Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
กรรมทันตา โอ้..อินเดีย 4 ติดต่อทีมงาน

โอ้..อินเดีย 4

มาฟังกันต่อนะ
เมื่อวานเล่าถึงความซาบซึ้ง ความมหัศจรรย์ของพุทธคยาในตอนกลางวัน
พอออกมาแล้วก็ไปดูบ้าน นางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาส
ซึ่งกลายเป็นเพียงกองอิฐที่ทำไว้ให้รู้ว่าเป็นบริเวณนี้นะ
แล้วก็ไปดูแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งขณะนี้เป็นหน้าแล้ง ไม่มีน้ำซักหยด
แม่น้ำกลายเป็นผืนทรายกว้างใหญ่สุดลูกตา แต่ดูจากตลิ่งแล้วก็เห็นได้ว่า
ถ้าเป็นหน้าฝน ก็จะมีน้ำขึ้นสูงพอสมควรเลยละ
แต่ก็ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เคยสงสัยมานานมาก
คือสงสัยว่า พระพุทธองค์ท่านเดินลุยข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งพุทธคยาได้ยังไง
พูดอย่างไม่อายนะครับ...
แต่ก่อนที่จะมาอินเดีย ผมก็เชื่อแหละว่าพระพุทธเจ้า ท่านมีจริง
พุทธประวัติ หรือพระไตรปิฎก ก็น่าจะจริง
แต่...มันเลือน ๆ ลาง ๆ ลอย ๆ ยังไงชอบกล
มันเหมือนกับ ท่านเป็นพระเอกในนิทานซะมากกว่า
แต่พอได้มาสัมผัสกับร่องรอยต่างๆ และกระแสพลังบางอย่าง ทำให้เชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่า
พระพุทธเจ้า มีจริง ท่านเป็นคนจริง ๆ
ทำให้ทุกเรื่องราวที่เคยเรียนรู้มามันกระจ่างชัด เข้าใจแจ่มแจ้ง
จิตใจของผมเกิดความฮึกเฮิม กล้าที่จะเดินตามรอยบาท เข้าในมรรคาแห่งความหลุดพ้น
อย่างไม่มีข้อสงสัย

ตอนเย็นกลับไปที่วัดไทยพุทธคยาเพื่อกินข้าว
และเตรียมตัวไปปฏิบัติธรรม ต่อที่พุทธคยาในกลางคืน
ซึ่งต้องยื่นรายชื่อ และเสียเงินอีก 100 รูปี
ปรากฏว่าเที่ยวนี้มีแค่ 8 คนเท่านั้นที่จะไป โดยมีพระอาจารย์ พระมหาเกษมสันต์ จากวัดพระปฐมเจดีย์ ไปคอยดูแลพวกเรา
เรา 8 คนอันประกอบไปด้วยทีมของผม คือบรรดาคุณหมอทั้งหลาย
และมีคุณน้อง วี ซึ่งเป็น ผจก.สปาอยู่ที่เกาะสมุย
น้องวี คนนี้เป็นชายหนุ่มอายุไม่ถึง 30 แต่สนใจในการปฏิบัติกรรมฐานอย่างมาก
แถมยังเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อจรัญ เหมือนกับผมอีกเลยคุยกันถูกคอ
ถึงได้รู้ว่าเค้าตั้งจิตอธิฐานขอให้ได้มาพุทธคยา ถึง 6 ปี กว่าจะสำเร็จ

พวกเราไปถึงบริเวณพุทธคยาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง
ประตูจะปิดตอน 3 ทุ่มตรง คนที่สมัครมาปฏิบัติฯ ต้องถูกตรวจเช็คเพื่อความปลอดภัย
คืนนั้นมีประมาณ 150 คน เป็นพระจากทุกนิกายซะกว่าครึ่ง
และประตูจะเปิดให้ออกไปในตอน ตี 4 เท่านั้น
เราไปถึงก็ตรงไปไหว้ขอกำลังใจกับ พระพุทธเมตตา เป็นอย่างแรก
แล้วก็ไปหาที่กางเต็นท์ กางกระโจมมุ้ง
ซึ่งทีมเราโชคดีมากๆ ได้ทำเลดีที่สุด คืออยู่บริเวณใต้ร่มเงาของ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทางด้านซ้าย
อ้อ..ขอบอกคนที่จะไปบ้างว่าถ้าไม่ใช่หน้าฝน ใช้กระโจมมุ้งจะดีที่สุด
เพราะเหตุว่า กางง่าย น้ำหนักเบา พกพาสะดวก ราคา 200 บาทเท่านั้นเอง
ซื้อได้ที่หน้าพุทธคยา หรือยืมจากวัดไทย มาก็ได้
ผมเอาเต็นท์ไป กางค่อนข้างยุ่งยาก แต่ก็ดีเพราะกว้างหน่อย
เมื่อยมากๆ ก็ยังพอยืดขาได้บ้าง
ที่นี่ยุงเยอะมาก ตัวอ้วนใหญ่ทีเดียวแหละ

เมื่อได้ที่กันแล้ว ก็พากันปฏิบัติฯ แบบตัวใครตัวมัน สไตล์ใครสไตล์มัน
บางคนก็สวดมนต์เสียงดังลั่น ไม่เกรงใจคนอื่นเลย
มีผู้หญิงคนนึงสวดอิติปิโสอย่างสปีดเร็ว เสียงดังเกือบทั้งคืน ฟังแล้วเหนื่อยแทน
ที่แย่ที่สุดอย่างไม่น่าให้อภัย คือนั่งคุยกัน
แม้จะคุยกันเบา แต่ด้วยความเงียบสงบของสถานที่ เสียงมันก็ดังอยู่ดีแหละ
ทำให้รบกวนผู้ที่ปฏิบัติฯ ท่านอื่น น่าจะเป็นบาปกรรมไม่น้อย
บางคนก็เดินสวดมนต์เวียนรอบพระเจดีย์ฯ บางคนเดินจงกรม
แต่ขอบอกเลยว่า เดินช้า..ช้า..ไม่ได้
ต้องเดินเร็ว ๆ...หนียุง
ผมเองก็ใช้วิธีเดินสวดมนต์รอบพระเจดีย์ฯ ก่อนแล้วสลับมานั่งสมาธิกำหนดลมหายใจ
แต่มันมีปัญหา...
คือเกือบทุกคนก็อยากจะได้ ใบโพธิ์ฯ กันทั้งนั้น
เวลาเดินสวดมนต์เวียนมาถึงตรง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็จะชะลอจังหวะ
แล้วเงยหน้ามองหาว่าจะมีร่วงหล่นมาซักใบมั๊ย
อ้อ..อีกอย่างที่อยากบอก คือ ใบโพธิ์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ นี้...ใบเล็ก
ขนาดใบไม่ใหญ่เหมือนต้นโพธิ์ที่บ้านเรา ขนาดเล็กกว่ากันเกือบครึ่ง
ครั้งแรกที่ผมได้จากท่านผู้มีพระคุณ ก็ยังแปลกใจมากว่า ทำไมใบเล็กจังเลย
ผมสังเกตุดู บางคนที่อยากได้มากๆ กลับไม่ได้ แฮะ
แต่บางคนที่สำรวมจิต ตั้งใจปฏิบัติฯ กลับหล่นลงมาตรงหน้าเองเลย
ในชั่วโมงแรก ผมก็ไม่เป็นอันทำอะไร
เดินจงกรมวนอยู่แถวๆ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ คอยเก็บใบโพธิ์ฯ เหมือนกัน
ก็โชคดีเก็บได้ 3 – 4 ใบ แต่แจกให้พวกคุณหมอที่มาด้วยกันไปหมด
ก็เพราะเห็นพวกเค้าอยากได้กันมาก เลยอยากให้มีกำลังใจกัน
ซึ่งคนที่ได้รับ ก็สุดแสนจะดีใจมีแรงภาวนากันเต็มที่

จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ผมก็คิดได้...นี่เราเป็นบ้าอะไร
ตั้งใจมาปฎิบัติภาวนา ไม่ใช่มาไล่ตะครุบใบโพธิ์ฯ อย่างนี้
พระพุทธองค์ ท่านอยู่ข้างหน้าเราตรงนี้เองนะ ไม่อายท่านหรือยังไง วะ
พอคิดได้ก็รีบมุดเข้าเต็นท์ไปนั่งปฏิบัติฯ
ระหว่างที่นั่งตามลมหายใจอยู่ หูก็ได้ยินเสียง ใบโพธิ์ฯ หล่นใกล้ๆ บ้าง ข้างๆ บ้าง หลายใบทีเดียวแหละ
โอ๊ย...ใจมันอยากจะออกไปตะครุบอย่างที่สุด
ได้ยินเสียงคนเดินมาเก็บด้วย ก็ยิ่งเสียดาย...แต่ก็ตัดใจ เลิกบ้า
ในที่สุดก็สงบจิต สงบใจภาวนา ตามลมได้ดี...นั่งได้นานกว่าปรกติมาก
จนประมาณเกือบตี 1 ก็ให้รู้สึกง่วงขึ้นมาอย่างแรง แต่ก็พยายามสู้เพราะตั้งใจแล้วว่าจะไม่เอนลงนอนตลอดรุ่ง
พอง่วงมากๆ เข้าถ้าจะไม่ไหว ต้องออกไปเดินเวียนรอบพระเจดีย์ฯ
เดินไปก็เห็นเรื่องราวมากมาย เห็นศรัทธาของผู้ที่มาจากทุกมุมโลก
บางคนสวดมนต์ติดต่อกันทั้งคืน บางคนเดิน 3 ก้าว ก้มกราบราบแบบทั้งตัว 1 ครั้ง ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบพระเจดีย์ฯ
บางคนง่วงจนหัวส่ายไปมา แต่ก็ยังพยายามนับลูกประคำ
อย่างคุณน้องวี เค้าเดินจงกรมตามที่เรียนมา คือ...ช้า
เคล็ดลับคือ เดินช้า ๆ กำหนดให้ละเอียดทุกอริยาบท
ซึ่งมันต้องต่อสู้กับยุงอย่างหนัก...แต่เค้าก็สู้ เดินสลับนั่งทั้งคืน
ส่วนคนที่เดินเวียนรอบพระเจดีย์ฯ นั้นมีทั้งคืน ผลัดกันไป
นั่งจนง่วงก็ไปเดิน เดินจนเมื่อยก็มานั่ง

ระหว่างที่เดินเวียนรอบอยู่นั้น สิ่งหนึ่งที่สะดุดใจมากคือ...ขยะ
บริเวณรอบในของพระเจดีย์ฯ มีขยะประเภท ขวดน้ำดื่ม กระดาษทิชชู่
เศษใบไม้อื่นๆ เศษกระดาษทองคำเปลว อะไรพวกนี้
เดินไปเดินมาผมไปเจอเอา ไม้กวาดดอกหญ้า กับที่โกยผง วางแอบอยู่
เลยจัดการกวาดขยะรอบองค์พระเจดีย์ฯ จนสะอาดหมดจด
คนอื่นเค้าเดินปฏิบัติฯ กัน แต่ผมก้มหน้าก้มตากวาดทุกซอกทุกมุม...พิลึกดี เน๊อะ
พอทำเสร็จแล้ว ได้เหงื่อดี หายง่วง แต่อิ่มเอิบใจอย่างที่สุด
รีบมุดเข้าเต็นท์ไปนั่งภาวนาต่อ
ความอิ่มใจที่ได้กวาดทำความสะอาด ทำให้ปิติมันขึ้นจนต้องรีบระงับ
แล้วเอาเป็นแรงพลังรวมจิตให้เป็นหนึ่งเดียว...นิ่ง สงบ วางหมดทุกสิ่ง
วูบเดียวได้ตั้งชั่วโมงกว่า สวดมนต์ซะอีกรอบ
ตอนตี 3 เราทุกคนก็เก็บกระโจม เก็บเต็นท์ไปยืนรวมกันที่หน้าประตูใหญ่
แต่ก็ออกไม่ได้ ต้องรอให้ตี 4 ซะก่อนเขาถึงจะมาไขกุญแจ
ระหว่างที่ยืนรอกันนั้น พระอาจารย์เกษมสันต์ ท่านเล่าเรื่องของ พระพุทธเมตตา
ว่ามีประวัติ และเรื่องที่น่าสนใจมาก คือ...
ท่านเป็นพระพุทธรูป ที่เหมือนพระพุทธเจ้า มากที่สุด

อยากฟังกันมั๊ย ว่าทำไมถึงว่าอย่างนั้น


อนณ 089-995-9377
tobeteam@yahoo.com

จากคุณ : tobeteam
เขียนเมื่อ : 2 เม.ย. 55 01:09:06




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com