ด้วยความเคารพนะครับ
ในประเด็นที่ท่านๆได้แสดงความเห็นกันว่า คาทอลิก นำชื่อเรียกยศไปเพื่อกลืนกินศาสนาพุทธนั้น ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง
เพราะไม่ว่าชื่อยศเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร แต่มันก็เป็นแค่เพียง ภาษา และเป้าหมายก็เพื่อ เป็นการสื่อสารกันได้เข้าใจและชัดเจน และคำเรียกต่างๆของไทยนั้น ก็มีที่มาจากภาษาบาลีอีกทอดหนึ่ง
เช่นคำว่า พระ มาจากคำว่า วร ที่แปลว่า ประเสริฐ
สงฆ์ มาจากภาษาบาลีว่า สังฆะ แปลว่า หมู่ หรือ กลุ่ม
สังฆราช ก็แปลว่า หัวหน้าของหมู่ หรือ กล่ม ในแง่ของ นักบวชจึงหมายถึง หัวหน้าของเหล่านักบวช
ผมจึงคิดว่า มันคงไม่ถูกต้องนักที่จะมารวดรัดเอาว่า คำนี้ๆ สงวนไว้เฉพาะ ของพุทธศาสนา เพราะคำเหล่านั้น ก็เป็นเพียง ภาษา เพื่อใช้สื่อความหมายกัน
เช่น เมื่อพี่น้องชาวพุทธจะไปแนะนำสมเด็จพระสังฆราชให้ฝรั่งรู้จัก ท่านก็คงไม่ไปแปลเป็นภาษาคาราโอเกะว่า Som Dej Pra Sang Ga Raj หรอกใช่ไหมครับ เพราะนอกจากจะยากที่จะอธิบายแล้ว ยังยากที่จะเข้าใจของฝรั่งด้วย เพราะเป็นคำทับศัพท์ของภาษาไทย และเพื่อความสะดวกและเกิดการเข้าใจได้ง่ายๆ ท่านจึงอาจเลือกคำที่เป็นที่เข้าใจได้ของฝรั่งว่า Patriarch ซึ่งแปลว่า หัวหน้าของเหล่าบรรดานักบวช
คริสตศาสนานิกายคาทอลิก เข้ามาเผยแพร่ในดินแดนสยามนี้ ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ก่อนยุคของสมเด็จพระนารายณ์ ก็มีเหล่ามิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่คำสอนแล้ว และเพื่อความเข้าใจได้ง่ายๆ ของคนในยุคสมัยนั้น บาทหลวงจึงเลือกใช้คำที่ชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ และไม่เข้าใจภาษาต่างชาติ พอเข้าใจได้ เช่น คำว่าพระ คำว่าวัด คำว่าศีล คำว่าสวด มาใช้อธิบายในการสอนศาสนา เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่เกี่ยวโยงกับศาสนาที่ชาวบ้านเคยนับถือ จึงทำให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ จึงกลายเป็นคำที่ใช้กันมาจนปัจจุบัน
และนึกถึงสมัยที่ชาวบ้านยังไม่รู้หนังสือ ภาษาอังกฤษก็ไม่กระดิกหูดูซิครับว่า ถ้ามาเผยแพร่โดยใช้ภาษาละติน ซึ่งในสมัยก่อน บทสวด พระคัมภีร์ต่างๆ ทุกอย่างในทางศาสนาของคาทอลิกใช้ภาษาละตินเป็นภาษาหลักทั้งสิ้น แล้วนำมาอธิบายชาวบ้าน ท่านๆคิดว่าชาวบ้านจะเข้าใจได้อย่างไรล่ะครับ
เช่น จะมานำสวดว่า "เดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต" แต่เป็นภาษาละตินที่ว่า "In nomine Patris et Filii et Spiritus sancti " ดูซิครับว่า ชาวบ้านจะเข้าใจได้อย่างไร ลองแปลทับศัพท์เป็นอักษรไทยได้ว่า " อิน โนมิเน ปาตริส เอ็ท ฟิลิอี เอ็ท สะปีริตุส ซางตี" เห็นไหมล่ะครับว่า เฉพาะมาเขียนทับเป็นภาษาไทยก็ยากแล้ว ไหนจะมีบทเทศน์สอนที่ลึกซึ้งอีก ยิ่งยากไปใหญ่ หากจะมาใช้เพียงภาษาละตินอย่างเดียว
เช่นเดียวกัน ในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธในดินแดนตะวันตกหรือดินแดนของชาวต่างชาติ เหล่าพระธรรมทูตก็ย่อมเลือกใช้คำที่สะดวกและเข้าใจได้ง่ายๆของฝรั่ง เพื่อให้เขาเข้าถึงพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น
และในแง่เรื่องของการบิดเบือนคำสอนนั้น อันนั้นผมไม่มีข้อมูลในมือ และอยากให้ท่านที่กล่าวหาว่ามีการบิดเบือนคำสอน หรือจงใจจะกลืนกินศาสนาพุทธนั้น ช่วยนำเสนออ้างอิงของข้อมูลด้วย เพื่อที่จะทำการพิจารณาต่อไปว่า มีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน และจะได้รู้กันไปว่า นั่นเป็นการใส่ร้ายพระศาสนจักรคาทอลิกหรือไม่ เพราะใครๆก็พูดได้ว่า คาทอลิก หรือพุทธ สอนอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีแนวคิดอย่างนั้นอย่างนี้
อย่างไรก็ตาม การที่นำศาสนาอื่นๆหรือความเชื่อของศาสนาอื่นไปเกี่ยวโยงในการสอนศาสนานั้น มีกันอยู่ในทุกศาสนา โดยผู้ที่นำมาใช้มีทั้ง ศาสนานิกชน รวมถึงตัวนักบวชเองด้วย บางครั้งก็เป็นการพูดเพื่อเสริมศรัทธาของคนในศาสนาตัวเอง บางครั้งก็เป็นการดิสเครดิตเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของสำนักของตน เพียงแต่การพูดถึงเหล่านั้นจะให้เกียรติกันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
