Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ฤาจะสูญสิ้นตำนาน 'เหยียบฉ่า''หมอพระ' แห่งวัดเกาะหงษ์ ติดต่อทีมงาน

ศิลปวิทยาการรักษาโรคด้วย 'เท้าทนไฟ' ที่นับวันจะยิ่งเลือนลาง และจางหายไปกับกาลเวลา เพราะไร้ผู้สืบทอด ?

เสียง "ฉ่า" ดังขึ้นทันที หลังส้นเท้าทิ้งน้ำหนักนาบกับแผ่นเนื้อ พร้อมๆ กับรอยน้ำมันไหลตามรอยเท้าที่ประคบไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย พร้อมๆ กับสีหน้าของผู้รับการรักษา ดูผ่อนคลายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

กลวิธีรักษาตามตำราโบราณที่รู้จักกันในชื่อ 'เหยียบฉ่า' นี้ สืบค้นประวัติย้อนไปได้ไกลถึง 'อโรคยศาลา' ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเมืองพระนครหลวง กรุงศรียโสธรกัมพูชา เมื่อราวหลัง พ.ศ. 1750 ตามบันทึกที่ปรากฏเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดพระปรางค์เหลือง (ต. ท่าน้ำอ้อย  อ. พยุหะคีรี จ. นครสวรรค์) ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 125) ทรงแวะขึ้นวัดทอดพระเนตร 'เหยียบฉ่า' ทรงถ่ายรูปด้วยพระองค์เอง แล้วทรงมีพระราชนิพนธ์เล่าไว้ ดังนี้

"วันที่ 11 มาถึงวัดพระปรางค์เหลือง เที่ยง พระครูลงมาคอยอยู่ที่แพ ขึ้นบกทำกับข้าวแล้วดูเหยียบฉ่า กรมหลวงประจักษ์ให้เหยียบ ถ่ายรูป

พบเจ้าพระยาเทเวศรซึ่งมารักษาตัวอยู่ที่นี้ ดูเดินคล่องขึ้น ถามพระหมอแรกบอกว่าเป็นอัมพาต แต่เป็นมาเสียนานถึง 35 ปี  

ครั้นเถียงว่าอัมพาตทำไมถึงช้าเพียงนี้ ก็รับว่าอ้ายนั่นว่าที่เป็นใหม่นี่หายแล้วยังจะรักษาที่เป็นเก่าต่อไปอีก"

มีผู้รู้ทำเชิงอรรถอธิบายบางคำในพระราชหัตถเลขาไว้ว่า เวลานั้น มีพระหมอมาแต่เมืองเขมรรูป 1 มาพักอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลือง รับรักษาโรคเมื่อยขัดต่างๆ ด้วยวิธีเอายาทาที่ฝ่าเท้าของพระนั้นเอง แล้วเอาเท้าลนไฟถ่านให้ร้อนจัด เวลาเอามาเหยียบคนไข้ตรงที่เมื่อยขบดังฉ่า กรมหลวงประจักษ์ฯ รับอาสาจะลองให้เหยียบ (เรียบเรียงจากบทความเรื่อง 'เหยียบฉ่า' และ 'อโรคยศาลา' ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ)

ถึงวันนี้ มรดกทางภูมิปัญญาโบราณที่ตกทอดมาถึง หลวงพ่อพระใบฎีกาบุญชู อินทสโร หรือ หลวงพ่อบุญชู เจ้าอาวาสวัดเกาะหงษ์ จ.นครสวรรค์ รูปปัจจุบัน กำลังจะถูกลบออกไปจากสารบบการแพทย์แผนโบราณด้วยเหตุที่ว่า

"ไม่มีผู้สืบทอด"

เปิดตำรับ 'เท้าทนไฟ'

'การเหยียบฉ่า' เพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดเมื่อยตามแขนขา หรือตามร่างกาย ด้วยการที่พระหมอจะเอาเท้าเหยียบยาสมุนไพร หรือน้ำมันยาแล้วเหยียบลงไปบนแผ่นเหล็กที่เผาไฟจนแดงร้อนจัด หรือใช้เท้าลนไฟถ่านให้ร้อนจัด แล้วเหยียบลงบนคนไข้ จนเกิดเสียงดัง 'ฉ่า' คนไข้ที่มีอาการหนักก็บรรเทาและสบายดีขึ้น ส่วนคนไข้ที่เป็นไม่หนัก ก็หายจากอาการที่เป็นอยู่ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการแพทย์แผนใหม่จะเจริญรุดหน้าแล้วก็ตาม

ในอดีต วัดที่มีชื่อเสียงเรื่องการ 'เหยียบฉ่า' และการรักษาแผนสมุนไพร ไสยศาสตร์ รดน้ำมนต์และคาถาอาคม เป็นวัดที่มีพระภิกษุที่เป็นที่เคารพศรัทธาของเหล่าข้าราชการและประชาชนทั่วไปนั้น เดิมทีอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลือง ต.น้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ นับตั้งแต่หลวงพ่อดำ หลวงพ่อสี จนถึงหลวงพ่อเงิน เป็นพระเกจิชื่อดังในสมัยนั้น

หลังจากหลวงพ่อเงินมรณภาพ ไม่มีพระเกจิอาจารย์รูปใดสืบทอดวิชาอาคมนี้ ในที่สุด การเหยียบฉ่าก็สูญไปจากวัดท่าพระปรางค์เหลือง แต่วิชานี้ไม่ได้สูญหายไปเสียทีเดียว เพราะมีผู้รับการสืบทอดต่อ โดย หลวงพ่ออินทร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะหงษ์ ซึ่งเรียนวิชาจากหลวงพ่อกัน สหธรรมิกของหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง จากนั้นก็ถ่ายทอดมาถึงหลวงพ่อบุญชูอีกที

"หลักการในการเหยียบฉ่าได้นั้น ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องของเส้นเอ็นเส้นเลือด เพราะคนที่มารักษาส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิต เมื่อโลหิตเดินไม่สะดวกก็จะมีอาการตามมา ถ้าเรารู้จุดที่เกิดเหตุแล้ว เราก็สามารถรักษาได้ตรงที่ อันนี้เป็นหัวใจของการรักษาแบบแผนโบราณ" หลวงพ่อสรุปภาพรวมในการรักษา

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่หลวงพ่อบุญชู รักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเหยียบฉ่า มีผู้ป่วยนับหมื่นๆ คนที่ผ่านเท้าหลวงพ่อ ล้วนเป็นการรักษาฟรีหมดทั้งสิ้น ไม่มีแม้กระทั่งค่าขันบูชาครู แต่เมื่อใครหายก็กลับมาทำบุญเอง ทั้งทอดกฐินและถวายผ้าป่า

ปัจจัยที่ได้จากกิจนิมนต์ จากกันเทศน์ หลวงพ่อนำไปซื้อสมุนไพรมาปรุงเป็นตัวยา เพราะคิดอยู่เสมอว่า อโรคยา ปรมา ลาภา หมายถึง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งเป็นความปรารถนาของทุกคน

"เมื่อเป็นโรคก็เป็นทุกข์ เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น เมื่อพ้นจากโรคก็เป็นสุข เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น" ท่านบอก

'หมอพระ' แห่งวัดเกาะหงษ์

การรักษาโรคไม่ใช่หน้าที่ของพระ เพราะการแพทย์แผนปัจจุบันเจริญแล้ว ?

"คนที่พูดคือคนไม่รู้จักพระ ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนา" หลวงพ่อให้คำตอบทันที

ท่านอธิบายว่า สมัยก่อนอะไรก็อยู่ และเกิดจากวัดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ วิชาช่าง งานศิลปะ รวมทั้งการรักษาโรค ตั้งแต่เกิดไปจนตายก็ว่าได้ พอการแพทย์แผนปัจจุบันรุ่งเรือง ก็ลืมการแพทย์แผนโบราณ แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล ก็กลับมาพึ่งการแพทย์แผนโบราณ

"ระหว่างเหยียบฉ่า อาตมาจะสอดแทรกธรรมะให้แก่ผู้มารักษาด้วย โดยเฉพาะธรรมข้อที่ว่า อโรคยา ปรมา ลาภา"
เรื่องนี้ จินดา ตันทอง วัย 47 ปี กับ แต้ม จารุภูมิ คู่สามีภรรยาจาก อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ยืนยันได้เป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้ จินดา ป่วยเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ เป็นอัมพฤกษ์ เดินไม่ได้ ก่อนที่จะมาเหยียบฉ่ากับหลวงพ่อได้ตระเวนรักษามาเกือบทั่วประเทศไทย ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งฝังเข็ม หมดค่าใช้จ่ายไปหลายหมื่นบาท แต่อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลง

"ได้ยินเรื่องการรักษาโรคด้วยการเหยียบฉ่ามานานพอสมควร จึงลองมาดู ไม่น่าเชื่อเลยว่า ที่นี่เป็นการรักษาฟรี หลวงพ่อท่านไม่ได้เรียกร้องอะไรเลยสักบาทเดียว แถมให้ที่พัด และข้าวปลาอาหารครบ 3 มื้อ" เขาเผยรายละเอียดในการรักษา

ส่วนอาการอัมพฤกษ์ก็เริ่มจะดีขึ้นตามลำดับ การรักษาที่นี่ ถ้าอยากหายต้องพึ่งพาตัวเอง ด้วยการทำกายภาพำบัด หลังจากเหยียบฉ่าแล้วจะฝึกเดินโดยการโหนราวคู่

"ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าจะต้องนั่งอยู่บนรถเข็นจนตาย แต่วันนี้เท้าท่อนล่างเริ่มขยับได้บ้างแล้ว คิดว่า เมื่อหายดีแล้วจะกลับมาช่วยหลวงพ่อสักระยะหนึ่ง เช่น หาฟืน ต้มน้ำ คอยบริการผู้ป่วยรายอื่นๆ เช่นเดียวกับตนเองที่รับความเมตตาจากหลวงพ่อ" สายตาคู่นั้นให้คำตอบอย่างมีหวังว่าจะกลับมาเดินได้อย่างปกติอีกครั้ง

ในทางกลับกัน ทุกวันนี้หลวงพ่อแทบไม่เคยรับกิจนิมนต์ เพราะเห็นความสำคัญของคนไข้ที่มารอการรักษาเป็นอันดับแรก

"คนที่จะมาให้เรารักษานั้น ไม่ต้องมีบัตรคิว มาเมื่อไหร่ก็เจอเมื่อนั้น เราจะไม่ทิ้งวัด ไปทำภารกิจนอกวัดไม่เกินชั่วโมง เพราะคนไข้ที่มารอนั้นจะมีความทรมานมากกว่าเราหลายเท่า"

ถ้ามีคนมานิมนต์ไปเหยียบนอกสถานที่ก็จะปฎิเสธไปด้วยเหตุผลเดียวว่า

"...เดี๋ยวคนมารอที่วัดเค้าจะไม่เจอ"

สืบทอด - ไม่สิ้นทาง

สำหรับแนวทางการถ่ายทอดวิชาเหยียบฉ่าของหลวงพ่อบุญชูนั้น ท่านยึดแนวของหลวงปู่อินทร์ คือถ่ายทอดให้ผู้สนใจใคร่รู้ทุกอย่าง โดยไม่ปิดบัง เพราะท่านเชื่อว่า คนเราอยู่ได้ไม่เกินร้อยปีก็ตายกันหมด ส่วนที่เกินร้อยก็มีอยู่ไม่เท่าไร วิชาเหล่านี้มีค่ามหาศาลยิ่งนัก จึงสมควรอยู่เป็นสมบัติของมนุษยชาติ ถ้าปิดหรือเก็บไว้มันก็ตายตามตัวเราไปเท่านั้นเอง

แต่ปัจจุบัน วิชาเหล่านี้กำลังจะสูญสลายตามอายุไขของหลวงพ่อไป

เหตุปัจจัยเพราะ "ไม่มีพระรูปใดที่จะสืบทอดแพทย์แผนพระจากหลวงพ่อบุญชู" ผนวกกับความเจริญก้าวหน้าของ "การแพทย์แผนใหม่" ทั้งๆ ที่ในอดีตได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และสามารถเป็นที่พึ่งของคนไข้ได้

"ใกล้เกลือกินด่าง" หลวงพ่อเปรียบเปรยถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตำรับการรักษาแขนงนี้

ที่สำคัญ เมื่อเริ่มแก่ตัวลง หลายโรคก็เข้ามารุมเร้า ตอนนี้หลวงพ่ออาพาธเป็นทั้งโรคเบาหวาน ความดัน และอีกหลายโรค

"สิ่งที่เราอยากจะได้ในตอนนี้ ไม่ใช่อยากให้ตัวเองหายป่วย แต่ที่อยากได้ คือคนที่จะมาสืบทอดการรักษาแบบเหยียบฉ่า เพราะการรักษาโรคแบบนี้ต้องอาศัยคนที่มีจิตใจดีงาม ไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ การรักษาคนที่เดินไม่ได้ ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่กว่าการสร้างพระกว่าหลายเท่า" ท่านบอก

ขวัญทอง สอนศิริ ศูนย์พิษณุโลกศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง มองว่า หากสิ้นบุญหลวงพ่อบุญชู การเหยียบฉ่าของวัดเกาะหงษ์จะกลายเป็นตำนาน เช่นเดียวกับวัดพระปรางค์เหลือง ต.น้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ที่หมดไปพร้อมๆ กับการการสิ้นบุญของหลวงพ่อดำ หลวงพ่อสี จนถึงหลวงพ่อเงิน อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์เหลือง

"อย่าว่าแต่พระที่บวชในพรรษาที่ผ่านมาเลย เอาเป็นว่าพระที่วัดแห่งนี้ ตั้งแต่อาตมาเหยียบฉ่ารักษาโรค ไม่มีพระรูปใดที่จะสนใจเรียนเลย มีแต่พระจากต่างวัด จากต่างจังหวัด รวมทั้งชาวบ้านจากต่างถิ่นมาเรียนวิชานี้" หลวงพ่อบุญชู กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การสืบทอดจะหมดหวัง เพราะตราบใดที่มีคนสืบทอด ถึงจะเป็นบ้านอื่น เมืองอื่น แต่อย่างน้อยๆ  ตำรับความรู้ที่บรรพบุรุษได้ตกทอดลงมาเป็นสมบัติแก่คนรุ่นหลัง ยังคงได้รับการสืบสาน และรักษาองค์ความรู้ให้เป็นบุญคู่โลกต่อไป

"ถ้าหลวงพ่อมรณภาพไป การเหยียบฉ่าที่วัดนี้อาจจะสูญไป แต่ที่วัดอื่น อาตมาเชื่อว่าต้องมีแน่ เพราะก่อนหน้านี้ การเหยียบฉ่ามีเฉพาะที่วัดพระปรางค์เหลืองเท่านั้น แต่ปัจจุบัน เหลือที่วัดเกาะหงษ์ ส่วนที่วัดพระปรางค์เหลืองไม่มี ต่อไปอาจจะไปดัง หรือทำชื่อเสียงให้วัดอื่น ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าวิชายังอยู่" ท่านปลงความรู้สึก

ถึงท้ายที่สุด หลวงพ่อได้แต่หวังว่าเสียงฉ่าที่เคยดังอยู่ภายในวัด จะยังคงได้รับการถ่ายทอดต่อไป แม้จะไม่มีรอยเท้าของท่านอยู่อีกแล้วก็ตาม.

...............................................

หมายเหตุ : วัดเกาะหงษ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก หมู่ที่ 6 บ้านเกาะหงษ์ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ห่างจากตัวเมืองนครสวรรค์ ประมาณ 8 กม.ถนนสายนครสวรรค์-โกรกพระ-อุทัยธานี สอบถามเส้นทางได้ที่โทร.0 5635 8040 หรือ 0 5635 8118

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20120418/447217/ฤาจะสูญสิ้นตำนาน-เหยียบฉ่า.html

จากคุณ : todbig
เขียนเมื่อ : 18 เม.ย. 55 13:34:20




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com