Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เบื้องต้นของนิวรณ์ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) ติดต่อทีมงาน

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
***************************************

(บางส่วน)
สัญโญชน์ ความผูก

ท่านอธิบายว่าสัญโญชน์ดังกล่าวคือ ฉันทราคะ ความติดใจด้วยอำนาจของความยินดี แต่ตามศัพท์ของสัญโญชน์นั้นแปลว่า ความผูก คือความที่จิตนี้เองผูกอยู่กับ รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ โผฏฐัพพะที่กายได้ถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราวที่ใจได้คิดได้รู้ คือใจไม่ปล่อยไม่วาง และก็ไปผูกไว้กับใจ ตามศัพท์ของสัญโญชน์มีดั่งนี้

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่า สัญโญชน์เกิดขึ้นโดยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น สัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้น ละเสียได้ด้วยประการใดก็รู้ประการนั้น ตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่บังเกิดขึ้นได้ด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น คือตรัสสอนให้ละสัญโญชน์ และปฏิบัติไม่ให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้นอีก

เบื้องต้นของนิวรณ์ เบื้องต้นของสัญโญชน์

พิจารณาดูตามแนวที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็อาจจะนำเอาข้อนิวรณ์ ข้อขันธ์มาเชื่อมเข้าได้ กล่าวคือสัญโญชน์นี้เองเป็นเบื้องต้นของนิวรณ์ และอายตนะภายใน อายตนะภายนอกนี้เอง เป็นเบื้องต้นของสัญโญชน์ คือเพราะอายตนะภายใน อายตนะภายนอกประจวบกัน จิตของสามัญชนนี้จึงได้เกิดผูกขึ้นมาเป็นสัญโญชน์ และเมื่อจิตผูกขึ้นมาดั่งนี้แล้ว จึงได้เกิดเป็นตัวนิวรณ์ขึ้นมา เป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นถีนมิทธะบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะบ้าง เป็นวิจิกิจฉาบ้าง สืบมาจากสัญโญชน์

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติละนิวรณ์นั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ที่เกิดของนิวรณ์ว่าคือสัญโญชน์ และที่เกิดของสัญโญชน์นั้น

ก็เนื่องมาจากอายตนะภายใน อายตนะภายนอกเป็นประการสำคัญ เพราะฉะนั้น ขั้นตอนของการปฏิบัติจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อตัดสัญโญชน์ และจะตัดสัญโญชน์ได้ก็ต้องอาศัยทางปฏิบัติอื่นๆ

ข้อสำคัญก็คือว่าจะต้องมีสตินี่เอง คอยกำหนดดูให้รู้ ในขณะที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกันอยู่เป็นคู่ๆ อยู่โดยปรกติ จะต้องมีสติสำรวมระวังตา สำรวมระวังหู สำรวมระวังจมูก สำรวมระวังลิ้น สำรวมระวังกาย สำรวมระวังใจ ที่เรียกว่าอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ คือสำรวมทางทวารทั้ง ๖ นี้ ในเวลาที่มาประจวบกัน ของอายตนะภายในอายตนะภายนอกดังกล่าว

โดยตรงก็คือว่ามีสติสำรวมระวังจิตนี้เอง ที่จะไม่ยึดถือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะเรื่องราว ที่ประจวบเข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจอยู่ทุกขณะ ไม่ยึดถือทั้งหมด ไม่ยึดถือบางส่วนของอารมณ์เหล่านี้ แต่ว่าวางใจ ปล่อยใจให้ผ่านไป คือเห็นแล้วก็แล้วไป ได้ยินแล้วก็แล้วไป ทราบกลิ่นแล้วก็แล้วไป ทราบรสแล้วก็แล้วไป ถูกต้องแล้วก็แล้วไป คิดรู้เรื่องราวอะไรแล้วก็แล้วไป เป็นเรื่องๆ ไป ไม่ยึดถือ

เพราะความยึดถือนี่แหละเป็นตัวสัญโญชน์ ซึ่งนำให้เกิดยินดีเกิดยินร้ายขึ้นมา เกิดหลงงมงายขึ้นมา อันเป็นตัวนิวรณ์ดังกล่าว ถ้าหากว่ามีสติป้องกันเสียได้ ตั้งแต่ในขั้นแรกที่ทวารทั้ง ๖ นี้ เป็นอินทรียสังวรอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติระงับได้ ไม่ให้จิตใจผูก เมื่อระงับจิตใจไม่ให้ผูกได้ ก็เป็นอันว่าระงับสังโยชน์ได้ เมื่อระงับสังโยชน์ได้ ก็ระงับนิวรณ์ได้

แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยวิปัสสนาปัญญาในขันธ์ ๕ ช่วยอีกด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้เองเป็นตัวสร้างกิเลสตัณหา เป็นตัวสร้างสัญโญชน์ เป็นตัวสร้างความติด ที่ว่าเป็นตัวนั้นก็คือว่า ในเมื่อยึดถือขันธ์ ๕ ด้วยอุปาทานความยึดถือ เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถืออยู่ แล้วขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นที่เกิดของกิเลสตัณหาทั้งหลาย เป็นที่เกิดของสัญโญชน์ เพราะว่าเมื่อยึดถือขันธ์ ๕ นี้ ก็เป็นอัตตาคือตัวตน โดยเหตุว่ายึดถือว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา จึงเกิดมีเราขึ้นมา มีอัตตาคือตัวตนขึ้นมา เมื่อเกิดมีอัตตามีเรามีของเราขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมาดั่งนี้ จึงมีเรามีของเราออกยึดถือ รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน เป็นต้น แล้วก็กล่าวได้ว่ายึดถือทั้งสอง ยึดถือทั้งตาทั้งรูป ทั้งหูทั้งเสียง เป็นต้น (เริ่ม ๑๗๕/๑) เป็นอันว่ายึดถือทั้งอายตนะภายใน ทั้งอายตนะภายนอกทั้งหมด จึงได้เกิดเป็นสัญโญชน์ขึ้นมา เกิดเป็นนิวรณ์ขึ้นมา ก็อาศัยขันธ์ ๕ นั้นเองเป็นที่เกิดขึ้นมาดั่งนี้

จนกว่าที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญา มองเห็นเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือกล่าวให้หมดจดว่ารู้จักขันธ์ ๕ รู้จักความเกิดของขันธ์ ๕ รู้จักความดับของขันธ์ ๕ รู้จักเกิดดับ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเป็นเหตุให้ปล่อยวางได้ และเมื่อปล่อยวางได้ก็ไม่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือสังโยชน์ก็จะไม่บังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ทั้ง ๓ หมวดนี้ คือหมวดนิวรณ์ก็ดี หมวดขันธ์ ๕ ก็ดี และหมวดอายตนะสัญโญชน์นี่ก็ดี การปฏิบัติจึงต้องสัมพันธ์กัน ต้องอาศัยกันคู่กันไปดั่งนี้ จึงจะละนิวรณ์ได้ และละความยึดถือในขันธ์ ๕ ได้ แล้วก็ละสัญโญชน์ได้

คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-261.htm

 
 

จากคุณ : ใจพรานธรรม
เขียนเมื่อ : 19 เม.ย. 55 23:15:04




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com