" จงกล่าวเถิด พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ "
" อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นที่พึ่ง "
" พระองค์ไม่ประสูติ และไม่ทรงถูกประสูติ "
" และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์ "
(คำแปลคัมภีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮ อัล-อิคลาส บทที่ 112 โองการ 1-4 )
พระเจ้าหรือผู้สร้างมีจริงหรือไม่? แตกต่างกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้างทั้งมวลได้อย่างไร?
ลองมาใช้สติปัญญาพิสูจน์กันครับ....
สิ่งต่างๆทั้งที่เราเห็น และไม่เห็นล้วนมีจุดกำเนิด นับตั้งแต่ตัวเราเอง สิ่งที่ใกล้ใกล้ตัวเราเองที่สุด ไปจนถึงสิ่งที่ไกลตัวเราเองที่สุด ทุกสิ่งล้วนเป็นผลที่ต้องอาศัยเหตุ และเช่นกันที่จะเป็นเหตุไปสู่ผลต่อๆไป
ตรรกะที่อธิบายในเรื่องนี้จึงสรุปได้ว่า
"สิ่งใดที่ต้องอาศัยเหตุในการกำเนิด สิ่งนั้นย่อมมีจุดเริ่มต้น และสิ่งใดที่มีจุดเริ่มต้น สิ่งนั้นย่อมต้องอาศัยเหตุในการกำเนิด"
บ้าน รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ปากกา มนุษย์ สัตว์ไม่ว่าจะกี่เซลก็ตาม ต้นไม้ ก้อนหิน แร่ธาตุ โลก จักรวาล วิญญาน หรือ กรรมก็ตาม ล้วนต้องอาศัยเหตุเป็นตัวก่อกำเนิดตัวมันเองขึ้นมาทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้น
วิทยาศาสตร์พิสูจน์ชัดแล้วว่าทุกสิ่งที่ตรวจวัดได้ล้วนมีจุดเริ่มต้น ณ ปัจจุบันตัวเลขจะถูกหรือผิดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดแต่อยู่ราวๆ 13.7 พันล้านปีถ้านับจุดเริ่มต้นแห่งเวลาจากการเกิด Big Bang จนถึงปัจจุบัน และ 4,600 ล้านปีถ้านับจากจุดกำเนิดโลก ส่วนสิ่งมีชีวิตก็มีจุดเริ่มต้นขึ้นจากร่องรอยที่มีจารึกในชั้นหิน เมื่อประมาณ 3.8 พันล้านปีก่อน นี่คือหลักฐานที่ชี้ชัด ณ ปัจจุบัน จนยากที่จะปฏิเสธได้
การเชื่อเรื่องจักรวาล สรรพสิ่ง หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจุดเริ่มต้น หรือสิ้นสุด ที่ต้องอาศัยเหตุเป็นปัจจัยในการก่อกำเนิด จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความจริงที่พิสูจน์ชัด เป็นเพียง "ความเชื่อ" เท่านั้น เช่นกันกับความเชื่อที่ว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตและระบบต่างๆที่สมบูรณ์ มาก่อน Big Bang ก็เป็นเพียงความเชื่อที่ยังไร้หลักฐาน หรือข้อพิสูจน์ใดมารองรับ ที่ฉงนเป็นอย่างยิ่งก็คือ แม้ตนเองจะอวดอ้างความเป็นวิทยาศาสตร์ของความเชื่อตนเองอย่างมากมาย แต่เมื่อถูกร้องขอการพิสูจน์ในเรื่องสำคัญนี้ก็กลับกลายเป็นเรื่องไม่สมควร หรือต้องห้ามไปอย่างน่าเสียดาย ความจริงแล้วเขาเพียงถูกสอนให้เชื่อตามๆกันมาโดยไม่เคยได้ลองพิสูจน์ให้ชัดด้วยสติปัญญาตนเองเท่านั้นเอง จุดเริ่มต้นทางความเชื่อคนจำนวนไม่น้อยนี้จึงห่างไกลความเป็นวิทยาศาสตร์เสียแต่ทีแรกเลยทีเดียว
ลองคิด และ ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับความเชื่อตนเองกันต่อนะครับ
โดยตรรกะที่ยอมรับกันโดยทั่วไปบ่งชี้ว่า "สิ่งที่ต้องอาศัยเหตุในการกำเนิดตนเอง ต้องมีผู้ให้กำเนิด" และกลับทำให้ไม่อาจปฏิเสธเรื่องผู้สร้างได้แม้แต่น้อย เพราะ สิ่งต่างๆที่ยังไม่มี ย่อมไม่สามารถสร้างตัวเองให้มีขึ้นมาได้ ความจริงทางวิทยาศาสตร์ย่อมยืนยันได้ในเรื่องนี้ และคงไม่มีใครสามารถยกตัวอย่างที่สามารถแย้งเชิงประจักษ์ให้สวนทางกับความจริงข้างต้นได้อย่างแน่นอน
ยกตัวอย่างเรื่อง "กรรม" นามธรรมที่ถูกสร้างภาพให้ประหนึ่งรูปธรรม ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้น หรือพลังขับเคลื่อนวัฎจักรของสรรพสิ่งกันบ้าง
หากมีใครยอมรับว่า กรรมคือผลของการกระทำของสิ่งมีชีวิต หรือกรรมเป็นผลของการกระทำของสิ่งมีชีวิตที่เป็นเหตุ แน่นอนว่า เมื่อเหตุมาก่อนผล ตนเองย่อมจำเป็นต้องถือกำเนิดก่อนกรรมของตนเอง แต่ถ้าในขณะเดียวกัน เขาจะเชื่อด้วยอีกว่า ตนเองก็ถือกำเนิดจากกรรมของตนเองด้วยอีกทีนั้น ก็เท่ากับว่าทำให้ กรรมกลับเป็นเหตุเสียเอง กรรมตนเองก็จำเป็นต้องกำเนิดก่อนตนเองเสียแล้ว และจะเห็นได้ทันทีว่าเกิดการขัดแย้งกันเองของตรรกะของตนเองอย่างชัดเจน และผิดพลาดทางตรรกะอย่างร้ายแรง นอกเสียจากว่า ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าสิ่งมีชีวิตนั้นไม่สามารถถือกำเนิดจากกรรม หรือผลการกระทำของตนเองได้ แต่ต้องถือกำเนิดจากกรรมของบุคคลอื่นเท่านั้น ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้นำตัวแปรอื่นมาเป็นเหตุนอกเหนือจากกรรมตนเอง และแน่นอนว่าเป็นการปฏิเสธระบบเวียนว่ายตายเกิดจากกรรมตนเองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะพยายามนำกรรมของผู้อื่นมาเป็นตัวแปรร่วมด้วยวิธีการใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาถึงการถือกำเนิดของสรรพชีวิตในโลกที่มนุษย์รับรู้ได้จากข้อมูล และหลักฐานที่ปรากฎ มองย้อนรุ่นสู่รุ่นไปจนถึงยุคแรกเริ่มตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นบรรพบุรุษเรา ทั้งปริมาณและคุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตผู้เป็นเจ้าของกรรมที่ปรากฎ ย่อมทำให้ "ผู้ใช้สติปัญญา" ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่า ต้องมีผู้อื่นตั้งใจกระทำให้สิ่งมีชีวิตหรือตัวเราถือกำเนิดขึ้นอย่างแน่นอน และพ่อ แม่ เรา ก็อยู่ภายใต้กติกาเดียวกันกับเรา มองให้ลึก และกว้างขึ้นกว่าเดิม ย้อนไปในอดีต ผู้ปรีชาญานนั้นต้องเป็นผู้วางระบบ และออกแบบเชิงรูปธรรมให้ระบบสุริยะ โลก และชีวิตแต่ละชีวิต ให้มีความสมบูรณ์ตั้งแต่แรกเริ่มในแต่ละสายพันธุ์ ผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งที่หลากหลายในห่วงโซ่ ที่มีความสลับซับซ้อน มีกฎเกณฑ์ มีเอกลักษณ์ และมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ผู้ออกแบบอวัยวะให้ชีวิตมีความสามารถการสืบทอดทางเผ่าพันธุ์ภายในช่วงชีวิตแรกที่ถือกำเนิดมาในวิถีของแต่ละสายพันธุ์ และอยู่รอดด้วยความสมดุลย์ที่ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจ ด้วยความแม่นยำ และทรงประสิทธิภาพ ...นี่หรือความบังเอิญ?...นี่หรือยถากรรม??
ซึ่งหากศึกษาลงลึกในวิทยาศาสตร์ของสรรพสิ่ง ยิ่งลงลึกจะยิ่งพบอีกข้อพิสูจน์หนึ่งของความตั้งใจสรรสร้าง สางปมเรื่อง "เจตนา หรือ ความบังเอิญ"
จุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่งจะเกิดขึ้นมาโดยตั้งใจ หรือโดยบังเอิญนั้น ก็ต้องไปพิสูจน์ความแตกต่างของคุณลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ในแง่มุมที่สอดรับกันได้ระหว่างคณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ กับ สามัญสำนึกกันอีกที แน่นอนว่าสำหรับบางคนอาจต้องลงลึกไปพิสูจน์กันในศาสตร์ "ความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์ที่อธิบายคุณลักษณะสรรพสิ่งอย่างละเอียดโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่" ซึ่งไม่ว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับใด สุดท้ายก็จะไปสิ้นสุดที่ "มาตรฐานทางจิตใจ" เขาผู้นั้นจะตัดสินใจใช้มาตรฐานการเลือกเชื่อของตนเองที่สอดคล้องกับหลักโอกาสความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ ในเรื่องนี้หรือไม่? ซึ่งการไม่นำหลักโอกาสความน่าจะเป็นที่ตนใช้ในเรื่องอื่นๆมาใช้ค้นหาสัจธรรมแห่งชีวิต โดยละทิ้งมาตรฐานนี้เพียงเพื่อปกป้องความเชื่อเดิมตนเอง ก็ด้วย "อคติที่บดบังสติปัญญา" ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นข้อยุติการเข้าถึงสัจธรรมของมนุษย์ที่พระเจ้าใช้เป็นเกณฑ์คัดกรองคนดี ออกจากคนชั่ว และมีปลายทางแห่งการเดินทางของชีวิตที่แตกต่างกันนั่นเอง
นอกจากการวางระบบที่เป็นรูปธรรมให้มนุษย์ที่ใคร่ครวญได้ทึ่งในความอัศจรรย์แห่งการสร้างสรรค์ จนได้ลอกเลียนแบบไปใช้ประโยชน์แก่ตนเอง และเผ่าพันธุ์ได้ในบางส่วน ผู้ทรงรอบรู้ และทรงอำนาจมิได้สร้างสรรพสิ่งโดยไร้จุดมุ่งหมาย แต่ยังวางระบบตอบแทนที่เป็นรูปธรรมในเรื่องกรรมที่เป็นนามธรรมที่ผู้ที่พระองค์ทรงสร้างได้ก่อขึ้นจากต้นทุนทางสติปัญญาที่พระองค์ทรงให้ไว้ใช้อย่างแยบยล และเป็นธรรม มีความเป็นเหตุเป็นผลที่สอดรับกันในเรื่องนรก สวรรค์ ที่มิได้มีผลพวงเพียงนามธรรมที่อธิบายด้วยทุกข์ สุข ในใจที่ใช้หลักเหตุและผลสากลที่สัมผัสได้ในโลกนี้เพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงระบบตอบแทน ทั้งนรก สวรรค์ที่เป็นรูปธรรม ที่ผู้สร้างได้จัดเตรียมไว้ให้ผู้ที่อยู่ในระบบของพระองค์ได้ใช้เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการเดินทาง ที่ยังรอวันประจักษ์ทางสายตาอีกด้วย
อิสลามจึงเป็นแผนที่ชีวิต ที่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลถึงมี่มา ที่ไป ไม่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และสามัญสำนึก ตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญานของมนุษย์ที่อาศัยสติปัญญาเป็นเครื่องมือแสวงหาความจริง ทำให้มนุษย์ที่ได้รับความรู้เชื่อมั่นได้จริงว่า "ความยุติธรรมมีจริง และคุ้มค่า" ไม่ทิ้งความคลุมเครือให้ระบบตอบแทนกรรม กลายเป็นเพียงสุขทุกข์ในใจผู้ก่อกรรม และไม่สามารถให้ความชัดเจนได้แม้แต่น้อย ว่าความจริงแห่งชีวิต จุดมุ่งหมายนั้นคืออย่างไรแน่??? นรกสวรรค์ที่เป็นรูปธรรมมีจริงหรือไม่??? ใครสร้าง ใครเป็นเจ้าของ??? ตายแล้ววิญญานจะไปไหนต่อกันแน่???ภพภูมิชีวิต วิญญาน เทพยดาต่างๆเกิดมาจากไหน ใครบริหารจัดการระบบเหล่านี้??? ทำไมไม่สอนให้รู้จักพระองค์ท่าน ก้มกราบพระองค์ท่าน มนุษย์กลับเลือกสร้างรูปธรรมใดขึ้นมากราบไหว้แทน??? ฤาผู้ตอบแทน ผู้สร้างสรรพสิ่งนี้ กลายเป็นเพียงนามธรรม ที่ตอบแทนชีวิตที่เป็นรูปธรรม ตามกระบวนการที่เกิดจาก "ความบังเอิญ" กระนั้นหรือ จะเป็นไปได้อย่างไร?????? ...ฯลฯ
และที่กล่าวมาข้างต้นคือการพิสูจน์ด้วยสติปัญญาที่ได้คำตอบที่ชัดเจนตามตรรกะข้างต้น ที่พูดง่ายๆคือ "สิ่งที่ต้องอาศัยเหตุในการก่อกำเนิดตัวเอง สิ่งนั้นต้องมีจุดเริ่มต้น" และจุดนี้คงไม่มีผู้มีสติสัมปชัญญะใดที่ไม่ยอมรับตรรกะหรือความจริงสากลที่มีว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเหตุ หรือ มีเหตุย่อมมีผล นั่นเอง
ต่อคำถามที่ว่า แล้วใครสร้างอัลลอฮ์? ใครสร้างพระเจ้า?
น้องชายผมชื่อสมชาย ปวดท้องคลอดลูกเมื่อเช้านี้ ทายสิว่าเขาคลอดลูกชาย หรือลูกสาว คำถามไร้ตรรกะเช่นนี้คงไม่มีใครอยากตอบจริงไหมครับ? ก็คุณลักษณะผู้ชายไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ฉันใด ผู้สร้างสิ่งทั้งมวล ย่อมไม่มีสิ่งใดมาสร้างพระองค์ได้ และไม่จำเป็นต้องมีจุดกำเนิดฉันนั้น
อัลลอฮ์ หรือ พระเจ้า หรือ God นั้นไม่ต้องอาศัยเหตุใดๆในการก่อกำเนิดตัวเอง พระองค์ทรงเป็นปฐมเหตุของทั้งมวล จึงไม่จำเป็นต้องมีจุดกำเนิด และพระองค์ทรงประสงค์ให้อยู่เหนือญานวิสัยมนุษย์ที่จะใช้ประสาทสัมผัสอันมีข้อจำกัดสัมผัสได้ แต่ทรงประสงค์ให้มนุษย์สามารถใช้สติปัญญาพิสูจน์ได้ โดยการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งจากสรรพสิ่งที่รายล้อมตัวเขาเอง แม้ร่องรอยต่างๆของทุกสรรพสิ่งล้วนยืนยันถึงการมีอยู่ของพระองค์ แต่ก็ยืนยันถึงการมีอยู่ และปรีชาญานของพระองค์เท่านั้น ไม่สามารถพ้นขีดจำกัดไปนึกภาพพระองค์ หรืออธิบายลักษณะทางกายภาพได้แต่อย่างใด และเรื่องนี้เป็นพระประสงค์ในการกลั่นกรองผู้ที่ดื้อดึงออกจากผู้ที่กตัญญู ซึ่งพระองค์ทรงแจ้งให้มนุษย์ทราบแล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งการใคร่ครวญจนประจักษ์ทางสติปัญญาว่าพระองค์ทรงมี ก็เพียงพอแล้วที่มนุษย์จะยอมจำนน และเชื่อฟังและรับฟังสิ่งต่างๆที่พระองค์ทรงเปิดเผย และบัญชา ข้อจำกัดทางผัสสะนี้เฉกเช่นเดียวกับการที่มนุษย์ไม่สามารถนึกภาพออก หรือเข้าใจว่า จุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุดของเวลา ระหว่างมี กับ ไม่มีนั้นเป็นอย่างไร? หรือ ขอบเขตของพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร? เพราะสติปัญญาที่ขาดประสบการณ์ของมนุษย์ถึงทางตันทุกที ซึ่งพอถึงจุดที่ต้องยอมรับว่าเกินสติปัญญาของมนุษย์จริงๆแล้วนี้ มุสลิมเราอาจใช้ศัพท์เดียวกับ ศาสนาพุทธได้ คือเป็นเรื่องของ อจิณไตย ต่างกันที่มุสลิมจะไม่หยุดคิดพิจารณาเร็วเกินไปในขณะที่ยังอยู่ในขีดความสามารถของสติปัญญาที่ผู้สร้างได้ส่งเสริมให้ใช้อย่างเต็มที่ก่อนนั่นเอง
ขอยกตัวอย่างง่ายๆสักเหตุการณ์หนึ่งในเรื่อง "มาตรฐานการพิสูจน์การมีอยู่ของผู้ให้กำเนิดของเหตุการณ์ จากร่องรอยความตั้งใจ"
ในเหตุการณ์โดมิโน่ 100 ตัวที่เรียงเป็นแนวอย่างตั้งใจที่ถูกผลัก เพื่อพิสูจน์ตรรกะข้างต้น โดมิโน่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเหตุในการล้มของตนเอง โดมิโน่ตัวที่ 100 จะล้มได้ก็ต่อเมื่อมีแรงผลักของโดมีโน่ตัวก่อนหน้า คือตัวที่ 99 ตัวที่ 99 ก็ต้องล้มโดยเหตุของตัวที่ 98 97 96 ... ไปเรื่อยๆจนถึงโดมิโน่ตัวที่ 1 และโดมีโน่ตัวที่1 ก็ไม่อาจล้มเองได้โดยไม่มีแรงผลัก อีกทั้งความบังเอิญ หรือค่าความเป็นไปได้ทางคณิตศาสตร์ในเรื่อง "ความน่าจะเป็น" ก็ไม่สามารถอธิบายการจัดวางโดมิโน่ 100 ตัว ให้ล้มอย่างสมบูรณ์ว่าเป็นความบังเอิญได้ แน่นอนว่าคนป่าที่ไม่รู้จักโดมิโน่แต่มีความเฉลียวฉลาดพอที่เข้ามาเห็นร่องรอยการล้มของโดมิโน่ 100 ตัวนี้ ย่อมเชื่อโดยสนิทใจในทันทีว่า ในระบบปิดนี้มีใครสักคนนำแท่งสี่เหลี่ยมเหล่านี้มาวางเรียงกันอย่างมีจุดมุ่งหมายก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องเห็น หรือจินตนาการรูปร่างหน้าตาของผู้วางแต่อย่างใด และผู้ที่รู้จักเกมส์โดมิโน่ย่อมรู้ดีว่าผู้ที่ผลักโดมิโน่ตัวแรกไม่จำเป็นต้องโดนใครผลักเขาให้ล้มไปใส่ตัวโดมิโน่ เพียงเขาออกแรงผลักด้วยตนเอง ทุกสิ่งก็ดำเนินไปตามเจตนาผู้เรียง เรียกได้ว่าผู้ผลักไม่จำเป็นต้องอาศัยเหตุในการล้มเช่นโดมิโน่ต้องการ การอ้างคุณสมบัติของโดมิโน่ที่ไม่มีอำนาจการผลัก หรือสติปัญญาของตนเองให้เป็นคุณสมบัติของผู้วางด้วยจึงเป็นเรื่องที่ห่างไกลกับการใช้สติปัญญาอย่างสิ้นเชิง...
โอ้มนุษย์อะไรหรือที่ล่อลวงเจ้า(ให้ทรยศ) กับองค์อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงเกียรติยิ่ง พระองค์ทรงบันดาลเจ้า แล้วทรงจัดความสมดุลแก่เจ้าแล้วทรงประทานความสมส่วนแก่เจ้า ในรูปแบบใดที่พระองค์ทรงประสงค์พระองค์ก็ทรงประกอบแก่เจ้า(ให้เป็นไปตามรูปนั้น)
(คำแปลคัมภีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮ อัลอิมฟิฎอร บทที่ 82 โองการ 6-8 )
แก้ไขเมื่อ 17 พ.ค. 55 00:53:54
แก้ไขเมื่อ 16 พ.ค. 55 15:07:21