คุณ พัดลมเย็นๆ
ผมขอตอบเป็น 3 ส่วนดังนี้นะครับ
1.บทบาทและหน้าที่มหาเถรสมาคม
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 15ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
(4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
มหาเถรสมาคมไม่ได้มีหน้าที่ต้องมารับรองคำสอนของสำนักใดสำนักหนึ่งนะครับ ขนาดของวัดสามแยก เขาก็ไม่ได้อะไร มาก นอกจากท่านเจ้าสำนักท่านแสดงพฤติกรรมอัตวิบากตัวเองเท่านั้น วิชาธรรมกายเป็น " วิธีปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 " ใช่หรือไม่ครับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสสอนวิชาธรรมกายหรือครับ นี่เป็นวิธีปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์นะครับ อย่าสับสน
2.รัฐธรรมนูญกับการแสดงความคิดเห็น
นี่ละครับที่ตีความไม่แตก ที่ผมยกรัฐธรรมนูญมาประกอบนั้นก็เพราะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน
มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
ทุกคนย่อมมีสิทธิ์คิด พูด เขียน ได้ ใครจะว่าวัดปลอม พระปลอม ก็เรื่องของเขา เพราะเขาใช้สิทธิ์ของเขา หากตรงไหนเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม นี่ครับที่ผมหมายความตามที่เขียน รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามพูดเรื่อง พระ เรื่องวัด นะครับ
3.การตำหนิทักท้วงของมหาเถรสมาคมต่อวัดพระธรรมกาย
การประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 22/2541 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สื่อมวลชนต่างๆได้เสนอข่าวเรื่องวัดพระธรรมกายอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเรื่องสำคัญ คือการก่อสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวัดอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการกล่าวอ้างถึงอภินิหารของหลวงพ่อสด และการรวบรวมเงินบริจาคจำนวนมาก จึงขอหารือมหาเถรสมาคม ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ลงมติมอบหมายให้เจ้าคณะภาค 1 ไปพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคม โดยผ่านเจ้าคณะหนใหญ่หนกลาง
เจ้าคณะภาค 1 ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆที่ได้รับจากกรมการศาสนา และคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลกรณีวัดพระธรรมกาย กระทรวงศึกษาธิการ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กับทั้งประชาชนทั่วไป เป็นจำนวนมากมายหลายฝ่ายหลายประเด็น วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นแล้วเรียกผู้บริหารวัดพระธรรมกายมาไต่ถามข้อเท็จจริงแล้วเดินทางไปวัดพระธรรมกาย
เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นไปโดยประจักษ์ ได้ข้อสรุปที่มีน้ำหนักควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาดำเนินการ รวมเป็น 4 ประการดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 พิจารณาเห็นว่า วัดพระธรรมกายมีความรู้ความเข้าจในด้านคันถธุระหรือพระปริยัติธรรมยังไม่สมบูรณ์ จริงอยู่ แม้วัดพระธรรมกายจะเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมที่ใหญ่ มีพระภิกษุสามเณรเปรียญ ถึง 202 รูป พระภิกษุสามเณรนักธรรม ถึง 845 รูป เป็นการยากที่วัดใจสามารถจะทำให้เกิดมีขึ้นได้มากมายขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชมอนุโมทนา
แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับวัดในขณะนี้ คือ ปัญหาเรื่องการก่อสร้างศาสนสถานที่ใหญ่ดต และปัญหาการระดมเงินบริจาคมากมายเป็นต้น วัดก็ไม่สามารถชี้แจงให้ผู้สงสัยเกิดความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมที่ลึกซึ้ง คือ วิชาอภิธรรม เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็จะสามารถตอบปัญหาเหล่านี้ได้ทันที ตั้งแต่เริ่มต้นว่า การสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตก็ดี การบริจาคก็ดี เกิดขึ้นจากจิตดวงไหน อะไรบันดาลให้จิตดวงนั้นเกิดขึ้น จิตดวงนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นบุยหรือบาป บุญบาปอยู่ที่ไหนรู้ตลอดสายไปจนถึงว่าวิบากหรือผลของบุญบาปเป็นอย่างไร อิทธิปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่ ซึ่งความรู้ในสภาพธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนเหล่านี้ จะมีขึ้นได้ก็โดยการศึกษาวิชาพระอภิธรรม เท่านั้น
จึงดำเนินการให้วัดพระธรรมกายจัดตั้งสถานศึกษาพระอภิธรรมให้มีการเรียนการสอนวิชาพระอภิธรรมกันอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มเติมศักยภาพในด้านคันถธุระของวัดพระธรรมกายให้สูงขึ้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่วัดพระธรรมกายเอง และแก่ปวงชนผู้ใฝ่ใจในธรรมทั่วไป
ประการที่ 2 พิจารณาเห็นว่า วัดพระธรรมกายมีความรู้ความเข้าใจในด้านวิปัสนาธุระ หรือพระปฏิบัติธรรมยังไม่สมบูรณ์
จริงอยู่ แม้ว่าวัดพระธรรมกายจะเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่ใหญ่ มีผู้คนพากันมาเจริญภาวนามากมาย แต่การเรียนการสอนก็เป็นเพียงแค่วิปัสสนาญาณเบื้องต้น โดยอนุโลมเท่านั้น คราวใดเมื่อกล่าวอ้างถึงพระนิพพานอันเป็นวิปัสสนาญาณชั้นสูง จึงไม่ตรงกับพระนิพพานที่ปรากฎมีในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นเหตุให้บัณฑิตชนผู้มีความรักหวงแหนพระพุทธศาสนา เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดความหงุดหงิดอึดอัดใจ และยอมรับไม่ได้ ยิ่งเกิดมีปัญหาสำนวนใหม่ขึ้นมา คือปัญหาที่ว่าพระนิพพานเป็นอัตตา ก็ยิ่งก่อให้เกิดข้อกังขาสับสนวุ่นวายกันไปใหญ่
ความจริง พระนิพพานเป็นธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา คนเราในโลกมนุษย์ยุคเนยยบุคคลนี้จะมีโอกาสบรรลุถึงพระนิพพานได้ จะต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้อง จนเกิดภาวนามยปัญญา ผ่านขั้นตอนวิปัสสนาญาณตามลำดับ ดังนี้
1. นามรูปปริจเฉทญาณ
2. ปัจจยปริดคหญาณ (เห็นนิมิตเข้าใจผิดว่าเป็นนิพพาน)
3. สัมมสนญาณ 4. อุทยัพพยญาณ (ญาณนี้ตอนต้นเป็นวิปัสสนูปกิเลสเข้าผิดว่าเป็นนิพพาน และบางท่านพอถึงญาณนี้ก็เข้าว่า ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์)
5. ภังคญาณ (อุปปาทนิโรธเกิดขึ้น เข้าใจผิดว่าเป็นนิพพาน)
6. ภยญาณ
7. อาทินวญาณ
8. นิพพิทาญาณ
9. มุญจิตุกัมยตาญาณ (อุปปาทนิโรธเกิดขึ้นอีก เข้าใจคิดว่าเป็นนิพพาน)
10. ปฏิสังขาญาณ
11. สังขารุเปกขาญาณ (สภาวะคล้ายพระนิพพานเกิดขึ้นได้บางครั้ง)
12. อนุโลมญาณ
13. โคตรภูญาณ
14. มรรคญาณ (พระนิพพาน)
15. ผลญาณ (พระนิพพาน)
16. ปัจจเวกขณญาณ
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต้องปฏิบัติผ่านขั้นตอนผ่านนิมิตตามลำดับชั้น จนถึงวิปัสนาญาณชั้นสูง คือ วิปัสสนาญาณที่ 14 ที่ชื่อว่า มรรคญาณ จึงจะถึงพระนิพพานจริงแท้ถูกต้องตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา สามารถที่จะรู้เห็นด้วยการภาวนามยปัญญาว่า พระนิพพานเป็นอย่างไร หรือเป็นอะไร ในเมื่อวัดพระธรรมกายสอนวิปัสสนาธุระ นับได้ว่าถึงสถาวะวิปัสสนาญาณที่ 2 โดยอนุโลม (ยังปนสมถกรรมฐานอยู่) แล้วจะให้อธิบายเรื่องพระนิพพานให้ถูกต้องตามพระคัมภีร์ ก็คงเป็นเรื่องที่เหลือวิสัย วิเคราะห์โดยสรุปได้ว่า วัดพระธรรมกายมีความรู้ความเข้าใจในด้านวิปัสสนาธุระยังไม่สมบูรณ์
จึงดำเนินการให้วัดพระธรรมกายจัดตั้งสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ให้มีการปฏิบัติการบอกวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้องตามพระคัมภีร์กันอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มเติมศักยภาพในด้านวิปัสสนาธุระของวัดพระธรรมกายให้สูงขึ้น อันจะเกิดคุณประโยชน์แก่วัดพระธรรมกายเอง และแก่ปวงชนผู้มีวาสนาบารมีทั่วไปอย่างมหาศาล
ประการที่ 3 พิจารณาเห็นว่า วัดพระธรรมกายมีการเผยแพ่พระพุทธศาสนามากมายหลายด้านเป็นที่จับตามองของสาธารณชนในวงกว้าง อาจจะมีโอกาสประพฤติผิดพลาดขึ้นมาได้จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
จึงดำเนินการ โดยแนะนำให้พยายามสำรวมระวัง และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันโลกวัชชะที่จะพึงบังเกิดขึ้นจากเจตนาที่ดี ทั้งที่พึงจะบังเกิดขึ้นจากวิสังวาทนเจตนาก็ตามที
ประการที่ 4 พิจารณาเห็นว่า วัดพระธรรมกายจะต้องทำงานหนัก จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมากมายหลายด้าน เพราะว่างานที่เริ่มต้นไว้เพื่อประโยชน์พระพุทธศาสนา ล้วนแต่เป็นงานที่ใหญ่โตกว้างขวางทั้งสิ้น จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกหลายฝ่าย อาจจะเกิดความประมาทพลาดผิดไปก็ได้
จึงดำเนินการโดยแนะนำให้วัดพระธรรมกายบริหารงานให้ถูกต้อง โดยปฏิบัติตามกฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน โดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความเรียบร้อยดีงามของวัดและพระพุทธศาสนา
เจ้าคณะภาค 1 ได้พิจารณาดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกายรวม 4 ประการนี้ ซึ่งวัดพระธรรมกายก็น้อมรับด้วยความยินดี ปรากฎตามคำตอบรับการพิจารณาดำเนินการ ที่ส่งมาพร้อมกับรายงานนี้แล้ว
อย่าทึกทักเอาว่าเขาไม่ตำหนิหรือทักท้วงนะครับ