แก้คำของผู้ปฏิเสธ พระอภิธรรมปิฎก ที่อ้างว่า อภิธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม
ข้อความนี้ เขียนไว้เพื่อ แก้ไขกรณีมีผู้ปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก
โดยผู้ปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก มักจะยกข้ออ้างว่า อภิธรรม ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗
ซึงจะได้ขออธิบายชี้แจงไว้เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงสืบไปดังต่อไปนี้
_______________________________________________
คำว่า อภิธมฺเม ที่แปลว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ มีที่มาจาก
_______________________________________________
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
กินติสูตร
ความว่า
[๔๔] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นอันว่าพวกเธอมีความดำริในเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้อนุเคราะห์
แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความอนุเคราะห์แสดงธรรม เพราะฉะนั้นแล ธรรมเหล่าใด
อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกันยินดี
ต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้น
พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุผู้กล่าวต่างกันในธรรมอันยิ่ง
เป็นสองรูป ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=793&Z=939&pagebreak=0
(อรรถกถา)
บทว่า อภิธมฺเม ได้แก่ ในธรรมอันวิเศษยิ่ง. อธิบายว่า ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเหล่านี้
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=42
_______________________________________________
ท่านพระคันธสาราภิวงศ์ได้อธิบายไว้ว่า[1]
ในข้อนี้ คำว่า อภิธมฺเม แปลตามศัพท์คือ "ธรรมอันพิเศษ" คำนี้ใน กินติสูตร
จึงหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นทางตรัสรู้อันพิเศษกว่า ทานและศีล
นอกจากนี้ใน ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร คำว่า อภิธมฺเม หมายถึง
มรรคผลที่พิเศษกว่า โลกิยธรรม ดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้
ความจริงการยกเอา กินติสูตร มาอ้างแล้วปฏิเสธว่า พระอภิธรรม
ไม่ใช่พระอภิธรรมปิฎก ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง เพราะข้อความนั้นเป็นการ
แสดงความหมายอย่างเจาะจง ซึ่งเป็นคำธรรมดาที่คำบางคำอาจสื่อ
ความหมายแตกต่างกันตามตำแหน่งที่ปรากฏ เช่นคำว่า ธมฺมจักขุํ (ธรรมจักษุ)
ในคัมภีร์อรรถกถาบางแห่งจะหมายถึง โสดาปัตติมรรค บางแห่งก็หมายถึง
มรรคญาณชั้นสูง ๓ อย่าง ดังที่กล่าวไว้ ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีว่า
"ธมฺมจกฺขุนฺติ ธมฺเมสุ จกฺขุ, ธมฺมมยํ วา จกฺขุ. อญฺเญสุ ฐาเนสุ ติณฺณํ มคฺคานํ
เอตํ อธิวจนํ. อิธ ปน โสตาปตฺติมคฺคสเสว"
คำว่า ธมฺมจกฺขุ มีความหมายว่า จักษุในธรรม หรือจักษุที่เกิดจากธรรม
คำนี้เป็นชื่อของมรรค ๓ ในฐานะอื่น ส่วนในพระสูตรนี้ เป็นชื่อของโสดาปัตติมรรคอย่างเดียว
มีข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ผู้กล่าวคัดค้านพระอภิธรรมได้อ้างคัมภีร์อรรถกถา
มายืนยันมติของตนว่า พระอภิธรรมไม่ใช่อภิธรรมปิฎก แต่กลับไม่ยอมรับ
ข้อความอื่นในคัมภีร์อรรถกถา ที่กล่าวว่า พระอภิธรรมคือพระอภิธรรมปิฎก.....
เช่น ความว่า
_______________________________________________
............ เขาบวชแล้วอยู่มาได้ประมาณครึ่งเดือน เมื่อไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ตกไปในอำนาจกิเลส สึกไป พอลำบากด้วยอาหาร ก็มาบวชอีก เรียนพระอภิธรรม ด้วยอุบายนี้ สึกแล้วบวชถึง ๖ ครั้ง.
ในความเป็นภิกษุครั้งที่ ๗ เป็นผู้ทรงพระอภิธรรม ๗ พระคัมภีร์ ได้บอกธรรมแก่ภิกษุเป็นอันมาก บำเพ็ญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตแล้ว.
_______________________________________________
นอกจากกินติสูตรและสังคีติสูตรที่ได้อธิบายไปแล้วนั้น
คำว่า อภิธรรม แทบทุกแห่ง ที่แสดงในพระไตรปิฎกอรรถกถานั้น
ก็หมายถึงปรมัตถธรรม อันได้แก่ พระอภิธรรมปิฎก เจ็ดคัมภีร์
อันเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง
ดังตัวอย่างหลักฐานใน
พระวินัยปิฏก หน้า ๒๒๗ บรรทัดที่ ๘ ปริวาร ความว่า......
องฺคีรโส สกฺยมินี สพฺพภูตานุกมฺปโก
สพฺพสตฺติตฺตโม ปิฏเก ตีณิ เทสยิ
สุตฺตนฺต อภิธมฺมญฺจ วินยญฺจาปิ มหาคุณํ
พระอังคีรสศากยมุนี ผู้อนุเคราะห์แก่ประชาทุกถ้วนหน้า
อุดมกว่าสรรพสัตว์ดุจราชสีห์
ทรงแสดงพระไตรปิฎก คือ
พระวินัย ๑ พระสุตตันตะ ๑ พระอภิธรรม ๑ ซึ่งมีคุณมาก อย่างนี้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง เพื่อศึกษาเพิ่มเติม
แก้คำของผู้ปฏิเสธ พระอภิธรรมปิฎก ที่อ้างว่า อภิธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม