Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ประเพณีการไหว้เจ้า ติดต่อทีมงาน

ประเพณีการไหว้เจ้า

"การไหว้เจ้า" เป็นประเพณีที่ชาวจีนประพฤติปฏิบัติ    สืบต่อกันมากว่า 3,000 ปี (สมัยราชวงศ์โจว) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
และ นำมาซึ่งความสุข ความเจริญรุ่งเรือง  แก่ตนเอง และ ครอบครัว ทั้งกิจการงาน ธุรกิจที่ประกอบการอยู่ ชาวจีนจึงมีความเชื่อสืบต่อ ๆ
กันมาว่าในปีหนึ่ง ๆ มักจะมี สิ่งเลวร้าย เรื่องไม่ดีงาม เรื่องอัปมงคล มากระทบกระทั่ง หรือรบกวน การดำเนินชีวิตของคนเรา จนทำ
ให้เกิดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย การงานติดขัด ไม่ราบรื่น เงินทองไม่คล่อง ทำอะไรก็พบแต่ความยุ่งยาก ค้าขายลำบาก
มีแต่อุปสรรค บุตรบริวารก่อเรื่องวุ่นวาย นำความยุ่งยาก ลำบากใจมาให้ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผิดปกติ ทำให้รู้ได้ว่า "ดวงชะตาชีวิต"  
ไม่ดีนัก  จึงจะต้องมีการขวนขวาย หาที่พึ่ง จึงทำให้ก่อกำเนิดประเพณี การไหว้เจ้า ไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และ ไหว้บรรพบุรุษขึ้น

การไหว้เจ้า

เป็นธรรมเนียมประเพณี ที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษ เพื่อความเป็นสิริมงคล
และนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ แก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ

-ไหว้ ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า            “ง่วงตั้งโจ่ย”
-ไหว้ ครั้งที่สอง      ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า                          “ง่วงเซียวโจ่ย”
-ไหว้ ครั้งที่สาม      ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า                            “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
-ไหว้ ครั้งที่สี่          ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า                            “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ ขนมจ้าง (บะจ่าง)
-ไหว้ ครั้งที่ห้า        ไหว้เดือน 7  วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า    “ตงง้วงโจ่ย”
-ไหว้ ครั้งที่หก        ไหว้เดือน 8  วันที่ 15  เรียกว่า                        “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
-ไหว้ ครั้งที่เจ็ด       ไหว้เดือน 11  ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า       “ไหว้ตังโจ่ย”
-ไหว้ ครั้งที่แปด      ไหว้เดือน 12  วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ     “ก๊วยนี้โจ่ย”

ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย
จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษ
กับเจ้าบางองค์ ที่นับถือศรัทธา คือ

-ไหว้ เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน
-ไหว้ อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9
-ไหว้ แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3
-ไหว้ เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับ วันที่ 29 เดือน 3
-ไหว้ อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
-ไหว้ เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง”

การ ไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้าน และแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว
หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนา ทำไร่ ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่ซิ้ง หรือเทพยดาผืนดิน

เมื่อ พูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการ ไหว้เจ้าที่ กับ ไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด เครื่องเซ่นสำหรับ
บรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะ ไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของ
ไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาว เพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้
มีอาหารน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด

การจัดของไหว้

* ถ้า จัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และ กุ้งมังกร แต่เนื่อง
จากกุ้งมังกรนั้นแพง และหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ด หรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปา
ไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และ ขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”

* ถ้า จัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า
“ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้

ผลไม้ที่ใช้ไหว้จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว

-ส้ม เรียกว่า        “ไต้กิก”   แปลว่า   โชคดี
-องุ่น เรียกว่า       “พู่ท้อ”    แปลว่า   งอกงาม
-สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้”    แปลว่า   มีโชคมาหา
-กล้วย      มีความหมายถึง   การมีลูกหลานสืบสกุล

ที่ในกระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า บางคนนิยมใส่ “โหงวจี้” สำหรับปักธูป ประกอบด้วย เมล็ด 5 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่วเขียว
ถั่วดำ และ เชื้อแป้ง (ยีสต์) โดยถือว่าเมล็ดทั้งห้า คือบ่อเกิดของการเจริญเติบโตอุปมาอุปไมย ให้การไหว้เจ้านี้ นำมาซึ่งความเจริญ
รุ่งเรือง แต่การใช้โหงวจี้ปักธูป มีข้อจำกัดว่าใช้ได้แต่ในบ้าน ถ้าเป็นการไหว้นอกบ้านต้องใช้ข้าวสารหรือทราย  มิฉะนั้นเชื้อแป้งเมื่อ
ถูกความชื้น เช่น ฝน หรือ น้ำค้างจะทำให้แข็งตัว แล้วปักธูปไม่ลง เมื่อไหว้เจ้าเสร็จก็เผากระดาษเงิน กระดาษทอง เป็นการปิดท้ายรายการ


ขอบคุณข้อมุล
http://xn--72cc7bk1bl1a4c6a9bs0i3g.com/festival/wai_chao.html



แสงเทียน

แก้ไขเมื่อ 02 มิ.ย. 55 11:43:44

แก้ไขเมื่อ 01 มิ.ย. 55 21:39:15

จากคุณ : Faraday
เขียนเมื่อ : 1 มิ.ย. 55 18:39:26




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com