 |
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นจันทน์ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารุกขชาติ ทุกชนิด เพราะเป็นของอ่อนและควรแก่การงาน ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา ย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น ธรรมชาติอ่อนและควรแก่การงาน เหมือนจิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมชาติอ่อนและควรแก่การงาน ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ [๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ เปลี่ยนแปลงได้เร็ว เหมือนจิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าใด นั้น แม้จะอุปมาก็กระทำได้มิใช่ง่าย ฯ [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมอง ด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ [๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้ว จากอุปกิเลสที่จรมา ฯ จบวรรคที่ ๕ เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๑๖๑ - ๒๐๙. หน้าที่ ๗ - ๙. http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=161&Z=209&pagebreak=0 ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=42
อรรถกถาสูตรที่ ๙ ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- บทว่า ปภสฺสรํ ได้แก่ ขาวคือบริสุทธิ์. บทว่า จิตฺตํ ได้แก่ ภวังคจิต. ถามว่า ก็ชื่อว่าสีของจิตมีหรือ? แก้ว่าไม่มี. จริงอยู่ จิตจะมีสีอย่างหนึ่งมีสีเขียวเป็นต้น หรือจะเป็นสีทองก็ตาม จะอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านก็เรียกว่าปภัสสร เพราะเป็นจิตบริสุทธิ์. แม้จิตนี้ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะปราศจากอุปกิเลส เหตุนั้น จึงชื่อว่าปภัสสร. บทว่า ตญฺจ โข ได้แก่ ภวังคจิตนั้น. บทว่า อาคนฺตุเกหิ ได้แก่ อุปกิเลสที่ไม่เกิดร่วมกัน หากเกิด ในขณะแห่งชวนจิตในภายหลัง. บทว่า อุปกิเลเสหิ ความว่า ภวังคจิตนั้น ท่านเรียกว่า ชื่อว่าเศร้าหมองแล้ว เพราะเศร้าหมองแล้วด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น. เศร้าหมองอย่างไร? เหมือนอย่างว่า บิดามารดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์มีศีลสมบูรณ์ด้วยความประพฤติ ไม่ดุว่า ไม่ให้ศึกษา ไม่สอน ไม่พร่ำสอนบุตร หรืออันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกของตน เพราะเหตุที่บุตรและสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกเป็นผู้ทุศีล มีความประพฤติไม่ดี ไม่สมบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติ ย่อมได้รับการติเตียนเสียชื่อเสียงฉันใด พึงทราบข้ออุปไมยนี้ฉันนั้น. พึงเห็นภวังคจิตเหมือนบิดามารดาและอุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้สมบูรณ์ด้วยความประพฤติ. ภวังคจิตแม้จะบริสุทธิ์ตามปกติก็ชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสที่จรมา อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจที่เกิดพร้อมด้วยโลภะโทสะและโมหะซึ่งมีความกำหนัดขัดเคืองและความหลงเป็นสภาวะในขณะแห่งชวนจิต เหมือนบิดามารดาเป็นต้นเหล่านั้นได้ความเสียชื่อเสียง เหตุเพราะบุตรเป็นต้น ฉะนั้นแล. จบอรรถกถาสูตรที่ ๙
อรรถกถาสูตรที่ ๑๐ แม้ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- จิต ก็คือภวังคจิตนั่นเอง. บทว่า วิปฺปมุตฺตํ ความว่า ภวังคจิตนั้นไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่หลง ในขณะแห่งชวนจิต เกิดขึ้นด้วยอำนาจกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตประกอบด้วยไตรเหตุเป็นต้น ย่อมชื่อว่าหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา. แม้ในที่นี้ ภวังคจิตนี้ ท่านเรียกว่าหลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสทั้งหลางที่จรมา ด้วยอำนาจกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต เหมือนมารดาเป็นต้นได้รับความสรรเสริญและชื่อเสียงว่า พวกเขาช่างดีแท้ยังบุตรเป็นต้นให้ศึกษา โอวาท อนุสาสน์อยู่ดังนี้ เหตุเพราะบุตรเป็นต้นเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยความประพฤติ ฉะนั้น.
================================
หลักธรรมจาก ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฏก พระครูศรีโชติญาณ http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/009306.htm
อันที่จริงปัญหาเกี่ยวกับ "จิตเดิมหรือ จิตดวงเดิม" นั้น ถ้าพูดในฝ่ายเถรวาทคัมภีร์พุทธของเราโดยตรงแล้ว ไม่มีใช้เห็นมีใช้เรียกกันอยู่ก็แต่เฉพาะปฐมภวังค์ ที่เกิดหลังปฏิสนธิจิตเท่านั้น แต่นั้นก็ไม่ใช่จิตดวงเดิม เหมือนกับปัญหาที่เขาถกเถียงกันอยู่ เพราะคำว่า "จิตดวงเดิม" ที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้นั้น ท่านผู้ก่อ(ตั้ง)ปัญหาท่านหมายถึง จิตปภัสสร คือ จิตที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสตัณหาทั้งปวง เป็นอมตะที่เรียกว่า "อาตมัน หรือ ปรมาตมัน" ในทัศนะของท่านผู้เป็นต้นกำเนิดปัญหาโดยท่านให้อรรถาธิบายว่า ที่จริงจิตดวงเดิมนั้น เป็นจิตที่บริสุทธิ์ไม่มีกิเลสตัณหา หรือมลทินแปดเปื้อนเลยแม้แต่น้อย ครั้นเวลาผ่านมาใช้คิดนึกไปนานๆเข้า ก็กลับกลายเป็นจิตที่เศร้าหมองไป เพราะถูกความเศร้าหมองคือกิเลสมาทำให้เศร้าหมอง เพราะฉะนั้นเพื่อความบริสุทธิ์หมดจด ก็จะต้องปฏิบัติให้ถึงจิตดวงเดิม จึงจะถึงจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติได้ แต่คำอธิบายดังกล่าวนี้ ไม่มีในศาสนาฝ่ายเถรวาทของเรา แต่ไปมีอยู่ในสูตรเว่ยหล่างที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้แปลออกมาเผยแพร่ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยคณะ ผ.ช.ป. ณ ๕/๑-๒ ถ. อัษฎางค์ กท. หมวด ๗ หน้า ๑๒๒ มีข้อความตอนหนึ่งว่า ----------------------- พระสังฆปริณายก ได้กล่าวว่า " ข้อความที่อันแช็กพูดนั้น ถูกต้องที่เดียว จงทำใจของท่านให้อยู่ในสภาพเหมือนกับความว่างอันหาขอบเขตไม่ได้ , แต่อย่าให้มันเข้าไปติดในทิฏฐิว่า"ดับสูญ " จงให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ, ไม่ว่าท่านกำลังทำงานหรือหยุดพัก จงอย่าให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวในสิ่งใด จงอย่าไปรู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำ. จงปล่อยจิตเต็มแท้ และสิ่งทั้งปวงไว้ในสภาพแห่ง "ความเป็นเช่นนั้น" แล้วก็จะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา เมื่อได้ฟังดังนั้น จิหว่างก็มีความสว่างไสวในใจถึงที่สุด ------------------------------------------------------------------- ข้อความทั้งหมดตามที่ผู้อ่านได้อ่านมานี้ ขอให้ตั้งใจกำหนดไว้ในใจด้วยว่าเป็นเรื่องของอาจิรวาท คือเป็นพุทธฝ่ายมหายาน จากนี้จะนำความรู้ของเถรวาทในพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน มาชี้แจงดังนี้
คำว่า"ปภัสสร"ๆ คำนี้เป็นพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยตรง เพราะในคาถานั้นมีคำว่า "ภิกฺขเว" อยู่ด้วย อย่างอักษรบาลีที่ว่า "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โขอาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ " แปลว่า " ภิกษุทั้งหลายจิตนี้ปภัสสร ก็จิตนั้นแล ถูกอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมาทำให้เศร้าหมองแล้ว" (เอกนิบาต อังคุตตรบาลี ฉบับฉัฏฐะ เล่มหนึ่ง หน้า ๙ ข้อ ๔๙/๕๐) เพื่อต้องการทราบความหมายของจิตปภัสสร จึงขอยกเอาอรรถกถา มาขยายเสียในที่นี้ทีเดียว ก็คำที่ว่าถูกโทษประทุษร้ายแล้ว ท่านหมายถึงโทษทั้งหลายมรอภิชฌาเป็นต้น ที่จรมาประทุษร้าย ขยายความต่อไปว่าก็ใจตามปกติ คือ ภวังคจิต ภวังคจิตนั้นยังไม่ถูกโทษประทุษร้าย เปรียบเหมือนน้ำใสที่ถูกสีเขียวเป็นต้น จรมาทำให้เศร้าหมองไป ก็เลยกลายเป็นน้ำสีเขียวเป็นต้น แล้วจะว่าน้ำใหม่ก็ไม่ใช่ จะว่าน้ำเก่าก็ไม่ใช่ ที่จริง ก็เป็นน้ำใสเดิมนั่นแหละ ข้อนี้ฉันใด แม้จิตนั้น ก็ฉันนั้น เมื่อถูกโทษมีอภิชฌา เป็นต้น จรมาประทุษร้าย จะว่าเป็นจิตใหม่ก็ไม่ใช่ เป็นจิตเก่าก็ไม่ใช่ ที่จริงก็คือภวังคจิตนั่นแหละ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ปภัสสร ก็จิตนั้นแล ถูกอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา ทำให้เศร้าหมองแล้ว"
ตามข้อความที่พระอรรถกถาจารย์ได้ขยายไว้นี้ บางทีอาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจยังไม่ได้ เพื่อความกระจ่างของข้อความนี้ จึงใคร่ขอยกคำบางคำมาเน้นเสียให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นคำว่า "จิตปภัสสร" หรือ คำว่า "จรมา" ก็คำที่ว่า "จิตปภัสสร หรือ จิตผ่องใส" ในที่นี้ ท่านหมายถึงจิตที่เป็นภวังค์ ซึ่งจะเกิดได้ทีหลังปฏิสนธิ(จิต) ต้นวิถีหรือท้ายวิถีจิต หรือขณะที่นอนหลับสนิทๆ โดยไม่ได้มีการฝันเลยแม้แต่น้อย นั่นแหละจิตดวงนั้นแหละท่านจัดเป็นจิต "ปภัสสร" ในพุทธภาษิตนี้ไม่ใช่จิตดวงเดิม หรือจิตที่หมดจดจากกิเลสทั้งปวงทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด(อนุสัยกิเลส) เพราะถ้าเป็นจิตที่หมดจดจากกิเลสทั้งปวงจริงๆแล้ว มรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ที่ผู้ปฏิบัติทำให้เกิดขึ้น ก็กลายเป็นโมฆะไปเปล่าๆ เพราะในวิภาวินีฏีกาปริเฉทที่ ๗ พระสุมังคลสามีเถราจารย์ ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องอนุสัยไว้ว่า "ตราบใดที่มรรค ๔ มรรคใดยังไม่เกิดขึ้น อนุสัยกิเลสชนิดละเอียด ซึ่งเป็นเสมือนรากเหง้าของกิเลสอย่างกลาง และอย่างหยาบ จะขาดเองโดยพลการไม่ได้ " ดังนั้นจึงเป็นข้อความที่ทำให้เข้าใจได้แล้วว่า คำว่า "จิตผ่องใส" ในที่นี้ก็หมายถึง ยังไม่ขุ่นมัวไปด้วยกิเลสอย่างกลางนั่นเอง แต่กิเลสอย่างละเอียด คือ อนุสัย ก็ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ส่วนคำว่า "จรมา " นั้น ท่านแปลไปตามศัพท์ของคำว่า " อาคันตุกะ" เฉยๆเท่านั้น เพราะกิเลสมิใช่มีที่อยู่ที่เอกเทศส่วนหนึ่งต่างหาก ที่จริงก็อยู่ในจิตของมนุษย์และสัตว์ทุกดวงนั่นเอง เว้นไว้แต่จิตของพระขีณาสพและโลกุตตรจิตเท่านั้น กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตทุกดวงดังว่านั้น เมื่อได้รับปัจจัยภายนอกมีอารมณ์ที่ปรารถนาเป็นต้น มากระทบเข้าก็ทำให้จิตขึ้นวิถี กลายเป็นจิตรัก จิตชัง ที่เราเรียกว่า กิเลสอย่างกลางนั่นเอง แต่ความรัก และความชังที่เป็นกิเลสอย่างกลางนั้น มันเกิดขึ้นสัมปยุตกับจิตในบางครั้งเท่านั้น ท่านจึงเปรียบเหมือนกับแขกที่จรมา เพียงเท่านี้ ก็พอจะทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้แล้ว ตามที่ได้ยกข้อความ จากอาคตสถานมาแสดงเปรียบเคียงให้เห็นดังนี้แล้ว ผู้อ่านก็พอจะทราบได้ว่าอะไรเป็นอะไรแต่ขอให้ทัศนะไว้นิดหนึ่งว่า ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ บางครั้งถึงกับอุทิศเพศมาบวชเป็นเวลานานก็มี ขอร้องให้พากันเชื่อพระบาลีและอรรถกถาอันเป็นหลักปริยัติฝ่ายเถรวาทเถิด เพราะจะเป็นปัจจัยให้เกิด ทิฏฐิวิสุทธิ คือความเห็นที่ถูกต้องในส่วนของพระปริยัติศาสนาขึ้นได้ แม้จะเกิดศรัทธาลงมือปฏิบัติ ก็เชื่อเหลือเกินว่าต้องไม่ผิดแน่ เพราะเมื่อปริยัติถูกก็เป็นเหตุให้เกิดปฏิบัติถูก อันเสมือนเงาตามตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ยอมเชื่อโดยยกตัวเสมอกับอรรถกถาเสียแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ------------------------------------------------------------------ ประวัติ พระครูศรีโชติญาณ http://www.abhidhamonline.org/sw.htm
จากคุณ |
:
เฉลิมศักดิ์1
|
เขียนเมื่อ |
:
26 เม.ย. 55 12:18:35
|
|
|
|
 |