ภิกษุ ท. ! เมื่อพระราชา มีการกระทำชนิดที่เป็นไปแต่เพียงเพื่อการคุ้มครองอารักขา, แต่มิได้เป็นไปเพื่อการกระทำให้เกิดทรัพย์ แก่บุคคลผู้ไม่มีทรัพย์ทั้งหลาย
ดังนั้นแล้ว ความยากจนขัดสน ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด;
เพราะความยากจนขันสนเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
เพราะอทินนาทานเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
การใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
เพราะการใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่าง ๆ เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
ปาณาติบาต (ซึ่งหมายถึงการฆ่ามนุษย์ด้วยกัน) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
เพราะปาณาติบาตเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
มุสาวาท (คำเท็จ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาจาก ๘ หมื่นปี เหลือเพียง ๔ หมื่นปี)
เพราะมุสาวาทเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
ปิสุณาวาท (คำส่อเสียด) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๒ หมื่นปี)
เพราะปิสุณาวาทเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
กาเมสุมิจฉาจาร (การละเมิดของรักของบุคคลอื่น) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๑ หมื่นปี)
เพราะกาเมสุมิจฉาจารเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
ผรุสวาท (คำหยาบ) และสัมผัปปลาปวาท (คำเพ้อเจ้อ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๕ พันปี)
เพราะผรุสวาทและสัมผัปปลาปวาทเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
อภิชฌาและพยาบาท (แผนการกอบโกย และการทำลายล้าง) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๒,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี)
เพราะอภิชฌาและพยาบาท เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดชนิดเห็นกงจักรเป็นดอกบัว นิยมความชั่ว) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๑,๐๐๐ ปี)
เพราะมิจฉาทิฏฐิ เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
(อกุศล) ธรรมทั้งสาม คือ
- อธัมมราคะ (ความยินดีที่ไม่เป็นธรรม)
- วิสมโลภะ (ความโลภไม่สิ้นสุด)
- มิจฉาธรรม (การประพฤติตามอำนาจกิเลส)
ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด (อย่างไม่แยกกัน);
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๕๐๐ ปี)
เพราะ (อกุศล) ธรรม ทั้งสาม ... นั้นเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด
(อกุศล) ธรรมทั้งหลายคือ
- ไม่ปฏิบัติอย่างถูกต้องในมารดา, บิดา, สมณะพราหมณ์
- ไม่มีกุลเชฏฐาปจายนธรรม (ความอ่อนน้อมตามฐานะสูงต่ำ)
ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด.
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๒๕๐ - ๒๐๐ - ๑๐๐ ปี)
สมัยนั้น จักมีสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยลดลงมาเหลือเพียง ๑๐ ปี
(จักมีลักษณะแห่งความเสื่อมเสียมีประการต่าง ๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า) :
หญิงอายุ ๕ ปี ก็มีบุตร;
รสทั้งห้า คือเนยใสเนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และรสเค็ม ก็ไม่ปรากฏ;
มนุษย์ทั้งหลาย กินหญ้าที่เรียกว่า กุท๎รูสกะ (ซึ่งนิยมแปลกันว่าหญ้ากับแก้) แทนการกินข้าว;
กุศลกรรมบถหายไป ไม่มีร่องรอย, อกุศลกรรมบถ รุ่งเรืองถึงที่สุด;
ในหมู่มนุษย์ ไม่มีคำพูดว่ากุศล จึงไม่มีการทำกุศล;
มนุษย์สมัยนั้น จักไม่ยกย่องสรรเสริญ
- ความเคารพเกื้อกูลต่อมารดา (มัตเตยยธรรม),
- ความเคารพเกื้อกูลต่อบิดา (เปตเตยยธรรม),
- ความเคารพเกื้อกูลต่อสมณะ (สามัญญธรรม),
- ความเคารพเกื้อกูลต่อพราหมณ์ (พรหมัญญธรรม),
และ กุลเชฏฐาปจายนธรรม, เหมือนอย่างที่มนุษย์ยกย่องกันอยู่ในสมัยนี้;
ไม่มีคำพูดว่า แม่ น้าชาย น้าหญิง พ่อ อา ลุง ป้า ภรรยาของอาจารย์ ... ;
สัตว์โลกจักกระทำการสัมเภท (สมสู่สำส่อน) เช่นเดียวกันกับ แพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข สุนัขจิ้งจอก;
ความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดฆ่า เป็นไปอย่างแรงกล้า
แม้ในระหว่างมารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา
พี่กับน้อง น้องกับพี่ ทั้งชายและหญิง เหมือนกับที่นายพรานมีความรู้สึกต่อเนื้อทั้งหลาย.
ในสมัยนั้น จักมี สัตถันตรกัปป์ (การใช้ศัสตราวุธติดต่อกันไม่หยุดหย่อน) ตลอดเวลา ๗ วัน :
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจักมีความสำคัญแก่กันและกัน ราวกะว่าเนื้อ;
แต่ละคนมีศัสตราวุธในมือ ปลงชีวิตซึ่งกันและกันราวกะว่า ฆ่าปลา ฆ่าเนื้อ.