|
๓. จักกวัตติสูตร (๒๖) http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=1189&Z=1702&pagebreak=0
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลาในแคว้นมคธ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ภิกษุทั้งหลายให้มีตนเป็นเกาะ พึ่งตนเอง มีธรรมเป็นเกาะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง โดยการพิจารณาดังนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌา (โลภอยากได้ของคนอื่น) และโทมนัสในโลกเสียได้ ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร ... ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร ... ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร ... สัมปชัญญะและสติ http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมมีอุปการะมาก http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สติปัฏฐาน
ให้เที่ยวไปในโคจรซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน (ให้ปฏิบัติเหมือนพระผู้มีพระภาคคือ อย่าเที่ยวไปในกามคุณ ๕ ให้เจริญสติปัฏฐาน ๔)
แล้วตรัสเล่าเรื่องในอดีต มีพระราชาจักรพรรดิ์ทรงพระนามว่า ทัลหเนมิ ผู้ทรงธรรม มีราชอาณาเขตปกครองกว้างขวางมาก บ้านเมืองในปกครองมีความร่มเย็นเป็นสุข ปราบข้าศึกศัตรูด้วยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา มีรัตนะ ๗ ประการประจำพระองค์ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว (ขุนคลังแก้ว) ปริณายกแก้ว (ขุนพลแก้ว) มีพระราชบุตรกว่าพันองค์ ล่วงไปหลายพันปี ตรัสสั่งบุรุษไว้ว่า ถ้าเห็นจักรแก้วเคลื่อนจากที่เมื่อไหร่ ให้ทูลบอกพระองค์ด้วย ล่วงไปหลายพันปีจักรแก้วนั้นได้เคลื่อนออกจากที่ พระองค์จึงตรัสเีรียกพระกุมารองค์ใหญ่มามอบ พระราชสมบัติให้ เพราะทรงได้ยินมาว่าเมื่อจักรแก้วเคลื่อนจากที่ พระเจ้าจักรพรรดิ์จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน ตรัสว่า บัดนี้กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ พระองค์ได้บริโภคแล้ว ต่อไปนี้จะเป็นเวลาแสวงหา กามอันเป็นทิพย์ แล้วทรงผนวชเป็นฤษี ๗ วันต่อมา จักรแก้วก็อันตรธานไป พระราชาทรงเสียพระทัย เสด็จไปหาพระราชฤษีกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชฤษีจึงตรัสว่า จักรแก้วหาใช่สมบัติที่สืบต่อกันมาไม่ ต้องประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ (วัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ์) จักรแก้วจึงจะปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ์ในวันที่รักษาอุโบสถ ในวันอุึโบสถ ๑๕ ค่ำ
จักกวัตติวัตรอันประเสริฐ คือ ๑. มีธรรมเป็นใหญ่ ป้องกันและคุ้มครองชนภายในทุกหมู่เหล่ารวมถึงสัตว์บางชนิด ที่ควรสงวน (ชนภายใน (ได้แก่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงหมู่ทหารที่เป็นชนภายใน) พวกกษัตริย์ กษัตริย์ประเทศราช พราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ หมู่มฤคและเหล่าปักษา) ด้วยความเป็นธรรม ๒. อย่าให้มีอธรรมในแว่นแคว้น ๓. ให้ทรัพย์แก่ผู้ขาดแคลนทรัพย์ ๔. เข้าไปหาสมณพราหมณ์ที่เป็นผู้งดเว้นจากความเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ (อดทน) และโสรัจจะ (อัธยาศัยงาม) ฯลฯ แล้วสอบถามว่า กุศล อกุศล กรรมมีโืทษ กรรมไม่มีโทษ กรรมอะไรควรเสพ กรรมอะไรไม่ควรเสพ ฯลฯ คืออะไร เมื่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วสิ่งใดที่เป็นอกุศล ก็ละเว้น สิ่งใดเป็นกุศล ก็ถือมั่นประพฤติสิ่งนั้น เว้นจากความเมาด้วยอำนาจมานะ ๙ อย่าง http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มานะ_9 http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ธรรมทำให้งาม http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=จักกวัตติสูตร http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=จักรวรรดิวัตร_5,_12
พระราชารับสนองพระดำรัสพระราชฤษี ทรงประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ จักรแก้วก็ปรากฏ ขึ้นแก่พระองค์ผู้ได้มูรธาภิเษก สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทรงถือพระเต้าด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงถือจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วตรัสว่า ขอจักรแก้วจงเป็นไปเถิด ขอจักรแก้วจงชนะโลกทั้งปวงเถิด พระเจ้าจักรพรรดิ์พร้อม ด้วยจตุรงคินีเสนา (เหล่าช้าง เหล่าม้า เหล่ารถ เหล่าราบ) ก็เสด็จตามไป เมื่อเสด็จไปทิศใด พระราชาในทิศนั้นๆ ก็ทรงยกราชอาณาจักรให้ พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรง พระราชทานพระบรมราโชวาทให้พระราชาเหล่่านั้นตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วมอบราชสมบัติคืนไปให้ครอบครองตามเดิม แล้วพระองค์เสด็จกลับสู่ราชธานี
กาลเวลาล่วงไปหลายพันปี ล่วงมาถึงสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ที่ ๗ เมื่อพระองค์ทรงผนวชเป็น ฤษีและจักรแก้วอันตรธานไปแล้ว พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งมูรธาภิเษกเป็นพระราชาแล้วทรงเสียพระทัย แต่ไม่ได้เสด็จไปเฝ้า พระราชฤษี พระองค์จึงไม่ได้ทรงประพฤติจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ ทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง บ้านเมืองก็ไม่เจริญเหมือนเก่า ไม่เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ที่ทรงประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ เหล่าอำมาตย์จึงถวายคำแนะนำ เรื่องวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ์ พระองค์จึงทรงเริ่มป้องกันและคุ้มครองชนด้วยความชอบธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ ขาดแคลนทรัพย์ บ้านเมืองจึงเกิดความขัดสน มีการขโมยของ เมื่อจับขโมยได้และนำมาไต่สวนทราบความจริงว่า เพราะความขัดสนจึงขโมย พระองค์จึงพระราชทานทรัพย์ให้ไปเลี้ยงชีพ ให้ประกอบการงานด้วยทรัพย์นี้ ต่อมาก็มีคนขโมยของและถูกจับได้อีก พระองค์ก็พระราชทานทรัพย์ให้อีก คนอื่นเมื่อได้ยินมาดังนี้ก็คิดว่า มีคนขโมยของ แต่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระราชทานทรัพย์ให้อีก จึงพากันขโมยของบ้าง คราวนี้พอถูกจับได้ พระองค์กลับทรงพระดำริว่า ถ้าพระราชทานทรัพย์ให้เสมอไป การขโมยก็จะ แพร่หลาย ควรลงโทษขโมยคนนี้ดีกว่า จึงลงพระอาญาด้วยการตัดศีรษะ คนอื่นเมื่อได้ยินมาดังนี้ ก็คิดว่า เราก็ควรเตรียมอาวุธไว้ตัดศีรษะเจ้าทรัพย์บ้าง ครั้นแล้วก็เริ่ม ทำการปล้น ตัดศีรษะเจ้าทรัพย์
ดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทาน (การลักทรัพย์) ก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) ก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท (การพูดปด) ก็แพร่หลาย (เพราะเห็นว่าพระราชารับสั่งให้ ประหารตามที่ให้การสารภาพว่า จริง) เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย อายุและวรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อเสื่อมถอยจากอายุบ้าง จากวรรณะบ้าง บุตรของคนที่มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลง เหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี มุสาวาทก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๒๐,๐๐๐ ปี ปิสุณาวาจา (การพูดส่อเสียด) ก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุ ๑๐.๐๐๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี สัตว์บางพวกมีวรรณะดี บางพวกมีวรรณะไม่ดี จึงเกิดการเพ่งเล็งพวกที่มีวรรณะดี จนถึงกระทั่งประพฤติล่วงภรรยาผู้อื่น เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี กาเมสุมิจฉาจาร (มีการประพฤติล่วงภรรยาผู้อื่น) ก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุ ๕.๐๐๐ ปี เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๕,๐๐๐ ปี ผรุสวาจา (พูดหยาบ) และสัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) ก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๕,๐๐๐ ปี มีอายุ ๒,๕๐๐ ปีบ้าง ๒,๐๐๐ ปีบ้าง เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๒,๕๐๐ ปี อภิชฌาและพยาบาทก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๒,๕๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๑,๐๐๐ ปี เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๑,๐๐๐ ปี มิจฉาทิฐิก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี ก็มีอายุ ถอยลงเหลือ ๕๐๐ ปี เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๕๐๐ ปี ธรรม ๓ ประการคือ อธรรมราคะ (ความกำหนัดในฐานะอันไม่ สมควร) วิสมโลภ (ความโลภไม่เลือก) มิจฉาธรรม (กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจผิดธรรมชาติ) ก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๕๐๐ ปี มีอายุ ๒๕๐ ปีบ้าง ๒๐๐ ปีบ้าง เมื่อเสื่อมถอยเหลือ ๒๕๐ ปี ธรรมเหล่านี้คือ ความไม่ปฏิบัติชอบในมารดา บิดา สมณะ พราหมณ์ ความไม่อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็แพร่หลาย บุตรของคนที่มีอายุ ๒๕๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๑๐๐ ปี http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อกุศลกรรมบถ
เมื่อคนเหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี ใน เด็กหญิงแ่ต่งงานได้ตอนอายุ ๕ ปี รสเหล่านี้คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จะอันตรธานไป หญ้ากับแก้จักเป็นอาหารอย่างดี (กระทั่งรสอร่อยก็ เสื่อมไป อาหารเลวกลายเป็นอาหารดี) กุศลกรรมบถ ๑๐ จะอันตรธานไปหมดสิ้น อกุศลกรรมบถ ๑๐ จะรุ่งเรือง ไม่มีคำว่ากุศล ไม่มีคนทำกุศล ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา บิดา ฯลฯ แต่กลับจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ในการกระทำนั้น จะสมสู่ปะปนกันหมดไม่เว้นญาติกัน ต่างเกิดความอาฆาตพยาบาทต่อกัน คิดจะฆ่ากัน จะมีสัตถันตรกัปทั้งสิ้น ๗ วันคือ จับอาวุธฆ่ากันเอง (หมายถึงกัปที่โลกพินาศในระหว่างด้วยศาสตรา คือยังไม่ทันถึงสังวัฏฏกัป โลกก็พินาศเสียในระหว่าง) http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=กุศลกรรมบถ คนเหล่านี้บางพวกไม่อยากฆ่าใคร และไม่อยากถูกฆ่า ก็หนีไปซ่อนตามป่า จน ๗ วันผ่านไป จึงออกมาจากที่ซ่อน แล้วคิดได้ว่า เหตุที่ประหัตประหารกันขนาดนี้เพราะสมาทานในธรรมที่เป็นอกุศล หลังจากนั้นจึงสมาทานธรรมที่เป็นกุศล อายุและวรรณะก็เจริญขึ้น ทำกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป จนอายุเจริญถึง ๘๐.๐๐๐ ปี เมื่อคนมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงที่มีอายุ ๕๐๐ ปี สมควรแต่งงานได้ มีอาพาธ ๓ อย่าง คือ ๑. ความอยากกิน ๒. ความไม่อยากกิน (เกียจคร้าน อยากนอนเพราะเมาอาหาร) ๓. ความแก่ ชมพูทวีปจะมั่งคั่งรุ่งเรือง บ้านเมืองอยู่อย่างใกล้ชิดกัน ๘๔.๐๐๐ เมือง เมืองพาราณสีจะเป็น ราชธานี นามว่า เกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีพลเมืองมาก อาหารสมบูรณ์ จะมีพระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงพระนามว่า พระเจ้าสังขะ ทรงอุบัติขึ้น ณ เกตุมดีราชธานี จะมีพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า เมตไตรย์ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ จะทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ด้วยพระองค์เอง ฯลฯ จะทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพัน เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย ในบัดนี้ฉะนั้น พระเจ้าสังขะจะทรงบำเพ็ญทาน จะทรงผนวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย์อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ช้าจะทรงสำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า จงมีตนเป็นเกาะ ฯลฯ ด้วยการพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จงเที่ยวไปใน โคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน แล้วจะเจริญทั้งด้วยอายุ วรรณะ สุข โภคะ พละ
๑. อายุ เจริญอิทธิบาท ๔ ประกอบด้วยฉันทะสมาธิปธานสังขาร วิริยะสมาธิปธานสังขาร จิตตสมาธิปธานสังขาร วิมังสาสมาธิปธานสังขาร จะสามารถมีอายุอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป (การเจริญอิทธิบาท ๔ เป็นการงานทางจิตอันต้องมีสมาธิ โดยมีฉันทะเป็นใหญ่และประกอบด้วยปธาน มีวิริยะเป็นใหญ่และประกอบด้วยปธาน มีจิตตะ (ความใส่ใจ) เป็นใหญ่และประกอบด้วยปธาน มีวิมังสา (ปัญญา) เป็นใหญ่และประกอบด้วยปธาน) http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อิทธิบาท_4 ปธาน 4 หรือสัมมัปปธาน 4 หรือวิริยะ 4 อย่าง http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปธาน_4
๒. วรรณะ ตั้งอยู่ในศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย (ศีลเป็นความงามน่าเจริญตาเจริญใจ)
๓. สุขะ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขา (คือความสุขจากการบรรลุรูปฌาน ๔) http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=รูปฌาน
๔. โภคะ มีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปทุกทิศ แก่ทุกสรรพสัตว์ (อานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาเจโตวิมุติ มี ๑๑ ประการ เช่น นอนเป็นสุข) http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พรหมวิหาร_4 อานิสงส์ ๑๑ ประการ http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=8297&Z=8309
๕. พละ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ (อรหัตตผล) ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง เห็นได้ในชาตินี้ (ทิฐธรรม) (พละ คือ กำลังแรงความเข้มแข็งที่ทำให้ข่มขจัดได้แม้แต่กำลังแห่งมาร (เทพบุตรมาร กิเลสมาร มัจจุมาร)) http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พรหรือธรรมอันน่าปรารถนา&detail=on http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=เจโตวิมุตติ http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ปัญญาวิมุตติ
ตรัสในที่สุดว่า ไม่ทรงเห็นกำลังอย่างอื่นสักอย่างหนึ่งที่ข่มได้ยากเท่ากำลังของมาร บุญ (กุศลธรรมอันเป็นโลกุตตระ) จะเจริญขึ้นได้อย่างนี้เพราะสมาทานกุศลธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระองค์
แก้ไขตาม #191, 194 ย่อความที่อ่านได้ง่ายกว่า ดูที่ #195
แก้ไขเมื่อ 12 ก.ค. 55 20:55:45
แก้ไขเมื่อ 12 ก.ค. 55 18:56:22
แก้ไขเมื่อ 12 ก.ค. 55 18:54:51
จากคุณ |
:
GravityOfLove
|
เขียนเมื่อ |
:
11 ก.ค. 55 02:30:30
|
|
|
|
|