Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ถึงคุณ persimon เกี่ยวกับคำถามที่คุณถามผมมา (ปัญหาเรื่องนรกสวรรค์) + ปัญหาเสริมเรื่องยึดติดในตำรา ติดต่อทีมงาน

1 ถ้าชาติก่อน ชาติหน้า มีจริง มีจริงเฉพาะสำหรับคนที่นับถือพุทธ หรือ ทุกศาสนา?
2 ถ้านรกสวรรค์มีจริง คนที่จะไปนรก สวรรค์ จำกัดเฉพาะคนที่นับถือพุทธ หรือคนทุกศาสนาต้องไปสวรรค์หรือตกนรกแบบพุทธ?
3 คนไม่มีศาสนา ไม่ต้องขึ้นสวรรค์และตกนรกใช่มั้ย?
4 คุณ(คนที่ตอบคำถาม) เคยเห็นนรกสวรรค์ของจริงด้วยตาตัวเองหรือไม่?

นี่เป็นคำถามง่ายๆที่สุดแล้ว สำหรับแฟนพันธุ์แท้สาวกนรกสวรรค์+ ชาตินี้ชาติหน้า ช่วยตอบให้หายข้องใจหน่อยเถอะ ใครตอบถูก(ใจ)จะให้ไปสวรรค์ ใครตอบผิด จะให้ไปนรก


จากคุณ : Persimon  

-----------------------------------------

แม้ผมจะเห็นว่าคำถามเหล่านี้  แทบจะไร้สาระเอามาก ๆ ทีเดียว สำหรับคนที่พอมีจะหัวคิดอยู่บ้าง  แต่ในเมื่อได้ตั้งคำถามแล้ว ผมก็เห็นว่าคุณคงเห็นอะไรซักอย่างที่พอจะเป็นประโยชน์ในคำถามเหล่านี้บ้าง หรือแม้แต่เห็นว่า คำถามเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ถ้าจะมีคำตอบที่ดี หรือจะอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็คิดว่า คงจะต้องมีอะไรดี ๆ บ้างแหละน่า ถึงได้ตั้งคำถามแบบนี้

ผมจะพยายามตอบเท่าที่ตอบได้

---------------------------------

๑. ถ้าชาติก่อน ชาติหน้า มีจริง มีจริงเฉพาะสำหรับคนที่นับถือพุทธ หรือ ทุกศาสนา?

ตอบ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องสภาวะธรรม  ไม่ว่าคุณจะนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ซิกส์ หรือไม่มีศาสนาก็ตาม  ถ้าคุณยังมีกิเลส คุณก็ยังต้องเกิดใหม่ ถ้าคุณไม่มีกิเลสแล้ว คุณก็ไม่ต้องเกิด

๒. ถ้านรกสวรรค์มีจริง คนที่จะไปนรก สวรรค์ จำกัดเฉพาะคนที่นับถือพุทธ หรือคนทุกศาสนาต้องไปสวรรค์หรือตกนรกแบบพุทธ?

ตอบ เรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องสภาวะธรรม คือ ถ้าคน ๆ นั้น มีเหตุปัจจัยที่จะไปเกิดในนรก ก็คือไปเกิดในนรก ถ้าคน ๆ นั้น มีเหตุปัจจัยที่จะเกิดในสวรรค์ ก็เกิดในสวรรค์ ถ้า คน ๆ นั้น ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะไปทั้งนรกหรือสวรรค์ เขาก็ไม่ต้องไปเกิดทั้งสองอย่าง

๓. คนไม่มีศาสนา ไม่ต้องขึ้นสวรรค์และตกนรกใช่มั้ย

ตอบ  คนไม่มีศาสนาคนนั้น เขาเป็นคนดีหรือเขาเป็นคนชั่ว  (หมายถึงความดีและความชั่วตามปกติของเขาเอง) เช่น เขาเป็นคนที่ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น  เขาทำในสิ่งที่สร้างประโยชน์ทั้งตนเอง ผู้อื่น และสังคม เมื่อเขาตายไป เขามีเหตุปัจจัยอะไร ที่จะไปสวรรค์ หรือไปเกิดในสุคติภูมิ ก็ไปเกิดตามปกติของเขา ตามเหตุปัจจัยของเขานั่นเอง

๔. คุณ(คนที่ตอบคำถาม) เคยเห็นนรกสวรรค์ของจริงด้วยตาตัวเองหรือไม่?

ตอบ ไม่เคย

----------------------

ผมตอบตามหลักการไปแล้ว ทีนี้จะขอตอบตามใจของผมเองบ้าง

โดยความเป็นจริงแล้ว การที่มัวแต่พูดกันถึงเรื่อง นรก สวรรค์ หรือไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ หรือไม่มีชาตินี้ชาติหน้าอะไรพวกนี้ ผมเห็นว่าคนที่พยายามจะมาเถียงกันว่า มี หรือ ไม่มี นั้นยังตื้นเขินอยู่มาก

จริง ๆ แล้วถ้าพูดกันตามตรงก็คือ นรกสวรรค์น่ะ "ไม่มีหรอก"

เพราะเราไม่เห็นว่ามันมี  แต่ เราก็ไม่เห็นว่า มันไม่มี

โดยความเป็นจริง สิ่งต่าง ๆที่เกิดขึ้น และเป็นไปนั้น มันไม่มีอะไรๆ เลย ไม่มีทั้งตัวคุณ ตัวผม ไม่มีเว็บบอร์ดพันทิป ไม่มีศาสนา ไม่มีโลก ไม่มีจักรวาล ไม่มีอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว

มีเพียงแต่สิ่งที่เรียกว่า "เหตุ" และ "ปัจจัย"

เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น

ถ้ามันจะมีนรกสวรรค์ ก็มีเพราะเหตุปัจจัย ถ้าจะไม่มีนรกสวรรค์ ก็ไม่มีเพราะเหตุปัจจัย

หรือก็คือ แท้จริงแล้วนรกสวรรค์นั้นไม่มี  มันมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นของเรา

เพราะความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ ทำให้มีนรก ทำให้มีสวรรค์  แต่ถ้าพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นแล้ว นรก สวรรค์ ก็ไม่มี

เรื่องเหล่านี้ ผมเองก็ไม่อยากจะพูดเท่าไหร่ เพราะผมรู้ว่า คุณไม่เข้าใจ และไม่มีทางจะเข้าใจ   คุณคงเชื่อแต่ว่า พวกชาวพุทธที่บอกว่าเชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้านี้ เป็นพวกงมงายทั้งนั้น

แท้จริงแล้วถ้าพูดในเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุด  มันไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า โลก สังสารวัฏ หรือนิพพาน  มันมีแต่เพียงสิ่งที่เรียกว่า "สิ่งนี้เป็นเหตุ"  และ "สิ่งนี้เป็นปัจจัย"

แต่เรื่องนี้ไม่พูดเพราะอะไร  เพราะมันลึกเกินไป  คนที่จะเข้าใจ ก็คือคนที่เข้าถึงสภาวะแห่งความไม่มีอะไร ๆ ที่จะบอกว่านั่นเป็นตัวตน นี่เป็นตัวตน  แม้แต่ผมก็ไม่เข้าใจ ผมได้แต่เพียงบอกว่า  โดยหลักการที่สูงสุด มันเป็นอย่างนี้

แต่เพราะผมยังไม่เข้าถึงจุดนี้ ผมจึงไม่อาจจะพูดได้บ่อย ๆ  และชาวพุทธหลาย ๆ ท่าน ที่ยังไม่ได้บรรลุอริยธรรมระดับสูงสุด ก็ไม่มีทางเข้าใจโดยถ่องแท้หรอกว่า ที่พูดนี่คืออะไร  เราอาจจะทำได้เพียง ฟัง แล้วก็รู้เอาไว้เท่านั้น

คุณ persimon อาจจะคิดว่า การที่เพียงแค่ไม่เชื่อนรกสวรรค์ หรือไม่เชื่อชาตินี้ชาติหน้านั้น น่าจะเป็นความก้าวหน้า เป็นการไม่ยึดติดตำรา  แต่นั่นเป็นได้เพียงความคิดประเภท "ยึดถือโดยความไม่ยึดถือ" เท่านั้น

เพราะคุณเองก็ไม่อาจบอกได้ หรือยืนยันได้ว่า โลกนี้ โลกหน้า ชาตินี้ ชาติหน้า นรก สวรรค์  หรือแม้แต่ภพภูมิอื่น ๆ นั้นมี หรือ ไม่มี คุณได้แต่บอกว่ามันไม่มี  โดยคุณไม่อาจจะมีเหตุผลอะไรได้เลยที่จะยืนยันได้

ผมไม่จำเป็นต้องพูดหรอกครับว่านรกสวรรค์มี หรือไม่มี  เพราะมันไร้สาระเกินไปที่จะมามัวเถียงกันเรื่องแบบนี้ เพราะนรกสวรรค์จะมีหรือไม่มี มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง  เพียงแต่ผมไม่ค่อยจะชอบใจเท่าไหร่ ที่คนที่พยายามบอกอยู่ว่า "ไม่มี" นั้น  เขาก็ไม่มีทางยืนยันได้  เพียงแต่บอกว่าเขาเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือเพียงแต่คิดเอาเองเท่านั้น

ผมพยายามเดาความคิดของคุณ persimon ว่า คุณคงคิดว่าถ้าคำถามที่คุณตั้งมาอย่างนั้น ๆ ทำให้ชาวพุทธบอกว่า

"นรกสวรรค์มีนะจ๊ะ"

"ถ้าไม่นับถือพระพุทธศาสนา ก็จะไม่ได้ไปสวรรค์นะจ๊ะ"

หรือความคิดอย่างอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง  ที่จะทำให้คุณบอกว่า  "นี่ไง เห็นไหม พวกนี้เชื่อนรกสวรรค์ โดยที่ตัวเองไม่เห็น และเป็นพวกงมงาย"

ถ้าคุณ persimon เชื่อและคิดอย่างนี้ ถ้าผมอยู่ใกล้ ๆ ก็คงจะเอามือลูบหัว และบอกว่า "เด็กหนอเด็ก"   แต่ถ้าคุณไม่ได้คิดอย่างนี้ ก็ต้องขออภัย


-----------------------

มาที่ปัญหาเสริม เรื่องยึดติดในตำรา

ที่จริง ผมว่าได้ตอบไปอย่างชัดเจนแล้ว ว่าเรื่องยึดติดหรือไม่ยึดติดในตำราเนี่ย มันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญอยู่ที่ว่า "เรากำลังพูดกันในเรื่องอะไร"

คุณ persimon พูดว่า

"อ่านแล้วไม่รู้จักตีความ(คนไทยโดยทั่วไปเป็นเช่นนี้) ตำราว่ายังไงก็ว่าไปตามนั้น "

ผมคิดว่า เราคงต้องมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันให้ชัดอีกทีหนึ่ง

ผมยังไม่แน่ใจว่า  การอ่านแล้วไม่รู้จักตีความ ตำราว่ายังไงก็ว่าไปตามนั้น  "ที่ว่านั่นน่ะ คืออะไร?"

เช่น ในตำรา เอ้า เปลี่ยนใหม่ พูดไปที่พระไตรปิฎกเลยก็ได้ว่า  ถ้าพระไตรปิฎกมีระบุว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่นั่น ๆ หรือระบุว่า พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนข้อความนั้น ๆ เอาไว้

การที่เราอ่านมาถึงตรงนี้  เราจะทำอย่างไรกับข้อความนี้ เช่น ตีความ  

จะตีความว่าอะไรล่ะ?  ตีว่า "เอ้ย ไม่ใช่หรอก ที่ว่านั่นน่ะ  เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าอย่างนี้"  หรือ  "พระพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จไปที่นี้ ๆ "

ถามว่า ที่เขาพูดนั่นน่ะ เขาใช้การตีความ หรือใช้การพูดเอาเอง?

หรือถ้าเราไม่พูดถึงพระไตรปิฎก  เราจะพูดถึงอย่างอื่น เช่นเราไปอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสักเล่ม ประวัติศาสตร์ไทยเล่มนั้น บอกว่า

"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระปิยมหาราช ทรงให้มีการเลิกทาส"

เราก็มานั่งตีความกันว่า "เอ๊ะ จริงหรือ ท่านเลิกทาสจริงหรือเปล่า ไม่จริงมั้ง" แล้วก็ตีความกันไปในทางอื่น ว่าท่านน่าจะไม่ได้ทรงให้เลิกทาส หรืออะไรก็ว่าไป

อย่างนี้เรียกว่าการตีความไหม? หรือจะเรียกได้ว่าเป็นการ "ไม่เชื่อตามที่เขียนไว้อย่างนั้น"

ปัญหาสำคัญของผู้ที่บอกว่าไม่เชื่อพระไตรปิฎก แล้วก็มักอ้างเรื่องการตีความนั้น  ผมพยายามจะคิดให้เป็นธรรมที่สุด ก็คิดไม่ได้ว่า ตกลงเขากำลังตีความ กำลังเป็นคนมีเหตุผล จริง ๆ หรือเปล่า

ขอให้พิจารณาว่า ตำรา หนังสือ หรือคัมภีร์อะไรต่าง ๆ นั้น  มีหน้าที่สำคัญที่สุด ก็คือ "การเป็นผู้บอกเล่าถึงเรื่องที่มีอยู่เป็นอยู่ โดยสภาวะนั้น ๆ"

ผู้ที่อ่านหนังสือ ตำรา หรือคัมภีร์ ก็มีสถานภาพหนึ่งคือเป็นผู้รับสาร

ทีนี้หน้าที่ของผู้รับสารที่สำคัญ ก็มีอยู่เพียงสองอย่าง

๑. ไม่เชื่อตามนั้น

๒. เชื่อตามนั้น

ถามว่า จะไม่เชื่อเลยไม่ได้หรืออย่างไร?  ทำไมต้องมีตัวเลือกว่าให้เชื่อตามนั้น โผล่ขึ้นมาด้วยล่ะ? ทำไมไม่มีเหตุผลให้คิดวิเคราะห์กันมากกว่านี้

แต่ก็ขอบอกว่า นี่แหละเป็นตัวเลือกที่เป็นธรรมที่สุดแล้ว  เพราะอะไร?  ก็เพราะตำรา หนังสือ หรือคัมภีร์ ระบุเอาไว้อย่างนั้นน่ะสิ

เมื่อตำรา หรือหนังสือนั้น ๆ บอกไว้อย่างนั้น ผู้ที่ไม่เชื่อตามนั้น ก็คือไม่เชื่อในความเป็นจริงตามที่ตำราบอกเอาไว้  แต่เขาไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ตำรานั้น ควร หรือไม่ควรเขียนว่าอย่างนั้น ๆ เพราะมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

ถ้าหากเราบอกว่า "เอาล่ะนะ เราอ่านพระไตรปิฎกแล้ว เห็นข้อความพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์นี่นะ  เราไม่เชื่อตามนั้นนะ"

ถามว่า เรากำลังไม่เชื่อตำรา หรือเรากำลังไม่เชื่อในสภาวะที่ตำราได้บอกเอาไว้อย่างนั้น

ก็ต้องพูดกันตามตรงว่า เราไม่เชื่อว่ามีนรกสวรรค์อย่างนั้นๆ ตามที่ตำราบอกเอาไว้อย่างนั้น

แต่สำหรับคนที่เชื่อ    เขาก็เชื่อว่า มีอย่างนั้น ๆ จริง ตามที่ตำราได้บอกเอาไว้  เขาก็เชื่อว่าในสิ่งนั้น ๆ น่ะ มีอยู่จริง  ตามที่ตำราบอกเอาไว้อย่างนั้น

สรุปว่า เราไม่ได้เชื่อ หรือไม่ได้ไม่เชื่อ ตามตำรา แต่เราเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ ในสิ่งนั้น ๆ ที่ตำราได้กล่าวถึง

แล้วตำราเป็นอย่างไร ตำราก็คือผู้ที่บอกสภาวะของสิ่งนั้น ๆ  เรื่องนั้น ๆ

ทีนี้เวลาที่มีผู้มาถามชาวพุทธ (ยกตัวอย่างชาวพุทธ น่าจะทำให้คุณเห็นได้ง่ายหน่อย) ว่า นี่นะ เรื่องนี้ ๆ น่ะ ในพระไตรปิฎกว่าเอาไว้อย่างไร

ชาวพุทธก็ทำได้เพียงแต่ยกข้อความในพระไตรปิฎกมาบอกว่า "นี่นะ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า อย่างนี้ ๆ"

การทำอย่างนี้นี่แหละ เป็นการซื่อตรงต่อคำถามหรือข้อซักถามของเขาอย่างที่สุดแล้ว  เพราะเขาถามถึงว่าพระไตรปิฎกว่าเอาไว้อย่างไร  ไม่ได้ถามว่า คน ๆ นั้น คิดเห็นอย่างไร

ต่อเมื่อคน ๆ นั้น คิดเห็นอย่างไร ก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง

ย้อนกลัมาถึงเรื่องที่คุณ persimon บอกว่า เหตุผลที่ไม่อยากอ่านพระไตรปิฎก เพราะเกรงว่าอ่านแล้วจะเหมือนผม  ซึ่งเป็นคนยึดติดกับตำรา นั้น ผมเกรงว่า น่าจะเข้าใจผิด

ผมพยายามจะพูดถึงตัวเองอย่างเป็นธรรมที่สุด ก็บอกว่า  ผมเป็นผู้ที่ "พูดตามที่เห็น  พูดตามที่รู้"

เมื่อผมเห็นคำถามที่มีผู้ถามมาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ และผมไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ อยู่ก่อน ผมเคยเห็น หรือเคยจำได้ว่า ในพระไตรปิฎกว่าเอาไว้อย่างนั้น  ผมก็จะเอาพระไตรปิฎกมาแสดง

การที่ยกมาแสดงนั้น  ก็เพื่อเป็นการให้ "พระไตรปิฎกบอกเล่าเรื่องนั้น ๆ ด้วยพระไตรปิฎกเอง โดยผมไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย"

การทำอย่างนี้ น่าจะถือว่าเป็นการซื่อตรงต่อหลักการมากที่สุด คือผมจะได้เป็นอิสระจากการตอบคำถามนั้น ๆ  ให้พระไตรปิฎกบอกเล่าเอง  ส่วนคน ๆ นั้นจะเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ  ก็เป็นสิทธิของเขา

สมมติว่า ถ้าคุณ persimon มาถามผมว่า "นรกสวรรค์เป็นอย่างไร"

ผมเองก็ไม่เคยเห็นนรกสวรรค์  แต่ผมจำได้ว่าในพระไตรปิฎกพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์ว่าอย่างนั้น ๆ ก็เอามาแสดงให้ดู  การทำอย่างนั้น ก็เพื่อที่จะให้คุณได้รู้ข้อมูลที่มีอยู่จริง ๆ ในคัมภีร์ที่รู้กันว่า เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา โดยที่ผมไม่ต้องบอกว่า "นรกสวรรค์เป็นอย่างนั้น ๆ นะ"   แล้วคุณก็จะได้ข้อมูลไปพิจารณาเอาเอง ส่วนจะเชื่อหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คุณ persimon จะบอกว่าตนเองไม่เชื่อว่าพระไตรปิฎกบริสุุทธิ์เต็ม ๑๐๐% หรือจะพูดด้วยข้อความอื่นใดที่สื่อให้เข้าใจได้ว่าอย่างนั้น  ผมเองก็เห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องปกติ รวมถึงเป็นสิทธิของคุณ persimon จะคิดอย่างนั้นได้ทีเดียว และไม่มีใครที่จะบังคับให้คุณ persimon ต้องเปลี่ยนความคิดอย่างนั้น ๆ ให้ได้

แต่ไม่ว่าคุณจะคิดจะเชื่ออย่างไร พระไตรปิฎกก็เป็นพระไตรปิฎกอย่างนั้น ๆ นั่นเอง ไม่มีใครมีสิทธิจะไปปรับแก้หรือไปทำอะไร  หรือจะบอกว่าตรงนั้นต้องตัดออก ตรงโน้นต้องละทิ้ง

ถามว่าเพราะอะไร  หรือ ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้น  ก็เพราะเราต้องการรักษาให้ข้อมูลเดิมนั้นคงอยู่มากที่สุด เท่าที่มาถึงเรา

รักษาไปทำไมล่ะ?  ในเมื่อเป็นของจริง หรือไม่จริง ก็ไม่รู้

ก็รักษาเพื่ออย่างน้อย คนที่สนใจ จะได้มารู้ข้อมูลนั้น และพิจารณาได้เอง  โดยไม่ต้องมีใครไปบังคับ ให้เขาเชื่อ หรือไม่เชื่อ

อย่างเช่นที่คุณ persimon จะบอกได้ว่า พระไตรปิฎกไม่น่าเชื่อถือ ไม่บริสุทธิเต็ม ๑๐๐ % คุณ persimon จะบอกได้อย่างไรว่ามันเป็นอย่างนั้น หรือไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าคุณ persimon ไม่รู้ข้อมูลทั้งหมด  แล้วมาเห็นในสิ่งที่คุณจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ

การที่จะบอกว่า เอาล่ะนะ เราจะหยิบฉวยเอาสิ่งที่ดี ที่มีค่าที่สุดออกมา  ก็เป็นความคิดที่ดี ดีมากทีเดียว  นั่นแหละคือจุดประสงค์ของท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมาถึงรุ่นของเรา  ให้เราสามารถเลือกได้ว่า คุณจะเชื่อ หรือไม่เชื่ออะไร  แล้วปล่อยให้พระไตรปิฎก มีสิ่งที่ทุกคนจะสามารถตัดสินใจได้เองว่าดี หรือไม่ดีที่สุด เอาไว้ให้คนทุกคนมีสิทธิเลือกได้เอง  เหมือนอย่างที่คุณ persimon บอกว่าเลือกหยิบฉวยสิ่งที่ดีที่สุดนั่นแหละ มาใช้เป็นประโยชน์ได้แล้ว  (ถ้าเป็นไปได้ น่าจะบอกซักหน่อยว่า สิ่งที่คุณเห็นว่าดีและมีค่าที่สุดนั้น คือหลักธรรมข้อไหน ก็จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว)

แต่ถ้าหากมีคนในอดีตสักคนหนึ่ง บอกว่า เฮ้ย ไม่ได้  เราต้องเอาสิ่งที่ดี มีค่าที่สุดไว้ สิ่งไม่ดีเอาออกไปให้หมด  ก็คงต้องถามว่า "สิ่งนั้นคืออะไรกันแน่?"

ถ้าหากสมมติว่ามีพระเถระ หรือบูรพาจารย์องค์ใดองค์หนึ่ง ท่านบอกว่า หลักธรรมข้อเนี้ย ดีที่สุดแล้วในพระไตรปิฎก  แล้วก็ตัดเอาทุกอย่างออกไป เหลือแค่ตรงนั้น ๆ แล้วก็ส่งมาให้เรา

สิ่งที่คุณ persimon จะเห็นว่าดีที่สุด และมีค่าที่สุด อาจจะไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก หรือไม่มีแก่นธรรมที่เป็นแก่นแท้ เหลืออยู่  ก็เท่ากับว่า คนที่จะได้ประโยชน์จากแก่นแท้นั้น พลาดโอกาสไป

แต่ครูบาอาจารย์ทุกรุ่น (ขอให้ตัดประเด็นการไม่เชื่อว่ารักษามาอย่างนี้จริง ๆ ออกไปก่อน) ท่านรักษาข้อธรรมต่าง ๆ เท่าที่มีมาถึงท่าน เอาไว้ แล้วส่งต่อมาถึงเรา  ให้เราได้เลือกที่จะอ่านหรือศึกษา พิจารณาได้เอง ทุกคนก็จะเลือกประโยชน์ได้ตามสมควร

- พระราชามหากษัตริย์หรือนักการเมือง  ก็ยังเลือกที่จะนำเอาทศพิธราชธรรม, จักรวรรดิวัตร ไปปฏิบัติได้

- พระสงฆ์ก็ยังมีวิธีการบวช มีข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ให้ปฏิบัติรักษาให้ดำรงเพศสมณะอยู่ได้ และรู้ว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้

- ชาวบ้านก็ยังมีหลักฆราวาสธรรม, สังคหวัตถุธรรม ฯลฯ ให้นำไปปฏิบัติได้

- ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ยังมีการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ ยังมีการปฏิบัติในอานาปานสติ ยังมีการพิจารณาสภาวะธรรม ยังรู้ว่ากิเลสมีอะไรบ้าง  ยังรู้ว่า เราจะดับ จะละอะไร

แม้แต่เรื่องนรกสวรรค์ ที่มีทั้งที่ตรัสถึงความเป็นโลกนี้โลกหน้าจริง ๆ และนรกสวรรค์ ที่ตรัสถึงความเป็นอายตนะสัมผัส และความประพฤติดี ชั่ว ว่าเมื่อทำชั่วก็เป็นนรก เมื่อทำดีก็เป็นสวรรค์

ให้ทุก ๆ คน มีสิทธิที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่ากันหมด

นี่แหละ เป็นสุดยอดแห่งอิสระเสรีภาพของพระไตรปิฎก ที่ครูบาอาจารย์ท่านรักษากันมา

ส่วนใครจะเชื่อ หรือไม่เชื่ออะไร ก็เป็นเรื่องของเขา


แท้จริง เท่าที่ผมพอจะจำได้  ผมนึกไม่ออกว่า จะเคยพูดให้คุณ persimon ฟังเลยว่า คุณ persimon จะต้องเชื่อตามในพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไปตั้งแต่เมื่อไหร่  ทุกครั้งที่ผมอ้างพระไตรปิฎก หรืออ้างตำรา คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ผมก็จะบอกว่า " ในพระไตรปิฎก ว่าไว้อย่างนี้ "

ผมจำไม่ได้ว่า เคยพูดว่า "ให้เชื่อซะนะว่าเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างนี้ ๆ เพราะในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนี้"  และผมจะระวังท่าทีตรงนี้มาก  คือจะพยายามให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้เท่า ๆ กัน ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็เป็นสิทธิของเขาเอง

ถ้าจะมีข้อความที่ทำให้เข้าใจไปในทำนองนั้นบ้าง ก็พูดในระดับที่ว่า  "ถ้าจะกล่าวถึงการปฏิบัติในข้อนั้น ๆ ล่ะก็ พระไตรปิฎกแสดงไว้อย่างนี้"  ส่วนใครจะทำ หรือไม่ทำ จะเอาหรือไม่เอาอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

การแสดงท่าทีอย่างนี้ ผมเห็นว่า น่าจะเป็นการซื่อตรงที่สุดต่อผู้ซักถาม หรือผู้สงสัย หรือผู้ที่เป็นคู่สนทนาในเรื่องนั้น ๆ คือ ให้เขาได้รู้ข้อมูลตรงนั้นเอง โดยไม่ต้องฟังจากปากผมพูด  และเขาจะได้ตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ว่าจะทำอย่างไรกันแน่

คุณ persimon ก็เช่นเดียวกัน คือ คุณจะเชื่อ หรือไม่เชื่อพระไตรปิฎก หรือจะบอกว่าพระไตรปิฎกบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ เต็ม ๑๐๐% นั้น  ผมเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติเอามาก ๆ ที่คุณจะคิดอย่างนั้น เพราะทุกคนคิดกันไปได้ต่าง ๆ นานาอยู่แล้ว มีสิทธิเท่าเทียมกัน และมีกำลังปัญญาเท่าเทียมกันที่จะคิดในทุก ๆ เรื่อง และเลือกจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ ในทุก ๆ เรื่องได้เท่า ๆ กัน

ขอเพียงให้ซื่อตรงในข้อมูล ให้ข้อมูลมีสถานะเป็นข้อมูลอยู่อย่างนั้นเอง เพื่อที่ทุก ๆ คน สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกัน และเลือกจะเชื่อจะไม่เชื่อได้เท่า ๆ กัน

นั่นแหละ ที่ผมเห็นว่า คือความใจกว้างที่สุดของพระไตรปิฎก

แก้ไขเมื่อ 25 มิ.ย. 55 01:15:41

แก้ไขเมื่อ 25 มิ.ย. 55 00:56:07

จากคุณ : chohokun
เขียนเมื่อ : 25 มิ.ย. 55 00:55:04




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com