(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 34)
ว่าด้วยพระฉัพพรรณรังสี
เมื่อพระศาสดา ทรงพิจารณาธรรมอันละเอียดสุขุมตามความสบาย
ด้วยพระสัพพัญญุตญาณซึ่งมีโอกาส (ช่อง) อันได้แล้วอย่างนี้
พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี ๖ ประการ) คือ
นีละ (เขียวเหมือนดอกอัญชัน )
ปีตะ (เหลืองเหมือนหรดาล)
โลหิตะ (แดงเหมือนตะวันอ่อน)
โอทาตะ ( ขาวเหมือนแผ่นเงิน)
มัญเชฏฐะ (สีหงสบาท เหมือนดอกหงอนไก่)
ประภัสสร (เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก)
ก็ซ่านออกจากพระสรีระ
พื้นแห่งท้องฟ้า
ได้เป็นราวกะว่าเต็มด้วยดอกอัญชันกระจายอยู่ทั่วไป
เหมือนดารดาษด้วยดอกสามหาวหรือกลีบอุบลเขียว
เหมือนขั้วตาลประดับด้วยแก้วมณีที่แกว่งไปมา
และเหมือนแผ่นวัตถุสีเขียวเข้มที่ขึงออก ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีเขียวเหล่าใด
พระรัศมีสีเขียวเหล่านี้ ออกไปแล้วจากพระเกศา
แลพระมัสสุทั้งหลาย และจากที่สีเขียวแห่งพระเนตรทั้งสอง.
ทศาภาคทั้งหลายย่อมรุ่งโรจน์
เหมือนโสรจสรง (ชำระ) ด้วยน้ำทองคำ
เหมือนแผ่แผ่นทองคำออกไป
เหมือนย้อมด้วยจุณแห่งนกกดไฟ (น่าจะเป็นผงขมิ้น)
และเหมือนเรียงรายด้วยดอกกรรณิการ์ ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีเหลืองเหล่าใด
รัศมีสีเหลืองเหล่านั้น ท่านออกแล้วจากพระฉวีวรรณ และจากที่สีเหลืองแห่งพระเนตรทั้งสอง.
ทิศาภาคทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว
เหมือนย้อมด้วยจุณแห่งชาด
เหมือนรดด้วยน้ำครั่งที่สุกดีแล้ว เหมือนคลุมด้วยผ้ากัมพลแดง
เหมือนเรียงรายด้วยดอกชัยพฤกษ์ ดอกทองกวาว และดอกชบา
ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีแดงเหล่าใด
พระรัศมีสีแดงเหล่านั้น ซ่านออกแล้วจากพระมังสะ พระโลหิตและที่สีแดงแห่งพระเนตรทั้งสอง.
ทิศาภาคทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว
เหมือนเกลื่อนกล่นด้วยขีรธาราที่เทออกจากหม้อเงิน
เหมือนเพดานแผ่นเงินที่เขาขึงไว้ เหมือนขั้วตาลเงินที่แกว่งไปมา
เหมือนดาดาษด้วยดอกคล้า ดอกโกมุท ดอกย่างทราย ดอกมะลิวัลย์
ดอกมะลิซ้อนเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีขาวเหล่าใด
รัศมีสีขาวเหล่านั้นซ่านออกแล้วจากพระอัฐิทั้งหลาย จากพระทนต์ทั้งหลาย
และจากที่สีขาวแห่งพระเนตรทั้งสอง.
ส่วนพระรัศมีสีหงสบาทและเลื่อมประภัสสร ก็ซ่านออกจากส่วนแห่งพระสรีระนั้น ๆ
พระฉัพพรรณรังสีเหล่านั้นออกแล้วจับมหาปฐพีใหญ่อันหนาทึบ ด้วยประการฉะนี้
มหาปฐพีอันหนาถึง ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นเหมือนก้อนทองคำที่เขาขจัดมลทินแล้ว
พระรัศมีทั้งหลายเจาะทะลุแผ่นดินลงไปจับน้ำในภายใต้
น้ำซึ่งรองแผ่นดินหนาถึง ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นเหมือนทองคำที่ไหลคว้างออกจากเบ้าทอง
พระรัศมีเหล่านั้นเจาะน้ำลงไปจับลม ลมหนา ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นเหมือนแท่งทองคำที่ยกขึ้นแล้ว
พระรัศมีทั้งหลายเจาะลมแล้วแล่นไปสู่อัชชฎากาศ (อากาศเวิ้งว้าง) ภายใต้.
ว่าด้วยส่วนเบื้องบน พระรัศมีทั้งหลาย แม้พุ่งขึ้นไปแล้วจับอยู่ที่จาตุมหาราชิกา
เจาะแทงตลอดจาตุมหาราชิกาไปจับชั้นดาวดึงส์ จากนั้นก็ไปยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
จากนั้นก็ไปพรหมโลก ๙ ชั้น จากนั้นก็ไปเวหัปผลา จากนั้นก็ไปปัญจสุทธาวาส จับอรูปทั้ง ๔
เจาะ (แทงตลอด) อรูปทั้ง ๔ แล้วแล่นไปสู่อัชชฎากาศ (อากาศเวิ้งว้าง).
(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 36)
โดยส่วนเบื้องขวางทั้งหลาย พระรัศมีแล่นไปสู่โลกา ทั้งหลายอันหาที่สุดมิได้
ในที่ทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ไม่มีรัศมีพระจันทร์ในพระจันทร์
ไม่มีรัศมีพระอาทิตย์ในพระอาทิตย์ ไม่มีรัศมีดวงดาวในดวงดาวทั้งหลาย
ไม่มีรัศมีของเทวดาทั้งหลายในที่ทั้งปวง คือ ที่อุทยาน วิมาน ต้นกัลปพฤษ์ ทั้งหลาย
ที่สรีระทั้งหลาย ที่อาภรณ์ทั้งหลาย
ถึงหาพรหมผู้สามารถแผ่แสงสว่างไปสู่โลกธาตุติสหัสสี
และมหาสหัสสี ก็ได้เป็นเหมือนหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
พระจันทร์ พระอาทิตย์ ดวงดาว อุทยานวิมาน ต้นไม้
กัลปพฤกษ์ของเทพ ก็ปรากฏเพียงเป็นการกำหนดเท่านั้น.
จริงอยู่ สถานที่มีประมาณเท่านี้ ได้เป็นที่ท่วมทับ (ปกคลุม) แล้ว
ด้วยรัศมีของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น พระฤทธิ์แม้นี้มิใช่ฤทธิ์เกิดจากการอธิษฐาน
มิใช่ฤทธิ์เกิดจากภาวนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แต่เมื่อพระโลกนารถทรงพิจารณาธรรมอันละเอียดสุขุม พระโลหิตก็ผ่องใส
วัตถุรูปก็ผ่องใส พระฉวีวรรณก็ผ่องใส วรรณธาตุมีจิตเป็นสมุฏฐาน ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหว
ในประเทศประมาณ ๘๐ ศอกโดยรอบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาธรรม
โดยลักษณะนี้ ตลอด ๗ วัน.