อาชีพของอะซัดได้นำท่านไปสู่ปาเลสไตน์ อิยิปต์ ซีเรีย อิรัก เปอร์เซีย จอร์แดน ซาอุดิอารเบีย และอัฟฆอนิสตาน ทำให้ท่านมีมุมมองที่ชัดเชนต่อสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นปัญหาปาเลสไตน์
ในต้นปี 1922 น้าของอะซัด ได้ชวนท่านไปเยือนเยรูซาเล็ม อะซัดตอบรับคำเชื้อเชิญ (ตอนนั้นไซออนนิสต์ยังไม่ได้ยึดครองปาเลสไตน์) อะซัดได้พักอยู่ที่บ้านน้าของท่าน ตรงนี้เองคือจุดแรกของการเปิดประตูของอะซัดไปสู่ความแท้จริงของอิสลาม
แต่อะซัดต้องเผชิญหน้ากับสิ่งอื่นก่อน นั่นก็คือลัทธิไซออนนิสต์(ลัทธิของกลุ่มชาวยิวที่ต้องการยึดครองปาเลสไตน์เพื่อตั้งประเทศอิสราเอล) แม้ว่าน้าที่ท่านพักด้วยจะไม่ใช่พวกที่เลื่อมใสในลัทธิไซออนนิสต์ แต่ท่านยังมีน้าอีกคนในเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นพวกไซออนนิสต์ชั้นแนวหน้า
ที่นี้เองที่มุฮัมมัด อะซัด ได้โต้แย้งกับบุคคลสำคัญที่สุดของขบวนการไซออนนิสต์คือ Dr. Chaim Weizmann โดยท่านได้ถามถึงชะตากรรมของชาวอาหรับ ซึ่งตอนนั้นเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่นั่น คำตอบจาก Dr. Weizmann ก็คือ เราคาดว่า เราจะกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ในอีก 2-3 ปี
มุฮัมมัด อะซัด ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Road to Mecca ว่า แม้ต้นกำเนิดข้าพเจ้าจะเป็นยิว
.. ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นการผิดศีลธรรมที่มีผู้อพยพ ด้วยการช่วยเหลือของอำนาจต่างชาติ จะเข้ามาจากนอกประเทศเพื่อให้กลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ของปาเลสไตน์
.
มุฮัมมัด อะซัด รู้สึกเศร้าอย่างยิ่งกับประสบการณ์ในปาเลสไตน์ ยิ่งทำให้ท่านเศร้าหนักไปอีก เมื่อต่อมาท่านได้ประจักษ์ว่า ปาเลสไตน์ถูกยึดครองไปจริงๆ
การได้มีโอกาสได้เดินทางไปทั่วโลกมุสลิมในอีก2-3 ปีต่อมา ทำให้อะซัดมีความสนใจอย่างลึกซึ้งต่ออิสลาม พร้อมๆกันนั้นท่านได้ตรวจสอบเจาะลึกถึงความตกต่ำของมุสลิมโดยทั่วไปด้วย(ยุคของท่าน โลกมุสลิมส่วนใหญ่ยังเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง) ความต้องการเข้าใจมุสลิมทำให้อะซัดเริ่มเข้าหาคำสอนดั้งเดิมของอิสลาม อันได้แก่อัลกุรอาน โดยท่านเริ่มศึกษาภาษาอาหรับ แล้วเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวมุสลิม
ในเดือนกันยายน ปี 1926 ท่านได้รับอิสลามที่สมาคมอิสลามแห่งเบอร์ลิน และเปลี่ยนชื่อมาเป็นมุฮัมมัด อะซัด มีคนตั้งคำถามถึงเหตุผลการรับอิสลามของท่าน ท่านได้กล่าวเอาไว้ถึงเรื่องนี้หนังสือ Islam at the Crossroads ว่า
....ข้าพเจ้าถูกถามครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมถึงเข้ารับอิสลาม? มันมีอะไรดึงดูดใจคุณเป็นพิเศษ? ข้าพเจ้าต้องสารภาพว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบจะหาคำตอบที่พึงพอใจแบบใดดี เพราะมันไม่ได้มีคำสอน เฉพาะ อันใดที่ดึงดูดใจข้าพเจ้า แต่มันคือโครงสร้างของคำสอนทางจริยธรรม และโปรแกรมการปฏิบัติของชีวิตทั้งหมดที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยมิอาจอธิบายได้
ข้าพเจ้าไม่อาจกล่าวได้แม้แต่ตอนนี้ว่า คำสอนข้อใดที่ดลใจข้าพเจ้ามากกว่าข้อใด อิสลามปรากฏต่อข้าพเจ้าดั่งงานทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบ แต่ละส่วนของมันทั้งหมดแสดงออกถึงการเสริม และหนุนส่วนอื่นๆอย่างกลมกลืน โดยปราศจากส่วนเกินและส่วนขาด ก่อให้เกิดผลที่ได้ ดุลยภาพ ที่พอดี และความสงบนิ่ง ที่แข็งแกร่ง บางทีความรู้สึกเกิดจากทุกๆสิ่งในคำสอนและการวางเงื่อนไขต่างๆของอิสลามที่ อยู่ในจุดที่เหมาะสม นั้นได้สร้างความประทับใจอย่างยิ่งยวดต่อตัวข้าพเจ้า
จากนั้นอะซัดได้ใช้เวลาในมะดีนะฮฺอีก 5-6 ปีเพื่อศึกษาอิสลามและภาษาอาหรับ ด้วยการเข้าถึงเจตนารมณ์ของอิสลามและความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆที่รุ้มเร้าประชาชาติมุสลิม ทำให้อะซัดมีบทบาทใหม่ในการอธิบายความเสื่อมของโลกมุสลิมและวิธีการฟื้นฟูมัน
ท่านได้มีโอกาสไปพบกับบรรดาอุละมาอ์และผู้นำมุสลิมจำนวนมาก เพื่อทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนวคิดของท่าน ท่านเป็นเพื่อนสนิทกับมุฮัมมัด อิกบาล กวีเอกของโลกมุสลิม และสนิทสนมกับกษัตริย์ไฟศอล ผู้สมถะและจริงจังกับการฟื้นฟูศาสนา และรู้จักเป็นอย่างดีกับผู้นำขบวนการต่อสู้และฟื้นฟูอิสลามจำนวนมาก
หนังสือเล่มเล็กๆแต่สำคัญมากของท่านชื่อว่า Islam at the Crossroads หรือ อิสลาม ณ ทางแพร่ง ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1934 เพื่อหาทางออกให้กับประชาชาติมุสลิม
อะซัดได้ใช้ชีวิตในช่วงหลังหมดไปกับการทำงานเพื่อกอบกู้โลกมุสลิมจากความตกต่ำ ด้านหนึ่งท่านได้ทำงานด้านความคิด และวิชาการ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสาส์นแห่งอิสลาม ดังงานของท่านในการแปลความหมายกุรอานเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า The Message of the Qur'an พร้อมกับคำอธิบาย ถูกตีพิมพ์ในปี 1980 ในอีกด้านหนึ่งท่านได้ลงสู่สนามปฏิบัติจริง ดังเช่นท่านพยายามต่อสู้เพื่อให้ปากีสถานเป็นรัฐอิสลามหลังจากได้รับเอกราช