 |
กายและใจของคนเรานี้ ประกอบอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๖ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุคือความว่าง และวิญญาณธาตุ ซึ่งเรียกว่า นามรูป
รูปคือหาภูตะ ๔ ได้แก่ ธาตุ ๔ คือธาตดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี้เรียกว่า รูป. เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนะสิการ นี้เรียกว่า นาม. นามและรูป รวมเรียกว่า นามรูป
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตินามรูป แบ่งเป็น ๕ ขันธ์ ที่เรารู้กันในคำว่า ขันธ์ ๕ ขันธ์ แปลว่า กอง. ขันธ์ทั้ง ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์.
คนทั่วไปกล่าวกันว่ารูป เพราะอาศัยความหมายอะไร? เพราะกิริยาที่แตกสลายได้มีอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้น แตกสลายได้เพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง เพราะความหิวบ้าง เพราะความกระหายบ้าง แตกสลายได้เพราะเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง เป็นต้น. เพราะกิริยาที่แตกสลายได้มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่ารูป. ขนฺธ. สํ. ๑๗ / ๗๔ / ๑๑๓
เปรียบเหมือน แม่น้ำใหญ่ไหลพาเอาก้อนฟองน้ำมา เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นก้อนฟองน้ำนั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในก้อนฟองน้ำนั้นจะพึงมีได้อย่างไร อุปมานี้ ฉันใด,
อุปไมย ก็ฉันนั้น คือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นรูปนั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในรูปนั้น จะพึงมีได้อย่างไร.
หมู่แห่งเวทนาหกเหล่านี้ คือเวทนาเกิดแต่สัมผัสทางตา เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางหู เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางจมูก เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางลิ้น เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางกาย และเวทนาเกิดแต่สัมผัสทางใจ, นิ้ เรียกว่า เวทนา. ขนฺธ. สํ. ๑๗ / ๗๔ / ๑๑๔
คนทั่วไปกล่าวกันว่าเวทนา เพราะอาศัยความหมายอะไร ? เพราะกิริยาที่รู้สึกได้มีอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้น ย่อมรู้สึกได้ ซึ่งความรู้สึกอันเป็สุขบ้าง อันเป็นทุกข์บ้าง รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดังนี้เป็นต้น. เพราะกิริยาที่รู้สึกได้มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า เวทนา.
เปรียยบเหมือนฝนเมล็ดหยาบ ตกในท้ายฤดูฝน ต่อมน้ำย่อมเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นต่อมน้ำนั้นเป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในต่อมน้ำนั้นจะพึงมีได้อย่างไร อุปมานี้ ฉันใด,
อุปไมย ก็ฉันนั้น คือ เวทนาชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นเวทนานั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในเวทนานั้น จะพึงมีได้อย่างไร.
หมู่แห่งสัญญาหกเหล่านี้ คือสัญญาในรูป สัญญาในเสียง สัญญาในกลิ่น สัญญาในรส สัญญาในสัมผัส สัญญาในธรรมารมณ์ คือสัญญาในอารมณ์กระทบใจ. นิ้ เรียกว่า สัญญา. ขนฺธ. สํ. ๑๗ / ๗๔ / ๑๑๕
คนทั่วไปกล่าวกันว่าสัญญา เพราะอาศัยความหมายอะไร ? เพราะกิริยาที่จำได้หมายรู้มีอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้น ย่อมจำได้หมายรู้ ซึ่งสีเขียว สีเหลือง สีดำ สีขาว สีแดง สีขาบ ดังนี้ เป็นต้น เพราะกิริยาที่จำได้หมายรู้ มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า สัญญา.
เปรียยบเหมือนเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน ในเวลาเที่ยงวัน พยับแดดย่อมไหวยิบยับ เมื่อพิจารณาโดยแยบบคาย ย่อมเห็นพยับแดดนั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในพยับแดดนั้นจะพึงมีได้อย่างไร อุปมานี้ฉันใด, อุปไมย ก็ฉันนั้น คือ สัญญาชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยแบยคาย ย่อมเห็นสัญญานั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในสัญญานั้น จะพึงมีได้อย่างไร.
หมู่แห่งเจตนาหกเหล่านี้ รูปะสัญเจตะนาคือคิดนึกในรูป สัททะสัญเจตนาคือคิดนึกในเสียง คันธะสัญเจตนาคือคิดนึกในกลิ่น ระสะสัญเจตนาคือคิดนึกในรส โผฏฐัพพะสัญเจตนาคือคิดในสัมผัส ธัมมะสัญเจตนาคิดนึกในธรรมารมณ์คือคิดนึกในอารมณ์กระทบใจ. นี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย. ขนฺธ. สํ. ๑๗ / ๗๔ / ๑๑๖
คนทั่วไปกล่าวกันว่าสังขาร เพราะอาศัยความหมายอะไร? เพราะกิริยาที่ปรุงแต่งให้สำเร็จรูป มีอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้น ย่อมปรุงแต่งรูป ให้สำเร็จเพื่อความเป็นรูป ย่อมปรุงแต่งเวทนาให้สำเร็จเพื่อความเป็นเวทนา ย่อมปรุงแต่งสัญญา ให้สำเร็จเพื่อความเป็นสัญญา ย่อมปรุงแต่งสังขาร ให้สำเร็จเพื่อความเป็นสังขาร ย่อมปรุงแต่งวิญญาณ ให้สำเร็จเพื่อความเป็นวิญญาณ ดังนี้เป็นต้น เพราะกิริยาที่ปรุงแต่งให้สำเร็จรูปมีอยู่ในสิ่งนั้น เช่นนั้น ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า สังขารทั้งหลาย.
เปรียยบเหมือนเหมือนบุรุษคนหนึ่ง เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ ถือขวานเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยต้นใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังอ่อนอยู่ ยังไม่เกิดแกนไส้ เขาตัดต้นกล้วยนั้นที่โคน แล้วตัดที่ปลาย แล้วปอกกาบออก เมื่อปอกกาบออกอยู่ ก็ไม่พบแม้แต่กระพี้ของมัน แล้วจะพบแก่นได้อย่างไร เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นต้นกล้วยนั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในต้นกล้วยนั้น จะพึงมีได้อย่างไร อุปมานี้ฉันใด,
อุปไมย ก็ฉันนั้น คือ สังขารชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นสังขารนั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในสังขารนั้น จะพึงมีได้อย่างไร.
หมู่แห่งวิญญาณหกเหล่านี้ คือวิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย และวิญญาณทางใจ. นิ้ เรียกว่า วิญญาณ. ขนฺธ. สํ. ๑๗ / ๗๕ / ๑๑๗
คนทั่วไปกล่าวกันว่าวิญญาณ เพราะอาศัยความหมายอะไร ? เพราะกิริยาที่รู้แจ้งได้มีอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้น ย่อมรู้แจ้งซึ่งความเปรี้ยว ซึ่งความหวาน ซึ่งความเค็ม ซึ่งความไม่เค็ม ซึ่งความขม ซึ่งความไม่ขม ซึ่งความขื่น ซึ่งความไม่ขื่น ดังนี้เป็นต้น เพราะกิริยาที่รู้แจ้งได้มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า วิญญาณ.
เปรียยบเหมือนนักแสดงกล แสดงกลอยู่ท่ามกลางสี่แยก เมื่อเพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นกลนั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในกลนั้น จะพึงมีได้อย่างไร อุปมานี้ฉันใด,
อุปไมย ก็ฉันนั้น คือ วิญญาณชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นวิญญาณนั้น เป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้ ก็แก่นสารในวิญญาณนั้น จะพึงมีได้อย่างไร.
ฉะนั้น ขันธ์ทั้ง ๕ จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งนั้น จึงไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา.
ผู้รู้ขันธ์ ๕ อย่างนี้ ชื่อว่า ผู้เข้าถึงซึ่ง วิชชาคือผู้เข้าถึงซึ่งความรู้จริง เมื่อนำไปวิปัสสนาย่อมเป็นผู้มีความรู้จริง.
แนะนำว่า เข้าไปดู ฟังคลิป วีดีโอ อานาปานสติ ใน facebook หรือใน www.rakangdham.com แล้ววิปัสสนา ด้วยอาการของขันธ์ ๕ ทั้ง ๑๑ อาการ (นี้เป็นการแยกธาตุ). http://www.facebook.com/luangtaf
จากคุณ |
:
หลวงตาเฟื่อง ปัญญาวโร (หลวงตาเฟื่อง)
|
เขียนเมื่อ |
:
15 มิ.ย. 55 10:19:11
|
|
|
|
 |