Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อายุวัฒนมงคล ๙๘ พระชันษากาล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ติดต่อทีมงาน

ในมงคลสมัยนี้ จักได้พรรณนาพระคุณอันประเสริฐแห่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธา และเพื่อน้อมนำรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐนั้นมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุข ความเจริญในธรรม ของเพื่อนมนุษย์ทั้งผอง

พระนามของสมเด็จพระสังฆราชในยุครัตนโกสินทร์นี้ จะใช้คำนำหน้าสี่ลักษณะคือ

ลักษณะแรก ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระสังฆราช ดังเช่นพระนามสมเด็จพระสังฆราช (สี) วัดระฆังโฆสิตาราม ในยุคสมัยรัชกาลที่ 1
       
ลักษณะที่สอง ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ดังเช่นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวงศ์ องค์พระอุปัชฌาย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
ลักษณะที่สาม ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ดังเช่นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตร
       
ลักษณะที่สี่ ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ดังเช่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

การใช้คำนำหน้าพระนามสมเด็จพระสังฆราชนั้น น่าจะมีการคำนึงถึงภูมิธรรมและพระคุณของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์ จึงเป็นที่มาของการพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์
       
ในยุครัตนโกสินทร์นี้ แม้ว่ามีสมเด็จพระสังฆราชมาแล้วหลายพระองค์ แต่ที่ได้รับพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรว่า “ญาณสังวร” นั้นมีอยู่เพียง 2 พระองค์เท่านั้น
       
พระองค์แรกคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมอันประเสริฐยิ่งในพระพุทธศาสนา ทรงอภิญญา และอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่เลื่องชื่อลือชาแห่งยุครัตนโกสินทร์
       
พระองค์ที่สองคือสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ได้รับพระราชทานนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
       
และถ้าจะนับเนื่องในเรื่องทรงอภิญญา ทรงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็กล่าวได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์นี้มีพระสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะเพียง 3 รูปเท่านั้น
       
นั่นคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) องค์ปัจจุบัน
       
พระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้นเป็นที่รู้ประจักษ์โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีก และในโอกาสนี้ย่อมสมควรกล่าวถึงพระคุณประการนี้ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันเป็นสำคัญ
       
ที่มาของคำว่า “ญาณสังวร” นั้นมาจากความสำรวมหรือความสังวรใน 3 ระดับ ตามภูมิธรรมในพระพุทธศาสนา คือ ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร
       
ศีลสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในศีล โดยศีลที่ว่านี้หมายถึงศีล 2 ชนิด คือ ศีลซึ่งมีลักษณะเป็นพระวินัย ตามพระปาติโมกข์ชนิดหนึ่ง และศีลจากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นศีลที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเพื่อการศึกษาและปฏิบัติในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยแห่งพระบรมศาสดาโดยตรง ได้แก่ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล เมื่อศีลสมบูรณ์บริสุทธิ์แล้ว ย่อมเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา เพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้นหรือนิพพานในที่สุด
       
อินทรีย์สังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในอินทรีย์ทั้งปวงโดยเฉพาะ ในที่นี้หมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีความเป็นปกติ ไม่วอกแวกหวั่นไหว เมื่อกระทบกับอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ต่างๆ ถึงซึ่งความเป็นอุเบกขา
       
ญาณสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในญาณ ซึ่งครอบคลุมถึงรูปฌาน และอรูปฌาน ขึ้นไปจนถึงญาณทั้งสาม อันเป็นสุดยอดสามวิชชาในพระพุทธศาสนา คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตถญาณ และอาสวัคขยญาณ
       
พระนามญาณสังวรของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งสองพระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีที่มาจากคำว่าญาณสังวรและความหมายของญาณสังวรอันเป็นภูมิธรรมขั้นสูงและสูงที่สุดในพระพุทธศาสนานั่นเอง
       
ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร เมื่อบริบูรณ์แล้วพระตถาคตเจ้าทรงตรัสรับรองว่าสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้นานาประการ
       
อันสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบันนี้ ทรงอิทธิปาฏิหาริย์หลายประการ ทั้งอนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ และอิทธิปาฏิหาริย์
       
อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ คือปาฏิหาริย์ในการเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้ ให้เข้าใจ และสามารถน้อมนำพระธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมได้

 
 

จากคุณ : ราชมัล
เขียนเมื่อ : 16 เม.ย. 55 11:44:30




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com