Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปิดประตูตีแมว.... ฆ่าล้างเผ่าพันธ์โรฮิงยา.....{แตกประเด็นจาก Y12228720} ติดต่อทีมงาน

สื่อพม่าประท้วงนิวยอร์กไทมส์-เนชั่น กรณีเสนอข่าวความขัดแย้งในอาระกัน

Wed, 2012-06-13 08:11

ด้านกองเซ็นเซอร์สื่อพม่าห้ามเผยแพร่นิตยสาร "Snapshot" ไม่มีกำหนด หลังลงรูปผู้เสียชีวิตเหตุข่มขืน โดยถือว่าละเมิดคำเตือนกองเซ็นเซอร์ที่ห้ามลงข่าวที่เพิ่มความตึงเครียดระหว่างศาสนา

กรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกัน ขณะที่ "Eleven Media" แถลงค้านการนำเสนอข่าวของนิวยอร์กไทมส์ ระบุจะทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิดต่อสำนักข่าว ส่วน "เดอะ เนชั่น" ก็ถูกประท้วงด้วย กรณีลงข่าวโรฮิงยาในกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือยูเอ็น

กองเซ็นเซอร์พม่าแบนนิตยสาร Snapshot อย่างไม่มีกำหนด

แผนกพิจารณาและลงทะเบียนสื่อ (PSRD) หรือกองเซ็นเซอร์สื่อพม่า มีคำสั่งห้ามเผยแพร่นิตยสาร "Snapshot Journal" อย่างไม่มีกำหนด

ทั้งนี้เป็นไปตามคำเตือนที่กองเซ็นเซอร์มีไปยังสำนักพิมพ์ทุกแห่ง ให้หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่เพิ่มความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม


นิตยสาร Snapshot Journal ที่ถูกห้ามจำหน่ายไม่มีกำหนด (ที่มา: เว็บไซต์ Snapshot Journal)

นายเมียต ข่ายน์ (Myat Khine) บรรณาธิการ Snapshot Journal กล่าวว่า ไม่รู้ว่าคำสั่งห้ามจะดำเนินไปยาวนานเท่าไหร่ เขากล่าวด้วยว่า ไม่คิดว่าการดาวโหลดภาพถ่ายจากอินเทอร์เน็ตแล้วพิมพ์ลงในนิตยสารจะมีปัญหาอะไร เพราะภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่ในวงกว้างอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้นับเป็นนิตยสารแรกที่ถูกเซ็นเซอร์ นับตั้งแต่กองเซ็นเซอร์ออกคำเตือนเมื่ออาทิตย์ก่อนให้หลีกเลี่ยงการตีพิมพ์เนื้อหาที่ยั่วยุในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน

และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการภาคย่างกุ้ง มิ้นต์ ส่วย ได้ออกคำเตือนซ้ำไปยังผู้สื่อข่าว ว่าผู้ฝ่าฝืนคำสั่งจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรา 505 วรรค b ของประมวลกฎหมายอาญาพม่า ซึ่งกำหนดสูงสุดคือจำคุก 9 ปี

ทั้งนี้พม่าได้ยกเลิกมาตรการควบคุมสื่อที่มีโทษรุนแรง นับตั้งแต่ปีก่อน หลังรัฐบาลพลเรือนขึ้นสู่อำนาจ และประธานาธิบดีเต๋ง เส่งก็เคยกล่าวว่าจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมสื่อ ขณะที่รัฐสภาเองก็เตรียมออกกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อฉบับใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม นายเมียต ข่าย บรรณาธิการ Snapshot Journal ก็ได้โต้แย้งถึงข้อที่รัฐบาลยกมาอ้างว่าเปิดกว้างมากขึ้น "สิ่งนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน และเราก็ไม่ได้อยู่ใกล้กับประชาธิปไตยเลย" เขากล่าว

ทั้งนี้ Snapshot journal เป็นนิตยสารเดียว ที่ตีพิมพ์ภาพร่างของหญิงชาวอาระกัน ที่ถูกข่มขืนและสังหาร เมื่อ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งชาวมุสลิม 3 คนตกเป็นผู้ต้องหา อย่างไรก็ตามภาพที่น่าเขย่าขวัญดังกล่าวปรากฏอยู่ในเว็บไซต์หลายแห่ง

ทั้งนี้ความตึงเครียดจนถึงจุดวิกฤตที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน เริ่มมาจากเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่มีชาวมุสลิม 10 คนถูกลากจากรถบัสและถูกสังหารโดยฝูงชนที่มีความโกรธแค้น

การสังหารดังกล่าว เป็นผลมาจากการตอบโต้กับกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีสตรีอายุ 26 ปีรายหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าโดยชาวมุสลิม 3 คน เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่่ผ่านมา มีรายงานโดยสื่อพม่าว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ และหลังเหตุการณ์สังหารชาวมุสลิมขณะเดินทางกับรถบัส จึงติดตามมาด้วยการแก้แค้นกันหลายรอบระหว่างชาวอาระกัน และชาวโรฮิงยานับตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย และบาดเจ็บ 17 ราย

***สื่อพม่าเครือ ENG ออกแถลงการณ์คัดค้านผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทมส์**

ด้วยความโกรธแค้นต่อประเด็นดังกล่าวได้ขยายตัวมากขึ้นจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีการโจมตีด้วยถ้อยคำและข้อกล่าวหาในพื้นที่แสดงความเห็นของเว็บไซต์พม่า ซึ่งได้ดึงดูดความสนใจของสื่อต่างประเทศ

โดย Eleven Media Group หรือ EMG หนึ่งในสื่อมวลชนในประเทศของพม่า ซึ่งมีทัศนะสนับสนุนการควบคุมสถานการณ์ในรัฐอาระกันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันอังคารนี้ (12 มิ.ย.) ก็ได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์นายโธมัส ฟูเลอร์ (Thomas Fuller) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ หลังข่าว “Crisis in Myanmar over Buddhist-Muslim Clash” ที่เขารายงาน ได้อ้างอิงข้อความที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ EMG ซึ่งเป็นของผู้อ่านที่ชื่อ "Maungpho" เข้ามาแสดงความเห็นท้ายข่าวว่าชาวโรฮิงยาเป็นผู้ก่อการร้าย และเสนอให้ฆ่าเสีย

"เราขอคัดค้านอย่างรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวที่ชื่อโธมัส ฟูเลอร์ ในย่อหน้าหนึ่งที่เขาเขียนซึ่งอาจเป็นก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกลุ่ม Eleven Media ต่อบรรดาผู้อ่านที่อยู่ต่างประเทศและต่อสาธารณชน" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

"EMG อนุญาตให้ผู้อ่านแสดงความเห็นในเว็บไซต์ ต่อเหตุจลาจลด้วยเสรีภาพอันสมบูรณ์เพื่อสะท้อนความเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์ล่าสุดในรัฐอาระกัน"

"มากไปกว่านั้น EMG ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุปะทะที่ไม่เกี่ยวกับชาวอาระกันนับถือพุทธ และชาวมุสลิมท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องระหว่างชาวอาระกันและชาวเบงกาลีโรฮิงยา"

"อย่างไรก็ตาม สื่อต่างชาติบางสำนักได้รายงานข่าวอย่างไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุจลาจลในรัฐอาระกัน ซึ่ง EMG ได้แสดงจุดยืนต่อเหตุจลาจลไว้แล้วในแถลงการณ์ต่อสาธารณะ"

"ในแถลงการณ์ EMG ได้แสดงอย่างแจ้งชัดว่า EMG จะยังคงนำเสนอข่าวที่่้น่าเชื่อถือที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของรัฐและสาธารณะ สื่อมวลชนต่างชาติอย่าง BBC และ AFP ควรอ้างถึงอย่างถูกต้องว่า "เบงกาลีโรฮิงยา" ไม่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ใดในพม่า การรายงานที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ในพม่าควรเป็นไปอย่างถูกต้องและหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางเชื้อชาติ"

ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41033

(ยังมีต่อ)

 
 

จากคุณ : Jimbovy
เขียนเมื่อ : 13 มิ.ย. 55 09:21:51




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com