จีนกับปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียง
โดย จันทร์จุฑา สุขขี นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มติชนรายวัน วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10043
ซินเกียงเป็นดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน อยู่ห่างกรุงปักกิ่งถึง 4,000 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1.66 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ทุรกันดารเพราะมีที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงปาร์มีและทะเลทรายตะกามะกัน
เมื่อมองจากภูมิประเทศหลายคนอาจคิดว่าซินเกียงเป็นเพียงดินแดนไกลปืนเที่ยงที่ไร้ผู้คนและด้อยความสำคัญ
แต่อันที่จริงแล้วซินเกียงมีความสำคัญต่อจีนอย่างยิ่งทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคง เพราะเป็นที่ตั้งของ "แอ่งทาริม" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของจีนและซินเกียงตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือ เป็นเขตเชื่อมต่อจีนกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 8 ประเทศ คือชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมองโกเลีย ชายแดนตะวันตกติดกับรัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน และทาจิกิสถาน ส่วนทิศใต้ติดกับปากีสถาน อินเดีย และอัฟกานิสถาน
การที่อยู่ใกล้กับประเทศในเอเชียกลางหลายประเทศทำให้ประชากรพื้นเมืองของซินเกียงไม่ใช่ชาวจีน แต่เป็นคนเชื้อสายเตอร์กที่เรียกตัวเองว่าชาว "อุยกูร์"
คนเหล่านี้เป็นมุสลิมที่มีความขัดแย้งกับทางการจีนมาอย่างยาวนาน โดยคู่ปรับที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลจีนก็คือกลุ่ม "องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก" (East Turkistan Liberation Organization : ETLO) ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการจะแบ่งแยกดินแดนซินเกียงออกเป็นประเทศอิสระที่ปกครองแบบรัฐมุสลิมในชื่อว่า "เตอร์กิสถานตะวันออก"
แก้ไขเมื่อ 24 พ.ค. 55 21:21:02
แก้ไขเมื่อ 24 พ.ค. 55 21:19:21
แก้ไขเมื่อ 24 พ.ค. 55 21:10:07