆ ตามสัญญาเลอะเลือนของเรา) ทำให้เราตั้งใจกับการเดินจงกรม พอถึงเวลาที่นั่งสมาธิ ฟุ้งซ่านจะน้อย แต่พอปฏิบัติไปจะมีเวทนาทางกายเกิดขึ้นบ่อยๆ เราก็อดทนตามที่พระคุณเจ้าแนะนำ ซึ่งตรงนี้สำหรับเรา คือประโยชน์สูงสุดในช่วงเวลานั้นๆ เพราะเราอาศัยตรงนี้ ทำให้จิตผูกกับอารมณ์เดียว สิ่งที่เราสังเกตตัวเราเองตอนปฏิบัติใหม่ๆ คือ เวทนาทางกายจะเกิดขึ้นรุนแรงช่วงใกล้จะหมดเวลาปฏิบัติ อดทนไปจนหมดเวลา ก็รู้สึกยินดี รีบขยับขา ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าเสียโอกาส แต่ตอนนั้นไม่รู้

ปฏิบัติใหม่ๆ จะรู้สึกเหมือนวูบไป แวบหนึ่ง จะว่าหลับก็ไม่ใช่ แต่พอหายวูบเกิดความสงสัย ทีนี้ก็เริ่มฟุ้ง ก็เพราะสติไม่ไวพอ เกิดความสงสัยแล้วไม่รู้ตัว เลยโดนหลอกให้ตั้งคำถามขึ้นเยอะแยะกับตัวเอง  อาการฟุ้งของเราตอนปฏิบัติส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น ตอนสมาธิลดระดับลง ซึ่งน่าจะเป็นกับผู้ปฏิบัติมากมาย ส่วนตัวขอแนะนำให้ ตามรู้ แต่อย่าเข้าไปช่วยปรุงแต่ง เช่นพอคิดปุ๊บก็กำหนดไป แล้วแต่สะดวก ส่วนตัวก็คิดหนอๆๆๆ มันมาอีก ก็กำหนดอีก ถ้าเราไม่มีสติ ไม่ระลึกรู้ ก็จะเกิดความฟุ้งซ่าน จนอาจเลิกปฏิบัติไปทั้งๆที่ยังไม่หมดเวลาที่ตั้งใจไว้ แรกๆจะไม่ชอบเลยเรื่องความฟุ้งซ่าน เพราะลืมที่จะใช้สติระลึกรู้ แต่พอเริ่มยอมรับมันว่า สภาพธรรมะของเราเป็นแบบนี้เอง ก็เริ่มที่จะฝึกให้มีสติตลอดเวลาที่นึกได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่สมาธิลดลง มันก็จะเกิดการเรียนรู้ ว่าไม่มีอะไรแน่นอน จิตที่ตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ จนระดับหนึ่งแล้วก็อยู่อย่างนั้นพักหนึ่ง แล้วก็ค่อยๆลดลงมา แล้วก็ตั้งอยู่ และก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น เป็นแบบนี้

ปีติในช่วงแรกๆ เราจะรู้สึกยินดีมากๆ ชอบมากๆ ที่เด่นชัดที่สุด ก็ตอนออกจากสมาธิ แล้วรู้ว่าตัวเองอยู่ในความสุข เป็นช่วงเวลาที่เดินเรียงแถวไปรับประทานอาหาร ภาพที่เกิดขึ้นภายนอกไม่สนใจ สนแต่ความสุขตรงนั้น จำไม่ได้ว่าตอนนั้นอารมณ์แบบนี้อยู่นานเท่าไหร่ จนเมื่อเกิดปีติอีกแบบซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่าคือปีติ เริ่มรู้สึกว่าตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือบางที ก็เหมือนที่ผิวหนังเป็นคลื่นๆ ยังไงไม่รู้ แต่ที่รับรู้ได้คือ ความสุขนั้นกลับมาอีกแล้ว ยินดีเป็นอย่างยิ่ง จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ปีติเกิดตอนสวดมนต์ ซึ่งเราเป็นคนชอบสวดมนต์ เราก็ไม่สนใจมัน แค่รับรู้ว่ามันมา พอรู้แล้วก็หายไป เป็นอยู่สองที อ้อ เลยทำให้เข้าใจว่า ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่สนใจ มันเกิด แล้วมันก็ดับ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ถ้าสนใจ ก็เหมือนกับเราเข้าไปคลุกคลีกับมัน ก็เรียกว่าขาดสติ แล้วพอมันหายไป สิ่งที่ตามมา คืออารมณ์ต่างๆที่จะเข้ามา โดยเราจะตั้งรับกับมันทัน
บ้างไม่ทันบ้าง ส่วนใหญ่จะไม่ทัน แต่ถ้าเราระลึกรู้ พอมันดับไป สมาธิก็ยังอยู่ (แต่อย่างไรเสีย ก็อย่าไปคิดว่าจะอยู่เช่นนั้นตลอด) และที่สำคัญสติก็ยังอยู่ พร้อมจะเผชิญสภาวะธรรมต่างๆได้ เลยทำให้เข้าใจขี้นเล็กน้อยว่า ไม่ใช่แค่เรื่องสมาธิลด ปีติก็ด้วย และก็ในทุกๆสภาพธรรมที่เกิดขึ้น

จากที่บอก เราจะเกิดเวทนาบ่อยมากๆ แล้วเราก็ไม่หนี แต่วิธีอาจจะไม่ถูกต้องนัก มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากปฏิบัติมาได้พักหนึ่งแล้ว เราจะสังเกตตั้งแต่ ขาเริ่มเป็นเหน็บชา ดูมันตั้งแต่เห็นว่าเริ่มมีเหมือนประจุไฟ เกิดแบบไวมากๆ เริ่มจากน้อยไปหามากแผ่กระจายไปทั่ว จนมันรวมกันเป็นหนึ่ง แล้วความเจ็บปวดก็ทวีตามจนสูงสุดในช่วงเวลานั้นๆ ก็ดูมันไป แต่ก็ยังคลุกอยู่ตรงนั้น จนมันค่อยๆจาง เหมือนกรอเทปกลับ ประจุไฟ จากที่รวมกัน ก็เริ่มน้อยลง จนหายไป แสงสว่างก็เริ่มกลับมา แต่ลึกๆแล้ว ยังมีความกลัวอยู่มากๆ รู้เลยว่าต้องเกิดอะไรขึ้น เพราะเหตุการณ์นี้มันเคยเกิดกับเราแล้ว คือเหมือนมันจะดึงเราเข้าไปในแสงสว่าง เราคอยดูอยู่ที่จิตที่มันดิ้นรนกระวนกระวายและความ
กลัว สุดท้าย จิตมันแยกออกมาดู ไม่ปะปนกับอารมณ์ เห็นทั้งแสงสว่างที่ยังอยู่ และอารมณ์ที่กลัว มันจะไวมากๆ พอถูกดึง ก็รู้สึกเจ็บเหมือนดึงกันไปมา แต่ตัวที่ดูก็ยังอยู่ สลับกันไปมา จนสุดท้าย แสงสว่างหายไป ตรงนี้ ทำให้เข้าใจ ทำให้รู้นิดๆ เรื่อง จิตที่แยกออกมาจากอารมณ์ เหตุการณ์แบบนี้นั้น มิใช่เกิดขึ้นเสมอ และมิใช่เกิดจากทางเดียว มีอีกหลายหลากวิธีที่จิตจะแยกออกจากอารมณ์ สุดแล้วแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นของแต่ละท่าน

เมื่อปฏิบัติแล้ว ถึงได้เข้าใจ ศีลนั้นสำคัญเช่นไร ศีลเป็นตัวคุมสมาธิ ให้ไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ว่าไม่มีศีลแล้วจะทำสมาธิไม่ได้ ทำได้ อย่างเช่นบุคคลที่ชอบทางไสยศาสตร์ ท่านเหล่านั้นล้วนได้สมาธิระดับหนึ่ง แต่กิเลสไม่ลดลง อาจจะทำให้เพิ่มขึ้นพร้อมๆกับสมาธิด้วยซ้ำ ยิ่งเราพยายามรักษาให้ศีลบริสุทธิ์มากเท่าใด เราก็คุมกายวาจาใจเรามากเท่านั้น ควบคู่กับการทำสมาธิ โอกาสที่จะเป็นมิจฉาสมาธิ ก็น้อยตาม เรื่องปัญญาไม่ต้องพูดถึง เมื่อเราไม่รักษาศีล  แล้วอะไรจะเป็นตัวทำให้เกิดปัญญาถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสติ
จริงอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ศีล สมาธิ ปัญญา

เจริญในธรรมค่ะทุกๆท่าน

จากคุณ : คุณป้าจำเป็น
เขียนเมื่อ : 21 มี.ค. 55 22:17:34




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com