ในส่วนศาล
ตุลาการผู้พิพากษา
นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการกล่าวถึง แม้ประเด็นจะไปเจาะโฟกัสไปยังพนักงานอัยการ แต่ศาลโดยผู้พิพากษาเองท่านก็มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะการประทับรับฟ้อง หากจะกล่าวถึงก็ต้องไปศึกษาใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะได้รู้ว่า เรื่องเอกสารที่กล่าวว่าของปลอม หรือข้อมูลเอกสารสำนวนลวกๆ นั้นไม่สามารถจะนำมาใช้ในศาลได้เลย นั่นเพราะอะไร นั่นก็เพราะ ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๘ นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิดังต่อไปนี้
(๑) ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
(๒) แต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
(๓) ปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(๔) ตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ
(๕) ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น
(๖) ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
มาตรา ๑๗๓/๒ ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจสอบ ฯลฯ
นี่ครับ มีหรือหากเอกสารที่กล่าวกันว่าเป็นของปลอม จำเลยคือพระธัมมชโยจะไม่ค้าน ว่าพระลิขิตปลอมนะ เอาเอกสารปลอมมาได้อย่างไร เพราะกฎหมายให้สิทธิ์ไว้เต็มที่
และเมื่อการกลั่นกรองตรวจสอบเอกสารพยานหลักฐานเป็นที่เรียบร้อย อัยการจึงส่งสำนวนและหลักฐานทั้งหมดให้ศาลเพื่อขอให้ศาลประทับรับฟ้อง ทีนี้เมื่อยื่นคำฟ้องต่อศาล ศาลจะพิเคราะห์ดูก่อนว่า เรื่องราวตามคำฟ้องนั้นมีมูลพอที่จะพิจารณาให้ได้หรือไม่ ถ้าพบว่ามีมูล ศาลก็จะมีคำสั่งให้รับคำฟ้องนั้นไว้ คำสั่งนี้เรียกว่า "คำสั่งประทับฟ้อง" ถ้าปรากฏว่าไม่มีมูล ศาลก็จะพิพากษาให้ยกฟ้องเสียทีเดียว
ดังนั้นในกรณีของวัดพระธรรมกาย ศาลจึงได้ประทับรับฟ้องไงครับ ถ้าไม่มีมูลจะประทับรับฟ้องทำไม เพราะใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ระบุให้อำนาจศาลไว้แล้วว่า
มาตรา ๑๖๑ ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง
มาตรา ๑๖๗ ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง
มาตรา ๑๗๐ คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา
ในส่วนการตรวจพยานหลักฐานนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ระบุไว้ชัดว่า
มาตรา ๒๒๖ พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
มาตรา ๒๒๖/๑ ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
แค่นี้ก็คงทำให้ทราบแล้วนะครับว่า กว่าจะประทับรับฟ้องได้นั้นต้องมีกระบวนการใดบ้าง แม้กระทั่งประทับรับฟ้องแล้วศาลก็ยังคงมีกระบวนการตรวจสอบและให้สิทธิ์จำเลยในการตรวจสอบ คัดค้าน อีกด้วย จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการนำเอกสารข้อมูลเท็จไปใช้ในชั้นศาล