ตอนที่ 2. สถานภาพของเสรีภาพในการนับถือศาสนา
กรอบทางกฎหมายและนโยบาย
กรุณาอ่านผนวก ค. ใน รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการยอมรับปฏิบัติตามมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย http://www.state.gov/g/drl/rls/hrrpt/2010/appendices/index.htm
รัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายอื่นๆ ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา และในทางปฏิบัติจริง โดยทั่วไป รัฐบาลก็บังคับใช้การให้ความคุ้มครองนี้
รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 ระบุห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดเพราะเหตุแห่งความแตกต่างใน เรื่องความเชื่อทางศาสนา ในช่วงเวลาของรายงานฉบับนี้ ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางศาสนาที่เป็นนัยสำคัญจากทางรัฐบาล
ไม่มีการกำหนดศาสนาประจำชาติ แต่พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 ยังคงข้อกำหนดจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลต้อง ให้ความคุ้มครองพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานรวมทั้งศาสนาอื่นด้วย และต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา ตลอดจนสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระดับสูง อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ห้ามการพูดที่อาจเป็นการดูหมิ่นศาสนาพุทธยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (แก้ไขเมื่อปีพ.ศ. 2535) ห้ามหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นศาสนาพุทธและคณะสงฆ์ การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท (ประมาณ 664 เหรียญสหรัฐ) ประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2499 มาตรา 206 - 208 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. 2519) ห้ามการดูหมิ่นหรือสร้างความวุ่นวายในศาสนสถานหรือพิธีทางศาสนาของทุกศาสนาที่ได้รับการยอมรับในประเทศ การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมีโทษจำคุก 1 7 ปีหรือปรับ 2,000 14,000 บาท (58 407 เหรียญสหรัฐ)
ประเทศไทยมีกลุ่มศาสนาที่ทางการรับรองอยู่ห้ากลุ่ม คือ กลุ่มพุทธศาสนา กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์ฮินดู กลุ่มซิกข์และกลุ่มคริสต์ กรมการศาสนารับผิดชอบเรื่องการจดทะเบียนองค์กรศาสนาต่างๆ ตามระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยองค์กรศาสนาต่างๆ รวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาสนาซึ่งประกาศใช้เมื่อปีพ.ศ. 2512 และแก้ไขเมื่อพ.ศ. 2525 การที่กรมศาสนาจะรับรององค์กรใหม่ใดว่าเป็นองค์กรศาสนาในประเทศไทยได้นั้น จะต้องปรากฏในสำมะโนประชากรว่ามีพลเมืองนับถือองค์กรนั้นๆ ไม่น้อยกว่า 5,000 คน มีหลักธรรมคำสอนที่มีลักษณะเป็นศาสนาหนึ่งต่างหากจากศาสนาอื่นในทางศาสนศาสตร์และองค์กรศาสนานั้นๆ ไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง นอกจากนี้ ก่อนที่กรมศาสนาจะรับจดทะเบียน องค์กรศาสนานั้นๆ จะต้องได้รับการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจากกลุ่มศาสนาอย่างน้อยหนึ่งกลุ่มจากทั้งห้ากลุ่มที่ทางการได้รับรองอยู่ก่อนแล้ว โดยทั่วไป รัฐบาลกำหนดให้กลุ่มศาสนาใหม่ต้องได้รับการยอมรับจากกลุ่มศาสนาที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วที่มีหลักการความเชื่อคล้ายคลึงกัน การจดทะเบียนกับทางการทำให้องค์กรศาสนาเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่าง อาทิ สิทธิในการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ สถานะการยกเว้นภาษี และเจ้าหน้าที่ขององค์กรจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษเมื่อขอวีซ่าประเภทอยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา รัฐบาลยังไม่ได้ให้การรับรององค์กรศาสนาใหม่ใดเลย ในทางปฏิบัติ กลุ่มองค์กรศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนยังคงดำเนินกิจกรรมของตนได้อย่างเสรี และนโยบายไม่รับรององค์กรศาสนาใหม่ดังกล่าวของรัฐบาลก็มิได้เป็นข้อจำกัดการประกอบกิจกรรมขององค์กรศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนแต่อย่างใด
รัฐบาลจำกัดจำนวนนักบวชผู้ทำการเผยแผ่ศาสนาชาวต่างชาติที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ แม้ว่าจำนวนโควตาของบางศาสนาจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีนี้
รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 กำหนดให้รัฐบาล "อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น" ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ รัฐได้ให้เงินอุดหนุนกิจกรรมของกลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดห้ากลุ่ม ในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 3,600,000,000 บาท (119,600,000 เหรียญสหรัฐ) แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ สำนักงานนี้มีหน้าที่กำกับดูแลคณะสงฆ์และอนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอนพุทธศาสนศึกษาของวัดพุทธและสถาบันการศึกษาศาสนาพุทธทุกแห่ง นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การศึกษาและการประชาสัมพันธ์พุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน สำหรับปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยผ่านกรมศาสนา 125 ล้านบาท (4,150,000 เหรียญสหรัฐ) แก่องค์กรของศาสนาพุทธ 35.6 ล้านบาท (1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) แก่องค์กรของศาสนาอิสลาม และ 3 ล้านบาท(99,667 เหรียญสหรัฐ) แก่องค์กรของศาสนาคริสต์ พราหมณ์-ฮินดูและซิกข์ นอกจากนี้ กรมศาสนายังจัดสรรงบประมาณปี 2553 จำนวน 38 ล้านบาท (1,260,000 เหรียญสหรัฐ) เป็นเงินทุนให้แก่งานวิจัยทางศาสนา กิจกรรมของเยาวชนและค่ายธรรมะฤดูร้อน ตลอดจนเงินทุนอีก 10,600,000 ล้านบาท (352,159 เหรียญสหรัฐ) สำหรับโครงการส่งเสริมศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
งบประมาณสำหรับองค์กรศาสนาพุทธและองค์กรศาสนาอิสลามจะรวมถึงงบสนับสนุนสถาบันระดับอุดมศึกษาของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม งบสนับสนุนโครงการการศึกษาศาสนาในโรงเรียนของรัฐและเอกชน งบการจ่ายเบี้ยเลี้ยงรายวันสำหรับพระสงฆ์และผู้สอนศาสนามุสลิมที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารและผู้มีสมณศักดิ์สูง และงบช่วยเหลือในเรื่องการเดินทางและการดูแลรักษาสุขภาพของพระสงฆ์และผู้สอนศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ยังรวมถึงงบประมาณประจำปีสำหรับการบูรณะซ่อมแซมวัดพุทธและมัสยิด การบำรุงรักษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาและค่าบำรุงรักษาประจำวันของมัสยิดกลางในจังหวัดปัตตานี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดสรรงบประมาณ 403 ล้านบาท (13,400,000 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการบำรุงรักษาวัดและสถาบันทางพุทธศาสนา
กลุ่มศาสนาอื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับทางการอาจขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานได้ แต่จะไม่ได้รับงบประมาณประจำเพื่อการบำรุงรักษาศาสนาสถานและไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในการอุปถัมภ์นักบวช ในปีพ.ศ. 2552 กรมศาสนาจัดงบประมาณ 20 ล้านบาท (664,451เหรียญสหรัฐ) เพื่อการบูรณะศาสนสถานของกลุ่มศาสนาต่างๆ ที่ไม่ใช่พุทธ โดยงบประมาณเหล่านี้ใช้ซ่อมแซมมัสยิด 515 แห่ง โบสถ์คริสต์ 78 แห่งและวัดพราหมณ์-ฮินดูหนึ่งแห่ง งบประมาณกรมศาสนาประจำปีงบประมาณ 2553 สำหรับการบำรุงรักษาศาสนสถานยังคงจัดสรรจำนวนเท่าปีที่ผ่านมา เงินที่บุคคลและเอกชนบริจาคให้กับองค์การศาสนาที่จดทะเบียนสามารถนำไปขอลดหย่อนภาษีได้
กลุ่มศาสนาต่างๆ สามารถเผยแผ่ศาสนาอย่างเสรี พระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นธรรมทูต (ผู้เผยแผ่ศาสนาพุทธ) ได้ทำหน้าที่อย่างจริงจังโดยเฉพาะตามพื้นที่ชายแดนของประเทศในกลุ่มชาวเขา จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีพระธรรมทูต 5,609 รูปเผยแผ่ศาสนาอยู่ทั่วประเทศ และรัฐบาลได้แต่งตั้งพระธรรมทูต 1,857 รูปเพื่อเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศต่างๆ และมีพระสงฆ์ 1,380 รูปพำนักในต่างประเทศทำหน้าที่อบรมพุทธธรรมใน 30 ประเทศ มีวัดไทยในต่างประเทศที่ขึ้นทะเบียนอยู่ 317 แห่งใน 27 ประเทศ ในปีพ.ศ. 2552 มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับพระที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านศาสนศาสตร์กว่า 400 รูปให้ทำการอบรมธรรมะในต่างจังหวัดโดยมีสัญญาปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 4 ปีอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแผ่ศาสนาภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลและมหาเถรสมาคมยังส่งเสริมให้ชายที่ว่างงานหรือได้รับผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจให้รับการอุปสมบทเป็นพระสงฆ์
ผู้สอนศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรอิสลามมีชาวไทยจำนวนเล็กน้อยทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาทั้งในและต่างประเทศ องค์กรของศาสนาคริสต์มีจำนวนผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศของทุกนิกายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากกว่าของอิสลาม องค์กรของศาสนาซิกข์และฮินดู-พราหมณ์มีจำนวนผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาน้อยกว่าซึ่งเป็นการสะท้อนถึงสัดส่วนจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาเหล่านี้
ทางการกำหนดให้มีการสอนศาสนาในโรงเรียนรัฐบาลทั้งในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ในปีพ.ศ. 2546 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกหลักสูตรที่เรียกว่า วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งกำหนดให้นักเรียนแต่ละชั้นปีต้องเรียนวิชานี้สัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมง วิชาดังกล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย นักเรียนที่ต้องการศึกษาศาสนาใดอย่างเจาะลึกสามารถศึกษาได้จากโรงเรียนสอนศาสนาและสามารถโอนหน่วยกิตไปยังโรงเรียนของรัฐบาลได้ โรงเรียนซึ่งดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารโรงเรียนของท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้สอนวิชาศาสนาเพิ่มเติมได้ มหาเถรสมาคมและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้จัดทำหลักสูตรพิเศษสำหรับการศึกษาศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม
เด็กๆ มีโอกาสที่หลากหลายในการศึกษาศาสนาอิสลาม ตาดีกา (Tadika) เป็นหลักสูตรศาสนาที่สอนหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กชั้นประถมปีที่ 1 6 และโดยทั่วไปจะสอนที่มัสยิด หลักสูตรนี้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการศาสนา ยกเว้นในจังหวัดสตูล นราธิวาส ยะลา ปัตตานีและบางส่วนของสงขลา ซึ่งหลักสูตรจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้โรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามใช้หลักสูตรการสอนได้สองหลักสูตร หลักสูตรแรกสอนศาสนาอิสลามควบคู่ไปกับหลักสูตรปกติของกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลให้การรับรองวิทยฐานะโรงเรียนเอกชนประเภทนี้รวมทั้งให้เงินสนับสนุนด้วย และนักเรียนที่จบออกมาสามารถศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษาในประเทศได้ หลักสูตรประเภทที่สองเป็นการสอนเฉพาะศาสนาอิสลามอย่างเดียว ในปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลได้อนุญาตให้โรงเรียนเหล่านี้นำหลักสูตรการสอนศาสนาอิสลามที่รัฐบาลอนุมัติแล้วมาใช้สอนได้ นักเรียนที่จบหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากรัฐและสามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้
ส่วนหลักสูตรการสอนศาสนาอิสลามประเภทที่สามเป็นการสอนตามโรงเรียนที่ดำเนินการโดยเอกชน เป็นการสอนประเภทเช้าไป-เย็นกลับ (เรียกกันว่าโรงเรียนปอเนาะ) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ โรงเรียนปอเนาะที่จดทะเบียนกับรัฐบาลจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามจำนวนครู จำนวนทั้งหมดของโรงเรียนเหล่านี้ยังไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ไม่ต้องจดทะเบียนกับรัฐบาลจนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 แต่แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือคาดว่าอาจมีโรงเรียนปอเนาะมากถึงพันโรง นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนปอเนาะที่จดทะเบียนแล้วไม่ได้รับประกาศนียบัตรจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นักเรียนสามารถสอบเทียบความรู้กับหลักสูตรการศึกษาศาสนาอิสลามที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล เมื่อสอบผ่าน นักเรียนจึงได้รับใบประกาศนียบัตรจากรัฐบาล
รัฐบาลประกาศให้วันสำคัญทางศาสนาต่อไปนี้เป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ: วันมาฆบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ โดยทั่วไป มักอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์) วันวิสาขบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ มักอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม) วันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ มักอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม) และวันเข้าพรรษา
http://thai.bangkok.usembassy.gov/services/docs/reports/religious_jul_dec10-t.html
แก้ไขเมื่อ 25 พ.ค. 55 11:53:43